ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Ficus concinna Miq.
ไม้ต้นผลัดใบ ขนาดกลาง สูง 10-15 เมตร เปลือกต้นสีเทาเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ด ทุกส่วนที่มีชีวิตมีน้ำยางสีขาวคล้ายน้ำนม
ใบ : เดี่ยว เรียงสลับแผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยง ปลายใบมน แหลมหรือเป็นติ่งหนามปลายกิ่งมีหูใบเป็นติ่งแหลม
ดอก : ขนาดเล็ก แยกเพศ ติดอยู่ภายในฐานรองดอกที่มีรูปร่างกลมคล้ายผล
ผล : เป็นหน่วยผล เกิดตามซอกใบ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5-1 ซม. ก้านหน่วยผลยาว 0.8-1 ซม. ผิวหน่วยผลมีสะเก็ดสีน้ำตาลกระจายทั่วไปเมื่อสุกสีเหลืองอมส้ม สีเทาอมม่วง หรือสีม่วงเข้ม ออกดอกและเป็นผลช่วงเดือนตุลาคม-มกราคม
คุณค่าทางภูมิสถาปัตยกรรม : เรือนยอดกลมแผ่กว้างแตกกิ่งต่ำปลูกเป็นไม้ให้ร่มริมถนน ริมน้ำ มีปัญหาเรื่องระบบรากชอนไชพื้น และผลร่วง
ชื่อวงศ์ : Moraceae
ประโยชน์ : ปลูกเป็นไม้ประดับ และนำมาทำบอนไซ
สรรพคุณทางสมุนไพร : เปลือกต้น ยาชงใช้ลดน้ำตาลในเลือด ใช้แก้ท้องเดินแก้บิด , ยาง แก้ท้องเดิน ใช้แก้บิด, ผล ใช้รับประทานได้, เมล็ด เป็นยาเย็นและยาบำรุง
ต้นไม้สัญลักษณ์ : เป็นต้นไม้มงคลประเภทหนึ่งในคติของพุทธศาสนาและศาสนาฮินดู ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ 27 พระนามว่า “พระกัสสปพุทธเจ้า” ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 7 วัน จึงได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้นิโครธ จึงมักปลูกไว้ตามศาสนสถานและสวนสาธารณะต่าง ๆ เพื่อเป็นร่มเงาและเป็นที่พักพิงแก่สัตว์ต่าง ๆ
การขยายพันธุ์ : ปักชำ ตอนกิ่ง และเพาะเมล็ด
นิเวศวิทยา : มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดีย, ศรีลังกา และปากีสถาน และแพร่กระจายทั่วไปในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักขึ้นตามริมน้ำในป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น ขึ้นได้ดีในดินทั่วไป ปลูกได้ในที่แสงแดดจัด