ผักชีล้อม


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Oenanthe javanica (Blume) DC.

ชื่อวงศ์ : Apiaceae

เป็นไม้น้ำที่มีลำต้นและใบอวบน้ำ แตกกอสูง 40 – 50 ซม.

ใบ : มีใบแบบขนนก ใบย่อยรูปเรียวแหลม

ดอก : ช่อดอกเป็นร่มอยู่ที่ปลายกิ่ง มีดอกย่อยเล็ก ๆ สีขาวจำนวนมาก

ประโยชน์ : เป็นผักที่ชาวอีสานนิยมเก็บมากินเป็นผักสดกับน้ำพริก ซุบหน่อไม้หรือลาบ ด้วยกลิ่นหอมอ่อน ๆ เวลาเคี้ยว ซึ่งแตกต่างกับผักชีที่ใช้กันทั่วไป จึงช่วยให้เจริญอาหารและขับลมในลำไส้ บ้างก็เด็ดยอดมาผัดน้ำมัน ชาวบ้านในจังหวัดเลยเรียกผักชนิดนี้ว่า “ผักชีช้าง” ส่วนในจังหวัดตากเรียก “ผักอ่าน” ซึ่งนิยมบริโภคเช่นเดียวกัน ให้วิตามินเอและไนอะซินสูง

สรรพคุณทางสมุนไพร : ทั้งต้นแก้บวม แก้เหน็บชา และช่วยขับเหงื่อ ผลและเมล็ดช่วยขับลมในลำไส้ แก้หอบ บำรุงปอด แก้ไอ แก้สะอึก แก้ลมวิงเวียนและแก้อาเจียน

การขยายพันธุ์ : ผักชีล้อมสามารถแยกกอมาปลูกในดินเหนียวที่อุดมสมบูรณ์และมีน้ำตื้น ๆ อาจปลูกในอ่างบัวเป็นไม้ประดับในสวน ในตำแหน่งที่มีแสงแดดส่องถึงราวครึ่งวัน ผักชีล้อมก็จะเจริญเติบโตได้อย่างดี

นิเวศวิทยา : มีถิ่นกำเนิดในประเทศเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน ในไทยพบตามแหล่งน้ำธรรมชาติ

ตับเต่านา(Frog bit)

ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Hydrocharis dubia (Blume) Backer

ชื่อวงศ์ : HYDROCHARITACEAE

เป็นไม้น้ำมีรากหยั่งลึกลงใต้น้ำ ทุกส่วนของต้นอวบน้ำและกรอบหักง่าย

ใบ : ใบรูปหัวใจ ค่อนข้างกลม ปลายใบมน ใต้ใบมีเนื้อเยื่อที่ช่วยให้ลอยน้ำได้

ดอก : ผลิบานอยู่ตามข้อ มีทั้งดอกแยกเพศต่างต้นและดอกแยกเพศร่วมต้น กลีบดอก 3 กลีบ สีขาวบอบบาง ดอกเพศผู้ออกเป็นกระจุก มีเกสรสีเหลืองเรียงเป็นวงล้อมรอบ ดอกเพศเมียออกเป็นดอกเดี่ยว มียอดเกสรเรียงล้อมรอบ

ผล : กลม ผิวเรียบ เมื่อแก่จะแตกออก ภายในมีเมล็ดรูปรีเล็ก ๆ จำนวนมาก

ประโยชน์ : ยอดอ่อนของผักแปะกินเป็นผักสดกับน้ำพริก ส้มตำ ลาบ ก้อย หรืออาหารรสจัดต่าง ๆ มีมากในฤดูฝน และควรล้างน้ำให้สะอาดก่อนนำมาบริโภค เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกในน้ำ ปัจจุบันนิยมปลูกเป็นไม้ประดับในสวนน้ำกันมาก

การขยายพันธุ์ : ผักแปะเจริญเติบโตได้ดีในน้ำที่ลึกไม่เกิน 60 ซม. แสงแดดจัด ขยายพันธุ์ด้วยการแยกต้นมาลอยในน้ำ ปัจจุบันนิยมปลูกเป็นไม้น้ำจัดสวนกันมาก

นิเวศวิทยา : มีการกระจายพันธุ์ในเอเชียได้ถึงเอเชียตะวันออก พบทั่วไปตามท้องนาทั่วทุกภาคของไทย

ผักพาย(Yellow Burhead)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Butomopsis latifolia (D. Don) Kunth

ชื่อวงศ์ : LIMNOCHARITACEAE

เป็นไม้ล้มลุก ต้นสูงได้ถึง 1 เมตร

ใบ : คล้ายรูปใบพายสมชื่อ แผ่นใบมีนวลสีขาวปกคลุม

ดอก : ช่อดอกออกจากซอกกาบใบชูตั้งขึ้น ดอกย่อยเรียงเป็นกระจุกต่าง ๆ กันเป็นชั้น ทยอยบานจากโคนไปยังปลายช่อ ดอกสีขาว มี 3 กลีบบอบบาง เมื่อผลิบานหมดแล้วจะติดผลและตายไป

ประโยชน์ : ชาวอีสานนิยมเก็บยอดและช่อดอกอ่อนที่ยังไม่บานมากินเป็นผักสด หรือลวกกินกับน้ำพริก ลาบ หรือใส่ในแกงหน่อไม้ มีมากในฤดูฝน

การขยายพันธุ์ : ผักพายชอบดินเหนียวชุ่มชื้น มีน้ำสะอาดตื้น ๆ ประมาณ 15 ซม. ขยายพันธุ์ด้วยการแยกกอมาปลูกใหม่ หรือซื้อที่มีขายในท้องตลาดมาลองปักในดินเหนียว ใส่ในอ่างบัวที่มีน้ำตื้น ๆ ไม่นานก็จะแตกราก ผลิดอก และติดเมล็ดได้ เมื่อต้นตาย ถ้ามีเมล็ดร่วงหล่นอยู่บ้าง พอถึงฤดูฝนก็จะงอกและเติบโตใหม่

นิเวศวิทยา : วัชพืชน้ำที่ในปัจจุบันไม่ค่อยพบเห็นมากนัก

ผักชีช้าง

ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Artemisia sp.

