ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Momordica cochinchinensis (Lour.) Spreng.
เป็นไม้เลื้อย อายุหลายปี เถาขนาดใหญ่และมีเนื้อไม้
ใบ : รูปหัวใจ ขอบใบหยักเว้าลึกเป็นสามพู ปลายหยักแหลม โคนใบติดกับก้านใบมีต่อมสีเขียว 2 ต่อม มีมือจับออกจากซอกก้านใบ
ช่อ : ดอกออกที่ซอกใบปลายยอด เป็นดอกแยกเพศอยู่ต่างต้นกัน ดอกสีเหลือง โคนกลีบมีแต้มสีน้ำตาลคล้ำ ดอกบานขนาด 8 – 10 ซม. ใบประดับรูปไข่มีขนยาวปกคลุมหนาแน่น ดอกเพศเมียมีรังไข่รูปรีและปกคลุมด้วยหนาม
ผล : รูปไข่ ขนาด 7 – 10 ซม. มีหนามแข็งปกคลุมรอบ เมื่อสุกมีเนื้อนุ่ม สีส้มถึงแดงสด เนื้อในสีแดงอมส้ม เมล็ดรูปไข่แบน
ชื่อวงศ์ : Cucurbitaceae
ประโยชน์ : นำยอดและผลอ่อนมาลวก ต้ม นึ่งจิ้มน้ำพริก หรือใส่ในแกงแค แกงส้ม แกงเลียง หรือนำผลมาฝานเป็นชิ้น ต้มกับกะทิ กินกับน้ำพริก รสขม มีให้กินตลอดปี ให้ฟอสฟอรัส วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินซี และโปรตีนสูง ชาวลาวเรียกว่า “เก๊ก” นิยมนำเนื้อสีแดงในผลสุกมาผสมคลุกเคล้ากับข้าวเหนียว ใส่เกลือเล็กน้อย แล้วนำไปหุง ข้าวเหนียวจะมีสีแดงอมส้มสวยสด กินกับขนมต่าง ๆ ได้อย่างเพลิดเพลิน
สรรพคุณทางสมุนไพร : รากและใบใช้ถอนพิษไข้ หรือนำรากมาแช่น้ำ ใช้สระผม แก้ผมร่วงและฆ่าเหา ใบใช้เป็นส่วนผสมในยาเขียว หรือนำมาตำพอกแก้ปวดหลัง ปวดกระดูก เมล็ดช่วยบำรุงปอด แก้ไอ ขับปัสสาวะ แก้หูด วัณโรค และริดสีดวงทวาร
การขยายพันธุ์ : ฟักข้าวชอบดินร่วน ระบายน้ำดี มีแสงแดดจัด ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดหรือปักชำกิ่งแก่ ต่อมาจึงแตกรากและเจริญเติบโตต่อไปได้ ระยะแรกควรปลูกในที่ร่ม เมื่อต้นตั้งตัวได้จึงย้ายปลูกลงดิน ควรทำค้างที่แข็งแรงให้เลื้อยพัน เนื่องจากเถามีขนาดใหญ่ และควรปลูกมากกว่าหนึ่งต้น เพื่อให้ได้ทั้งต้นเพศผู้และเพศเมีย หมั่นเก็บยอดกินอยู่เสมอ จะได้ทั้งยอดและผลกินอย่างแน่นอน
นิเวศวิทยา : กระจายพันธุ์ในประเทศเขตร้อน พบตามป่าเบญจพรรณทั่วทุกภาคของไทย