ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : บัวสาย-Nymphaea lotus L. บัวเผื่อน-Nymphaea nouchali Burm.f. บัวหลวง-Nelumbo nucifera Gaertn.
ไม้น้ำ ประเภทพืชล้มลุก มีอายุหลายปี ลำต้นและหัวอยู่ใต้ดินเรียกว่า เหง้า แต่จะชูก้าน ใบ และดอกขึ้นมาบนผิวน้ำ บัวหลวงสีชมพูพันธุ์ดอกเล็ก เรียกว่า บัวปักกิ่ง บัวหลวงที่มีดอกซ้อนสีขาวเรียกว่า บัวสัตตบุษย์ บัวหลวงที่มีดอกซ้อนสีชมพู เรียกว่า บัวสัตตบงกช ส่วนบัวสายนั้นมีสีชมพูสดออกแดง สีขาว สีชมพูอ่อน มักบานพร้อมกันทั้งสระในเวลากลางคืน
ใบ : มีลักษณะกลม กว้างใหญ่ สีเขียว แผ่นใบเรียบ แต่ละพันธุ์มีลักษณะแตกต่างกันไป
ดอก : เป็นดอกเดี่ยว ชูสง่าเหนือน้ำ ดอกตูมมีลักษณะคล้ายกรวย อวบน้ำ ตรงกลางดอกมีรังไข่และเกสรตัวผู้สีเหลืองเป็นจำนวนมาก กลีบดอกซ้อนกันหลายชั้น เวลาบานจะบานสวยงามสง่าและส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ
วิธีการปลูกและดูแลรักษา : นิยมปลูกบัวในสระหรือในกระถางที่กักเก็บน้ำได้ดี เพราะเป็นพืชที่เจริญเติบโตในน้ำ ควรปลูกด้วยดินเหนียว ชอบแสงแดดตลอดวัน หากดูแลรักษาความสะอาดของดินและน้ำอยู่เสมอ บัวจะผลิตดอกเบ่งบานให้ชมอยู่นานหลายปีตามสายพันธุ์ที่มีหลากหลาย เช่น บัวเผื่อน-บัวผัน ออกดอกตลอดปี มีวีชมพู เหลือง ส้ม ขาว น้ำเงิน ม่วง เป็นต้น แต่ละดอกบานนาน 2-3 วัน
ชื่อวงศ์ : บัวสาย-NYMPHAEACEAE บัวเผื่อน-NYMPHAEACEAE บัวหลวง-NELUMBONACEAE
ประโยชน์ : เมล็ดบัวหลวง เมื่อแกะดีบัวที่มีรสขมอยู่ตรงกลางออก นำไปทำขนมหวาน เช่น ลูกบัวต้มน้ำตาล ใส่ในขนมหม้อแกง หรือบดทำเป็นไส้ขนมไหว้พระจันทร์ รสชาติอร่อย สายบัวหรือก้านบัวอ่อนๆนำมาผัดหรือแกง เช่น แกงสายบัวปลาทู
สรรพคุณทางสมุนไพร : บัวหลวง ใช้ดอกและเกสรตัวผู้ ดีบัว(ไส้ที่อยู่ตรงกลางเมล็ดบัว) ปรุงเป็นยาไทยระงับประสาท ขับเสมหะ บำรุงหัวใจ ขยายหลอดเลือดไปเลี้ยงหัวใจ บางตำราก็ใช้ดีบัวตากแห้งให้หอม ชงกินเช่นเดียวกับน้ำชา รากบัวหลวง หรือภาษาจีนเรียกว่า หน่อยเก๋า นำมาปลอกเปลือกออก หั่นเฉียงบางๆ ต้มกับกระดูกหมู รับประทานเป็นแกงจืด ให้รสหวานอร่อย บำรุงกำลัง หรือทำน้ำรากบัว ต้มดื่มแก้ร้อนใน กระหายน้ำ บัวเผื่อน-บัวผัน และ บัวสาย ดอกใช้แก้ไข้ตัวร้อน บำรุงกำลัง เมล็ดเล็กๆคล้ายเมล็ดฝิ่น คั่วรับประทาน รสหอมมัน บำรุงกำลังและร่างกาย
