พริก (Chilli peppers, chili, chile)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Capsicum frutescens L.

เป็นไม้พุ่ม อายุ 2 – 3 ปี ปัจจุบันมีหลายพันธุ์ที่เป็นผักเศรษฐกิจของไทย ได้แก่ พริกขี้หนู พริกขี้หนูสวน พริกกระเหรี่ยง (Capsicum frutescens L. var. frutescens) พริกหนุ่ม พริกหยวก (C. annuum L. var. annuum) พริกชี้ฟ้า พริกเหลือง (C. annuum L. var acuminatum Fingert.) รวมทั้งพริกหวาน พริกตุ้ม และพริกประดับ ที่มีการปรับปรุงพันธุ์จนแตกต่างจากพริกทั่วไป

ดอก : สีขาวอมเขียวอ่อน เกสรสีเขียว

ผล : เรียวยาว มีลักษณะแตกต่างกันไป เมื่อสุกแก่มีสีแดง

พิษ : ผู้มีแผลในกระเพาะอาหารเรื้อรัง พริกจะกระตุ้นการหลั่งน้ำย่อย ทำให้ปวดท้อง ท้องอืดเฟื้อ และส่งผลให้บาดแผลภายในลุกลามมากขึ้น วิธีลดอาการเผ็ดง่าย ๆ คือ ให้ดื่มน้ำอุ่นและอมไว้สักครู่ หรือดื่มน้ำเกลืออุ่น ๆ บางคนก็ดื่มนมตามหลังจากกินพริก ซึ่งโปรตีนเคซีนในนมจะช่วยลดความเผ็ดร้อนได้

ชื่อวงศ์ : Solanaceae

ประโยชน์ : นอกจากใช้เป็นเครื่องปรุง ยอดอ่อนนำมาต้มจิ้มน้ำพริก ใส่ในไข่เจียว ชุบแป้งทอด ทำแกงจืด แกงเลียง หรือผัดน้ำมันได้ ให้กลิ่นหอมชวนกิน ซึ่งแต่ละชนิดให้วิตามินและมีความเผ็ดร้อนแตกต่างกัน โดยพริกชี้ฟ้าและพริกหวานจะเผ็ดน้อยที่สุด ส่วนพริกขี้หนูจะเผ็ดมากที่สุด ส่วนพริกประดับก็เผ็ดร้อน นำมาประกอบอาหารได้เช่นกัน

สรรพคุณทางสมุนไพร : พริกมีสารแคปไซซิน (capsaicin) ที่กระตุ้นให้หลั่งน้ำลายมาก ช่วยให้อาหารอร่อย ทำให้เลือดไหลเวียนดี ช่วยขับลม แก้หวัด ขับเหงื่อ ป้องกันหลอดเลือดตีบตัน ต้อกระจก และมะเร็งบางชนิด นอกจากนี้ปัจจุบันได้ผลิตเป็นเจลหรือครีมพริกที่ใช้ทาบรรเทาอาการปวดต่าง ๆ

การขยายพันธุ์ : พริกปลูกเลี้ยงง่าย โดยนำเมล็ดจากผลพริกที่มีสีแดงมาล้างให้สะอาด เพาะในดินร่วน ประมาณ 7 – 10 วัน จะงอกเป็นต้นอ่อน คอยดูแลไม่ให้มีตั๊กแตนมากัดโคนต้น และระวังไม่ให้ดินแฉะเกินไป เพราะจะทำให้เน่าตาย วางในที่มีแสงส่องราวครึ่งวัน เมื่อต้นมีใบจริง 4 – 6 ใบ จึงย้ายปลูกในพื้นที่ที่ต้องการ หรือใส่ในกระถาง ต่อมา 3 สัปดาห์จะเริ่มผลิดอกและติดผล ในระยะนี้ให้สังเกตถ้ามีมดเดินตามกิ่งก้าน แสดงว่าเริ่มมีเพลี้ยอ่อนหรือเพลี้ยแป้งมาดูดกินน้ำเลี้ยงใต้พุ่มยอด เมื่อปล่อยไว้ยอดจะหงิกงอ ใบเหลืองและตาย ควรหมั่นฉีดพ่นน้ำตามใต้พุ่มใบและยอดอยู่เสมอ ถ้ามีการระบาดอาจพ่นด้วยสารสกัดจากสะเดาทุก 2 สัปดาห์ จนมดและเพลี้ยหายไป

นิเวศวิทยา : มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเขตร้อน ปลูกทุกภาคในไทย

ใส่ความเห็น

อีเมล์ของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น

คุณอาจจะใช้ tag หรือ attribute ต่อไปนี้ของ HTML: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong> มาใช้ได้