ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Shorea rexburghii G.Don
ไม้ยืนต้น ผลัดใบขนาดใหญ่ สูง 15-30 เมตร เนื้อไม้แข็ง สีเขียวปนเหลืองอ่อน ลำต้นสีเทาเข้ม เปลือกสีน้ำตาลหรือเทา แตกเป็นร่อง มีสะเก็ดหนาตามลำต้น กิ่งก้านอ่อนเกลี้ยงแตกสาขาเป็นพุ่ม
ใบ : เป็นใบเดี่ยวรูปรี ปลายแหลม โคนใบสอบ ท้องใบเป็นเส้นแขนงนูน มองเห็นได้ชัดเจน
ดอก : ออกเป็นช่อ แยกแขนงที่ปลายยอดหรือปลายกิ่ง ดอกสีขาวอมเหลืองอ่อน ห้อยลง กลีบดอกบิดเวียน บานพร้อมกันหมดทั้งต้น ส่งกลิ่นหอมไปทั่วบริเวณ ออกดอกปีละครั้งในช่วงฤดูหนาว คือเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์
ผล : เป็นผลแห้ง รูปกระสวย มีปีกยาวเหมือนลูกยาง
วิธีการปลูกและดูแลรักษา : ควรปลูกพะยอมในดินร่วนหือดินปนทรายที่ระบายน้ำได้ดี ถ้าปลูกในดินเหนียวและแฉะจะออกดอกน้อย ชอบแสงแดดจัด ดูแลรักษาง่าย ไม่ค่อยพบปัญหาเรื่องโรคและศัตรูพืชเท่าใดนัก ทั้งยังทนต่อสภาพธรรมชาติได้ดี แต่โตช้า
ชื่อวงศ์ : DIPTEROCARPACEAE
ประโยชน์ : ดอกพะยอมอ่อนๆ นำมาชุปแป้งทอด หรือใส่ไข่เจียวเป็นอาหาร ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับให้ความหอมและความสวยงาม เนื้อไม้แข็ง นิยมนำมาทำเป็นเสา เรือขุด ทั้งยังเป็นไม้ที่ทำให้เกิดเห็ดเผาะ หรือทางเหนือเรียกเห็ดถอบ ส่วนทางใต้เรียกเห็ดพะยอมตามชื่อต้นไม้
สรรพคุณทางสมุนไพร : เปลือกของต้นพะยอมมีคุณสมบัติเป็นยาฝาดสมาน ใช้แก้ท้องร่วง ลำไส้อักเสบ ดอก ใช้เป็นยาหอม แก้ไข้ แก้ลม และบำรุงหัวใจ
ต้นไม้สัญลักษณ์ : พะยอมเป็นดอกไม้ไทยโบราณที่มีการกล่าวถึงในวรรณคดีหลายเรื่อง เพราะพะยอมออกดอกเป็นช่อ มีลักษณะเป็นพวง จึงนิยมเรียกกันว่า “พวงพะยอม” ความหอมของดอกพะยอมทำให้นางในวรรณคดีอยากได้มาดอมดมแม้ดอกจะอยู่สูงเพียงใดก็ตาม เช่นวรรณคดีเรื่อง อิเหนา พระอภัยมณี นิราศพระประธม ลิลิตพระลอ และเสภาเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน เป็นต้น
มีการกล่าวถึงตัวละครฝ่ายชายว่าหากพบเห็นดอกพะยอมทีไรก็จะหวนคิดถึงนางอันเป็นที่รักเสมอ แม้แต่คนแต่งเพลงในสมัยก่อนก็มักจะเปรียบหญิงงามสูงส่งว่าเหมือนดอกพะยอม ชายใดปรารถนาต้องใช้ความพยายามสูงมาก เพราะพวงพะยอมนั้นหอมไกลและอยู่สูงมาก เรียกว่าถ้าไม่สอยลงมาก็ไม่ได้ลงมาเชยชมเลยทีเดียว พะยอมยังเป็นคำพ้องเสียง หมายถึง ยินยอม ยอม ประนีประนอม ผ่อนผัน คนไทยโบราณจึงเชื่อว่า หากบ้านใดปลูกพะยอมไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ จำทำให้เป็นคนมีนิสัยอ่อนโยน อ่อนน้อม เป็นที่รักของผู้พบเห็น ชีวิตไม่ขัดสน เพราะมีแต่คนเห็นใจ และยอมให้ในสิง่ที่ดีงาม นอกจากนี้ กลิ่นหอมและดอกสีเหลืองอ่อนของพะยอมยังหมายถึง ความร่ำรวย ไม่ขัดสนเงินทอง และมีชื่อเสียงขจรขจายไปไกลอีกด้วย
การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
นิเวศวิทยา : กำเนิดในป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้งแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบมากในไทย พม่า และมาเลเซีย