ต้นไม้สัญลักษณ์ : บัวเป็นดอกไม้ที่คนไทยคุ้นเคยมาตั้งแต่โบราณกาล เป็นมงคลนาม และเป็นดอกไม้ประจำพุทธศาสนา คือ วันวิสาขบูชา มีประวัติยาวนานนับตั้งแต่สมัยพุทธกาล คำสอนของพระพุทธเจ้าได้เปรียบมนุษย์กับธรรมชาติการเกิดของบัวว่า “แม้จะเกิดในโคลนตม แต่เมื่อดอกโผล่พ้นน้ำขึ้นมารับแสงสว่างแล้ว ก็สามารถผลิดกลีบดอกบานสะอาดสวย และส่งกลิ่นหอมได้อย่างบริสุทธิ์ผุดผ่อง เสมือนมนุษย์ เมื่อเกิดมาแล้ว หากเข้าถึงธรรมก็สามารถหลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ทั้งปวงได้” ถือเป็นปรัชญาการดำเนินชีวิตที่ลึกซึ้ง คนไทยแต่โบราณจึงมักใช้ดอกบัวในการบูชาพระและประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอยู่เป็นประจำ แม้แต่การแสดงความเคารพด้วยการประนมมือของไทย เราก็ยังเปรียบว่าคล้ายดอกบัวตูม ในวรรณคดี ดอกบัวถือเป็นไม้มงคล จึงนิยมนำไปตั้งชื่อหญิงสาวมากมาย เช่น นางบัวคลี่ ในเสภา ขุนช้าง-ขุนแผน นางปทุมเกสร ในเรื่อง พระอภัยมณี นางปัทมาวดี ในเรื่อง นิทานเวตาล และกมลา หมายถึงพระลักษมี คือผู้อยู่ในดอกบัว การจัดทัพตามกระบวนทัพที่มีอยู่ในตำราพิชัยสงครามก็มีการกล่าวถึงบัว เช่น การจัดผังทัพเป็นรูปทรงดอกบัวตูม ใช้ชื่อว่า “ปทุมพยุหะ” ซึ่งการจัดทัพแบบปทุมพยุหะนี้เหมาะกับภูมิประเทศที่เป็นที่ราบกลางทุ่ง ใช้ได้ทั้งการตั้งค่อยและยาตราทัพ นอกจากนี้สมัยก่อนบ้านสามโคกซึ่งมีมาแต่แรกสถาปนากรุงศรีอยุธยานั้นได้ขยายเป็นชุมชนใหญ่ มีชาวรามัญอพยพมาอยู่เป็นจำนวนมาก
ในสมัยรัชกาลที่2 พระองค์มีน้ำพระทัยเมตตาต่อครอบครัวชาวรามัญ เสด็จฯทางชลมารคมาเยี่ยมเยียนดูแลทุกข์สุขอยู่เสมอ ชาวรามัญจึงพากันถวายดอกบัวสายเพื่อแสดงความจงรักภักดี พระองค์จึงพระราชทานนามเมืองใหม่แทนบ้านสามโคกเพื่อเป็นสิริมงคลว่า “เมืองปทุมธานี” เพราะแต่เดิมเมืองสามโคกนี้อุดมไปด้วยดอกบัวมาแต่โบราณ จึงมีประเพณีสือต่อกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาว่า พระมหาอุปราชจะลงเรือมาเก็บดอกบัวนำไปถวายพระเจ้าแผ่นดินในการพระราชพิธีเทศน์มหาชาติเป็นประจำทุกปี ในประเทศจีนดอกบัวหลวงถือเป็นดอกไม้ที่สูงกว่าดอกไม้อื่น เพราะจีนถือดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ของความสงบสุข ปัญญา และความบริสุทธิ์จากบาป
ดอกบัวจึงเป็นไม้มงคลที่ได้รับความนิยมและความเชื่อสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันว่าหากบ้านใดปลูกบัวไว้ระจำบ้านทางทิศตะวันตกจะทำให้คนในบ้านเกิดความบริสุทธิ์ เบิกบาน มีสติ และหลุดพ้นจากความทุกข์ นอกจากนี้สายใยของดอกบัวยังเปรียบเสมือนความห่วงใยและความผูกพันของคนในครอบครัวอีกด้วย บัวที่นิยมปลูกเป็นไม้มงคลในปัจจุบัน ได้แก่ บัวหลวง, บัวฝรั่ง, บัวผัน/บัวเผื่อน, บัวสาย/บัวจงกลนี, บัวกระด้ง
การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยการใช้เหง้า แยกกอจากหัวหรือเหง้า หรือเพาะเมล็ด (บัวทุกชนิด)
นิเวศวิทยา : กำเนิดในประเทศไทยและอินเดีย