ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Strophioblachia fimbricalyx Boerl.
ไม้พุ่ม หรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูงถึง 2 ม. ไม่มีหูใบ
ใบ : ก้านใบ ยาว 0.5-7 มม. ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไวโอลิน รูปหัวใจ หรือรูปไข่กลับ กว้าง 1.3-9.5 ซม. ยาว 2.5-19 ซม. โคนกลม หรือเว้าเป็นแอ่งตื้น ปลายเรียวแหลม หรือแหลมเป็นหาง ปลายที่ยอดกลม เนื้อบางคล้ายกระดาษ ไม่มีต่อม ขอบเรียบ มีเส้นใบออกจากโคน 2 เส้น เส้นใบด้านข้างมีข้างละ 6 หรือ 7 เส้น เส้นใบจะเชื่อมติดกันเป็นวงปิดใกล้ขอบใบ เส้นใบและเส้นใบย่อยที่เป็นร่างแหเห็นไม่ชัด
ดอก : ออกเป็นช่อกระจะ ที่ปลายยอดเป็นช่อดอกเพศผู้ ดอกเพศผู้มีมากกว่า 10 ดอก มี 1-5 ดอกต่อหนึ่งข้อ หรือเป็นช่อดอกเพศเมีย ดอกเพศเมียมีมากถึง 5 ดอก หรือเป็นช่อที่มีทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมีย โดยดอกเพศเมียอยู่ที่โคน ดอกเพศผู้อยู่ที่ปลาย ช่อดอกยาวถึง 7 ซม. แกนกลางช่อดอก สีเขียว ดอกสมมาตรตามแนวรัศมี กลีบดอกสั้นกว่ากลีบเลี้ยง กลับเลี้ยงมี 5 กลีบแยกจากกัน รูปไข่ ดอกเพศผู้ เส้นผ่านศูนย์กลาง 4-4.5 มม. ก้านดอกย่อยยาว 5-20 มม. กลีบเลี้ยงกว้าง 2.3-5 มม. ยาว 3-4 มม. สีขาวอมครีม กลีบดอกไม่มีหรือมี 5 กลีบ จานฐานดอกมี 5 พู เกสรเพศผู้มี 15-50 อัน สีขาว หรือสีเหลืองใส อับเรณูกว้าง 0.3-0.3 มม. ไม่มีเกสรเพศเมียเป็นหมัน ดอกเพศเมีย เส้นผ่านศูนย์กลาง 5-15 มม. ก้านดอกย่อยยาวกว่า 13 มม. กลีบเลี้ยงกว้าง 2.8-4 มม. ขอบเป็นชายครุย มีต่อมยาว 1 แถว ต่อมสีเขียวหรือสีเหลืองซีด ชายครุยยาวถึง 1 มม. มีออวุล 1 หน่วยต่อหนึ่งช่อง
ผล : จักเป็นพู กว้าง 8-10 มม. ยาว 11-13 มม. สีเขียว มีกลีบเลี้ยงติดอยู่ กว้าง 7.5-10มม. ยาว 1.2-2 มม. มีชายครุยยาวถึง 4.2 มม.
เมล็ด : มีลายหินอ่อน กว้าง 5.5-6 มม. ยาว 6-7 มม. หนา 4.5-5มม. มีจุกขั้ว
ประโยชน์ : เมล็ดแห้งใช้หมักเหล้าในฟิลิปปินส์
นิเวศวิทยา : พบในป่ารุ่น ตามชายป่า ในป่าดิบแล้ง ป่าผลัดใบ ป่าไผ่ ระดับความสูงถึง 250 ม. พบที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดมหาสารคาม ขอนแก่น ภาคตะวันออก จังหวัดนครราชสีมา ภาคตะวันตกเฉียงใต้ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ภาคกลาง จังหวัดสระบุรี ภาคตะวันออกเฉียงใต้ จังหวัดชลบุรี เขตการกระจายพันธ์ จีนตอนใต้ กัมพูชา เวียดนาม หมูเกาะฟิลิปปินส์ และสุลาเวสี