บอนจีน


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Limnocharis flava (L.) Buchenau

ชื่อวงศ์ : ALISMATACEAE

มีเหง้าสั้น ๆ อยู่ใต้ดิน ต้นสูง 30 – 60 ซม. ทุกส่วนอวบน้ำ

ใบ : ค่อนข้างกลม ขนาด 10 – 12 ซม.

ดอก : ช่อดอกชูขึ้นเป็นกระจุกที่ปลายก้าน มี 3 – 4 กลีบดอก 3 กลีบ สีเหลือง บอบบาง

ผล : เป็นกระจุกแน่น สีน้ำตาลหรือสีดำ

ประโยชน์ : ชาวอีสานนิยมเก็บยอดและช่อดอกอ่อนมากินเป็นผักสดกับน้ำพริก ส้มตำ ลาบ ก้อย หรืออาหารรสจัดต่าง ๆ มีรสฝาดเล็กน้อย มีตลอดปี แต่มีมากในฤดูฝน นิยมปลูกเป็นไม้ประดับริมน้ำกันมาก เพราะเลี้ยงง่าย โตเร็ว

การขยายพันธุ์ : บอนจีนชอบดินเหนียวชุ่มชื้นแฉะ มีน้ำตื้น ๆ มีอินทรียวัตถุสูง แสงแดดครึ่งวัน ขยายพันธุ์ด้วยการแยกกอมาปลูก สามารถปลูกเป็นไม้ประดับในบ่อน้ำหรืออ่างบัวเล็ก ๆ ได้ดี

นิเวศวิทยา : ในไทยพบตามท้องนาน้ำตื้น ๆ

เนียมหูเสือ


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Plectranthus amboinicus (Lour.) Spreng.

ชื่อวงศ์ : LAMIACEAE (LABIATAE)

เป็นไม้พุ่ม อายุหลายปี สูงประมาณ 30 ซม. ทุกส่วนอวบน้ำ เมื่อขยี้มีกลิ่นหอม และมีขนนุ่มปกคลุม

ใบ : รูปไข่ป้อม ออกตรงข้ามกัน ขอบใบจักฟันเลื่อย

ดอก : ช่อดอกออกที่ปลายยอด ชูตั้งขึ้น ดอกสีขาวอมม่วง ขนาดเล็ก โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด เมล็ดกลม สีน้ำตาลคล้ำ แต่ละผลมี 4 เมล็ด

ประโยชน์ : ยอดอ่อนกินสดกับซุบหน่อไม้ แจ่ว ลาบ ก้อย ช่วยดับกลิ่นคาวได้ดี และให้ฟอสฟอรัสสูง หรือใส่ในแกงจืดหมูสับก็อร่อยได้

สรรพคุณทางสมุนไพร : ใบนำมาต้มน้ำดื่มแก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ช่วยขับน้ำคาวปลาให้หญิงหลังคลอด หรือคั้นน้ำใช้หยอดหูแก้หูหนวก ทาท้องเด็กแก้ปวดท้อง หรือนำใบมาขยี้สำหรับปิดแผลห้ามเลือด หรือผสมกับน้ำตาลกินเป็นยาขับลม แก้ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย ช่วยบำรุงร่างกาย แก้ไข้เรื้อรัง หอบหืด และโรคลมชัก หรือนำมาพอกศีรษะแก้ปวด ลดไข้ หรือดมดับกลิ่นปาก และด้วยใบนุ่ม ๆ ที่สวยงามมีกลิ่นหอม จึงนิยมปลูกเป็นไม้ประดับกันมาก

การขยายพันธุ์ : เนียมหูเสือเป็นพืชที่ปลูกเลี้ยงง่าย ชอบดินชุ่มชื้น ระบายน้ำดี แสงแดดครึ่งวัน ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำกิ่ง
นิเวศวิทยา : ถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศเขตร้อนและทางตอนใต้ของแอฟริกา

นางแลว


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Aspidistra sutepensis K. Larsen
ชื่อวงศ์ : LILIACEAE

เป็นไม้พุ่ม มีเหง้าใต้ดิน เจริญเป็นกอแน่น สูง 30 – 50 ซม.

