ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Aegle marmelos Corr.
ไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูง 5-15 เมตร แตกกิ่งต่ำ ตามลำต้นมีหนามยาวแหลมคม เปลือกลำต้นเรียบ สีน้ำตาลปนเทา เรือนยอดกลม ค่อนข้างโปร่ง
ใบ : มีใบประกอบ 3 ใบย่อย รูปหอกแกมรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบหยัก ก้านใบยาว เมื่อขยี้ใบมีกลิ่นหอม หากนำไปส่องแดดจะเห็นต่อมน้ำมันเป็นจุดใสๆกระจายอยู่ทั่วใบ
ดอก : ออกเป็นช่อตามปลายกิ่งหรือซอกใบ ดอกเล็กๆสีขาวอมเขียว ผลเป็นรูปไข่ แข็งมาก เป็นมัน ผลอ่อนเปลือกสีเขียว เมื่อแก่จะกลายเป็นสีเขียวอมเหลือง มีกลิ่นหอมมาก เนื้อในนิ่ม สีส้มปนเหลือง มียางเหนียว
เมล็ด : รูปรีจำนวนมากแทรกอยู่ในเนื้อผล
วิธีการปลูกและดูแลรักษา : มะตูมเป็นไม้ที่ชอบแดด นิยมปลูกกลางแจ้ง เพราะทนต่ออากาศร้อนได้ดี ขึ้นได้ดี ในดินทุกชนิด ให้ดอกในราวเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม และให้ผลแก่ในเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ มียอดอ่อนตลอดปี
ชื่อวงศ์ : Rutaceae
ประโยชน์ : ไม้เนื้อละเอียดสีเหลืองอ่อน ไม่มีแก่น มีกลิ่นหอม ใช้ทำเกวียน เพลาเกวียน เครื่องดนตรี และหวี ยางจากผลดิบๆใช้แทนกาวได้ เปลือกของผลมะตูมสุกบดใช้ย้อมผ้าให้สีเหลือง
สรรพคุณทางสมุนไพร : ราก รสฝากปร่า ซ่า ขื่นแล็กน้อย นำไปคั่วไฟให้เหลือง แล้วไปดองเหล้าเพื่อดับกลิ่น ใช้แก้พิษไข้ ฝี หืดหอบ ไอ แก้สะอึก แก้ไข้ตัวร้อน ลมอัดแน่นในหน้าอก ขับลม รักษาน้ำดี แก้เสมหะ ปวดหัวตาลาย แก้บวม แก้พยาธิ แก้ตกโลหิตและช่วยขับปัสสาวะ ยอดอ่อน ใบอ่อนสดๆรับประทานเป็นผักแกล้มลาบ ก้อย หรือกินกับน้ำพริกและแกง รสจัด ช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงธาตุ แก้หวัด หลอดลมอักเสบ แก้ลำไส้อักเสบ ท้องเดิน ถ้านำใบมาคั้นน้ำใช้ทาแก้บวม แก้หวัด แก้หลอดลมอักเสบ ผลมะตูมอ่อน ฝานเป็นแว่น ตากแห้ง บดเป็นผง ไว้ชงเป็นน้ำชา หรือต้มใส่น้ำตาลเป็นเครื่องดื่ม ช่วยย่อยอาหาร แก้ท้องเสียง รักษา โรคกระเพาะอาหารอักเสบ แก้บิด ขับผายลม บำรุงกำลัง ช่วยให้เจริญอาหาร ผลมะตูมแก่ ทั้งลูกหากนำมาขูดผิวให้หมด ทุบพอแตก ต้มน้ำ เติมน้ำเล็กน้อยจะได้น้ำรสหอมเรียกว่า “น้ำอัชบาล” รสหวานฝาด รับประทานช่วยเจริญอาหาร และช่วยขับผายลม ผลมะตูมสุก รสหอมหวานเย็น รับประทานสดๆหรือนำเนื้อมาเชื่อมอาหารหวาน แก้เสมหะ กระหายน้ำ แก้ลม เป็นยาระบายอ่อนๆ เปลือกราก แก้ไข้จับสั่น ขับลมในลำไส้ เปลือกต้น แก้ไข้จับสั่น ขับลมในลำไส้ แก้พยาธิ แก้บิด แก้บวม และแก้ตกโลหิต แก่น แก้จุกเสียด ท้องอืด ท้องเฟ้อ ใบ รสฝาด แก้ตาเจ็บ เยื่อตาอักเสบ แก้หวัด หลอดลมอักเสบ เสมหะเหนียว แก้ไข้ แก้บวม กระหายน้ำ บำรุงธาตุ ช่วยให้เจริญอาหาร ดอก แก้บวม แก้พยาธิ แก้ฝีเปื่อย แก้ตกโลหิต หนาม แก้พิษต่างๆ แก้ไข้ ลดความร้อน ราก ใบ ผลแก่และสุก เปลือกรากทั้งห้าต้มรวมกัน กินแก้โรคความดันโลหิตสูง แก้ปวดศีรษะ ตาลาย ช่วยให้เจริญอาหาร
ต้นไม้สัญลักษณ์ : มะตูมถือเป็นไม้มงคลอีกชนิดหนึ่งของคนไทยโบราณ เนื่องด้วยดอกและใบมะตูม มีลักษณะคล้ายตรีที่เป็นอาวุธของพระอิศวรจึงถือมะตูมเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ และนิยมใช้ใบมะตูมในงานมงคลต่างๆ เช่น การทำน้ำมนต์เพื่อสะเดาะเคราะห์ การครอบครูก็ใช้ใบมะตูมเป็นองค์ประกอบในพิธี การพระราชทานใบมะตูมแก่ทูตที่เข้าเฝ้าฯกราบถวายบังคมลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปรับราชการต่างประเทศ เป็นต้น “ตูม” ในความหมายของคนโบราณ หมายถึง เสียงดัง โด่งดัง มีชื่อเสียง ก่อให้เกิดกำลังใจ ความมานะ เพียรพยายามที่จะต่อสู้ ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆและประสบความสำเร็จในชีวิต สำหรับชาวฮินดู ถือว่าไม้มะตูมเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์เช่นกัน โดยมีความเชื่อว่าใบมะตูมสามารถใช้ป้องกันเสนียดจัญไรและขับไล่ภูตผีปีศาจได้ คนไทยโบราณจึงนิยมปลูกมะตูมไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้าน เพราะนอกจากจะปลูกให้เกิดความเป็นสิริมงคลแล้ว ส่วนต่างๆของต้นมะตูมยังสามารถนำมารับประทานและใช้ประโยชน์ได้มากมาย
การขยายพันธุ์ : โดยการเพาะเมล็ดและตอนกิ่ง
นิเวศวิทยา : มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย กัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย และไทย พบมากในป่าเบญจพรรณและในพื้นที่แห้งแล้งตั้งแต่ภาคกลางขึ้นไปจนถึงภาคเหนือ