เต็งหนาม


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Bridelia retusa (L.) A. Juss.

ไม้ต้น สูงถึง 10 ม. พบน้อยที่สูงถึง 20 ม. กิ่งก้านมีขนยาวห่างเมื่อยังอ่อนอยู่ ต่อไปเกือบเกลี้ยง ลำต้นค่อนข้างมีหนาม

ใบ : หูใบ หลุดร่วงง่าย รูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ กว้างประมาณ 2 มม. ยาวถึง 2 มม. มีขนคล้ายเส้นไหมสีขาว ก้านใบ ยาว 7-12 มม. เกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปรี พบน้อยที่เป็นรูปไข่กลับ กว้าง 3-11.5 ซม. เนื้อค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนา ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนนุ่มสั้นถึงหนาแน่น พบน้อยที่เกลี้ยง โคนกลมถึงมน พบน้อยที่ค่อนข้างเป็นรูปหัวใจหรือแหลม ขอบเรียบหรือหยักมนตื้นๆ ปลายมนหรือแหลม พบน้อยที่เว้าตื้น เส้นใบมี 19-23 คู่ พบน้อยที่มี 16 หรือ 27 คู่ ยาวไปจรดกันเป็นเส้นเรียบขอบใบ เส้นใบเห็นชัดทั้งสอดด้าน เส้นใบย่อยเป็นร่างแห

ดอก : ช่อดอก ออกตามกิ่งที่ไม่มีใบ ออกเป็นช่อกระจุก มีดอก 8-15 ดอก พบน้อยที่มี 3 ดอก ดอกไม่มีก้าน ดอกเพศผู้ เส้นผ่านศูนย์กลาง 4-5 มม. สีเขียวอมเหลืองถึงน้ำตาล ดอกเพศเมีย เส้นผ่านศูนย์กลาง 5-5.5 มม. ก้านดอกย่อยยาวถึง 2 มม. กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ เกลี้ยงหรือมีขนยาวห่าง บางทีพบเฉพาะที่ปลาย ติดแน่นเมื่อเป็นผล กลีบดอกมีรูปร่างแตกต่างกัน โคนเป็นรูปช้อน ปลายกลมหรือเป็นพู ขอบรุ่ย เกสรเพศผู้มี 5 อัน เชื่อมติดกัน มีแกนกลางกว้าง 0.2-0.4 มม. ยาว 1-1.3 มม. ก้านเกสรเพศผู้ส่วนที่แยกจากกันยาว 0.8-1 มม. สีขาว อับเรณูรูปไข่ กว้าง 0.3-0.4 มม. สีออกแดงหรือออกชมพู รังไข่รูปกลม มี 2 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียมี 2 โคนเชื่อมติดกัน รวมกับยอดเกสรเพศเมียยาวถึง 1 มม. ยอดเกสรเพศเมียจักเป็น 2 แฉก

ผล : มี 1-3 ต่อหนึ่งกระจุกกลม รูปกลมแบน บางทีปลายแหลมทู่ บางทีเป็น 2 พู กว้าง 5-9 มม. ยาว 5-8 มม. มี 2 ช่อง สีดำ หรือสีน้ำเงินอมดำ ผนังผลชั้นในแข็งมี 2 หน่วย ค่อนข้างกลม กว้าง 6 มม. ยาว 5 มม. หนา 5 มม. สีน้ำตาล

เมล็ด : ค่อนข้างกลม มีร่องด้านข้าง กว้าง 5 มม. ยาว 4.5 มม. หนา 3 มม. สีน้ำตาลแดง

ชื่อวงศ์ : Euphorbiaceae

ประโยชน์ : ผลกินได้มีรสหวาน

สรรพคุณทางสมุนไพร : เปลือกต้นให้ยางสีแดง ผสมกันน้ำมันงาใช้ทาถูแก้ปวดข้อ น้ำต้มเปลือกเป็นยาฝากสมาน กินเพื่อละลายนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

นิเวศวิทยา : พบขึ้นทั่วไปในป่าดิบแล้ง ป่าผลัดใบ และที่โล่งแจ้ง ที่ระดับความสูง 50-600 ม.พบที่ภาคเหนือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี สกลนคร ภาคตะวันออก จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา ภาคกลาง จังหวัดลพบุรี พระนครศรีอยุธยา ภาคตะวันตกเฉียงใต้ จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี ภาคใต้ จังหวัดนราธิวาส เขตการกระจายพันธุ์ ประเทศอินเดีย สิกขิม ศรีลังกา พม่า อินโดจีน จีนตอนใต้ คาบสมุทรมาเลเซีย เกาะสุมาตรา

ใส่ความเห็น

อีเมล์ของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น

คุณอาจจะใช้ tag หรือ attribute ต่อไปนี้ของ HTML: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong> มาใช้ได้