ใบ : รูปใบหอก ปลายแหลม แผ่นใบพับเป็นพลีท สีเขียวเหลือบเงิน มีก้านใบยาว

ดอก : ช่อดอกออกจากเหง้าที่โคนต้น ตั้งขึ้นสูง 4 – 6 ซม. ก้านช่อดอกสีครีมอมม่วง ดอกสีม่วง ขนาดประมาณ 8 มม. มีกลีบดอก 6 กลีบ ปลายแหลม

ประโยชน์ : ผักชนิดนี้ผู้เขียนพบครั้งแรกที่บ้านคุณมลิวัลย์ ปิ่นทอง ช่วงเดือนมีนาคม ที่จังหวัดเชียงใหม่ ปลูกไว้เป็นทิวแถวในสวนครัวหลังบ้าน คุณป้าเล่าให้ฟังว่า “นางแลวใส่ในแกงแคอร่อยมาก รสขมนิดหน่อย แต่ช่วยบำรุงร่างกายดี” ผลิดอกในช่วงปลายฤดูหนาวถึงฤดูร้อน เก็บมาลวกจิ้มน้ำพริก ใส่ในแกงแค แกงผักฮ้วนหมูหรือแกงปลาย่างก็อร่อย คุณป้ายังบอกว่าปัจจุบันดอกนางแลวหากินยาก เด็กรุ่นใหม่ไม่รู้จักเท่าไรนัก ทั้ง ๆ ที่ปลูกไม่ยาก แค่แยกกอมาปลูกใต้ต้นไม้ใหญ่ให้ได้ร่มเงาเสียหน่อย พอถึงฤดูกาลที่เหมาะสมก็จะออกดอก

การขยายพันธุ์ : นางแลวชอบดินร่วน ระบายน้ำดี อินทรียวัตถุสูง แสงครึ่งวันถึงรำไร อากาศเย็น ขยายพันธุ์ด้วยการแยกกอมาปลูกใหม่ สามารถปลูกเป็นไม้ประดับในบ้านได้อย่างดี

นิเวศวิทยา : มีการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือของไทย

นางจุม

ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Cansjera rheedii J.F. Gmel.

ชื่อวงศ์ : Opiliaceae

เป็นไม้รอเลื้อย อายุหลายปี กิ่งก้านทอดเลื้อยปะปนกับไม้อื่น และเป็นพืชในวงศ์เดียวกับผักหวานป่า

ใบ : รูปไข่หรือรูปใบหอกแกมรูปรีเรียวแหลม ยอดอ่อนมีขนปกคลุม

ดอก : ช่อดอกออกตามซอกใบ ดอกเล็ก สีเหลืองอมเขียว มีวงกลีบรวมเป็นรูประฆัง

ผล : มีเนื้อนุ่ม ภายในมีเมล็ดแข็ง เมื่อสุกมีสีส้ม

ประโยชน์ : ผักชนิดนี้พบวางขายอยู่ในตลาดทุ่งเสลี่ยม ที่อยู่ระหว่างทางไปจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมัดรวมอยู่กับ “บะแตก” แม่ค้าเรียกว่า “นางโจม” ขายกำละ 5 บาท และบอกวิธีการกินว่า นางโจมเป็นผักที่นิยมนำมาทำแกง หรือใส่ร่วมกับแกงแค รสอร่อยมากเหมือนผักหวานป่า และมีให้กินตลอดปี

การขยายพันธุ์ : นางจุมชอบดินร่วนชุ่มชื้น ระบายน้ำดี มีอินทรียวัตถุสูง แสงแดดครึ่งวัน สามารถขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด แต่ชาวบ้านไม่นิยมปลูกกัน เพราะส่วนใหญ่สามารถเก็บหาได้จากป่าธรรมชาติ จึงไม่ค่อยพบเห็นวางขายกันมากนัก

นิเวศวิทยา : มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของเอเชีย พบอยู่ตามป่าเบญจพรรณและป่าดิบชื้นที่ระดับความสูงจากน้ำทะเล 700 เมตรทั่วทุกภาคของไทย

เถาเอ็นอ่อน


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Cryptolepis buchanani Roem.&Schult.

ชื่อวงศ์ : PERIPLOCACEAE

ชื่ออื่น : กวน (ฉาน-แม่ฮ่องสอน) เครือเถาเอ็น (เชียงใหม่) ตีนเป็ดเครือ (ภาคเหนือ) เมื่อย (ภาคกลาง)
นอออหมี (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) หญ้าลิเลน (ปัตตานี) หมอนตีนเป็ด (สุราษฎร์ธานี)

เป็นไม้เลื้อย อายุหลายปี ทุกส่วน มีน้ำยางสีขาว

ใบ : รูปรีแกมขอบขนาน ปลายเรียวแหลม ออกตรงข้ามกัน

ช่อดอกออกที่ซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกเล็ก กลีบดอกสีขาวอมเหลืองอ่อน มี 5 กลีบ ปลายเมล็ดมีขนฟูช่วยในการกระจายพันธุ์

ประโยชน์ : ยอดอ่อนต้มกินกันน้ำพริก อาหารรสจัดต่าง ๆ หรือใส่ในแกงจืด แกงเลียง มีให้กินตลอดปี

สรรพคุณทางสมุนไพร : ทั้งต้นนำมานึ่งทำเป็นลูกประคบแก้ปวดเมื่อย ทำให้เส้นเอ็นหย่อน แก้กระษัย บำรุงเส้นเอ็น หรืออาการปวดบวมฟกช้ำ กระดูกแตกหัก ในต่างประเทศใช้ลำต้นเป็นส่วนผสมในน้ำมันใส่ผมเพื่อช่วยบำรุงรากผม ป้องกันรังแค เมล็ดช่วยขับลมในลำไส้ แก้ปวดท้อง แน่นจุกเสียด

การขยายพันธุ์ : เถาเอ็นอ่อนชอบดินร่วน ระบายน้ำดี มีแสงแดดตลอดวัน ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดหรือปักชำกิ่ง ควรทำค้างไม้ให้เลื้อยพันหมั่นตัดแต่งทรงพุ่มอยู่เสมอ สามารถปลูกเป็นไม้ริมรั้วหรือเป็นซุ้มไม้ประดับได้

นิเวศวิทยา : พบทั่วทุกภาคในไทย

เถาคัน


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cayratia trifolia (L.) Domin

วงศ์ : VITIDACEAE

เป็นไม้เลื้อยที่มีอายุหลายปี มักพบเลื้อยพันอยู่กับต้นไม้ใหญ่ เถาสีเขียวหรือสีม่วงแดง มีมือเกาะแตกจากข้อใบและแตกแตนงออก

ใบ : มีใบประกอบสามใบย่อย รูปไข่ ก้านใบออกจากจุดเดียวกัน ขอบใบหยัก

ดอก : ช่อดอกออกจากซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกย่อยเล็กสีเขียวหรือสีม่วงแดงเรื่อ

ผล : กลมมีนี้นุ่ม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.8 ซม. เมื่อสุกมีสีดำ ภายในมีเมล็ดแข็ง 2 – 3 เมล็ด

ประโยชน์ : ชาวใต้นิยมบริโภคใบอ่อนเป็นผักสดหรือลวกกินกับน้ำพริก แจ่วหรือใส่ในแกง ส่วนผลอ่อนใส่ในแกงส้มเพื่อเพิ่มรสเปรี้ยว มีในช่วงฤดูร้อนถึงฤดูฝน

สรรพคุณทางสมุนไพร : รากแก้ไข้ แก้กระษัย เถาต้นช่วยขับเสมหะ ขับลม ฟอกเลือด และเล่นยาคุมกำเนิด ใบช่วยดูดหนองฝี แก้ไข้ และรักษาแผลในจมูก

การขยายพันธุ์ : เถาคันเป็นพืชที่แข็งแรงทนทาน เจริญเติบโตได้ในทุกสภาพแวดล้อมมีแสงแดดจัด ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดหรือปักชำกิ่งแก่ สามารถ ปลูกเป็นซุ้มไม้เลื้อยหรือไม้ริมรั้วบ้านได้อย่างดี

นิเวศวิทยา : มีการกระจายพันธุ์แถบตะวันออกของทวีปอเมริกา เป็นวัชพืชที่พบทั่วทุกภาคของไทย