วงศ์ : Asparagaceae

เป็นไม้พุ่ม อายุสั้น ต้นสูงประมาณ 80 ซม. ทุกส่วนเมื่อขยี้มีกลิ่นหอม

ใบ : เป็นเส้นฝอย ออกเวียนรอบกิ่ง

ดอก : ช่อดอกออกที่ปลายยอด ดอกมีขนาดเล็ก สีขาว เมล็ดมีขนาดเล็ก สีดำ

ประโยชน์ : ยอดอ่อนกินเป็นผักสดกับน้ำพริก ลาบ หรืออาหารรสจัดต่าง ๆ ช่วยดับกลิ่นคาว

สรรพคุณทางสมุนไพร : รากนำมาต้มน้ำดื่มแก้โรคเบาหวาน น้ำต้มจากใบใช้อาบแก้ซางเด็ก พืชสกุลนี้ส่วนมากใช้เป็นสมุนไพรพื้นบ้านของไทย เช่น โกฐฐุฬาลำพาหรือชิงฮาว (A.annua L.) และผักเหี่ยหรือโกฐฐุฬาลำพาจีน (A. vulgaris L.)

การขยายพันธุ์ : ผักชีช้างชอบดินชุ่มชื้น มีน้ำขังเล็กน้อย แสงแดดรำไรถึงครึ่งวัน ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำกิ่งหรือเพาะเมล็ด สามารถปลูกเป็นไม้กระถางได้

นิเวศวิทยา : กระจายพันธุ์ในประเทศเขตหนาว

ผักกาดช้าง

ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Crassocephalum crepidioides (Benth.) S. Moore

วงศ์ : ZINGIBERACEAE

ฟังชื่อแล้วอาจข้าใจว่าเป็นพืชที่มีต้นใหญ่มาก  แท้จริงแล้วเป็นไม้พุ่มล้มลุกที่สูง  50 – 100  ซม.  ถ้าขึ้นในที่ชุ่มชื้นต้นจะอวบน้ำ นิยมบริโภคกันในภาคเหนือ  เรียกกันว่า  “ผักเผ็ดแม้ว”  และภาคใต้เรียกว่า  “หญ้าดอกฟุ้ง”  มีตำนานที่เล่ากันว่า  ผักชนิดนี้เป็นผักที่โปรดปรานกันมากของพ่อบ้านชาวพม่าจนต้องมีให้กินทุก มื้อ  ถ้าวันไหนภรรยาไม่สามารถหามาให้ได้ก็จะอาละวาดทุบตีภรรยาด้วยความโกรธ  ชาวพม่าจึงเรียกต้นนี้ว่า  “พม่าตีเมีย”

ดอก : ช่อดอกออกที่ปลายยอด  แต่ละช่อมีดอกย่อยจำนวนมากอัดกันแน่น  เกสรเพศเมียมีส้มโผล่พ้นดอกเห็นเด่นชัด  เมล็ดมีขนฟูที่ปลิวไปตามลมช่วยในการกระจายพันธุ์

ประโยชน์ : นิยมกินยอดอ่อนเป็นผักสดกับน้ำพริก  อาหารรสจัด  หรือผัดน้ำมัน  มีกลิ่นหอม  ช่วยดับกลิ่นคาว  และช่วยให้เจริญอาหาร  สามารถเก็บกินได้ตลอดปี

การขยายพันธุ์ : ผักกาดช้างมักพบอยู่ตามแปลงปลูกผักของเกษตรกรที่มีแสงแดดส่งถึงตลอดวัน  ถ้าขึ้นในที่ชุ่มชื้นจะกรอบอร่อย  ถ้าอยู่ในที่แห้งแล้งต้นจะแคระแกร็นไม่น่ากิน  ขยายพันธุ์ได้ง่าย  เพียงเก็บเมล็ดแก่ที่แห้งมาโรยในพื้นที่ปลูกไม่นานก็จะได้ลิ้มชิมรส

นิเวศวิทยา : เป็นวัชพืชตามพื้นที่ลุ่มทั่วทุกภาคของไทย

เปราะหอม

ชื่อสามัญ : Sand Ginger, Aromatic Ginger, Resurrection Lily

วงศ์ : ZINGIBERACEAE

เป็นไม้ล้มลุก อายุหลายปี มีลำต้นเป็นหัวอยู่ใต้ดิน มีรากสะสมอาหารเป็นตุ้มกลม ทุกส่วนมีกลิ่นหอมและอวบน้ำ

ใบ : แผ่นใบกลม มีขนอ่อนปกคลุมเล็กน้อย ปลายใบค่อนข้างแหลม ช่อดอกออกจากกึ่งกลางต้น

ดอก : สีขาว กลีบปากมีแต้มสีม่วงเข้ม บานเพียงวันเดียว แต่ทยอยบานทุกวันในช่วงฤดูฝน สามารถติดผลและร่วงหล่นเจริญเติบโตต่อไปได้

ประโยชน์ : ใบและเหง้าซอยใส่ในแกงเนื้อสัตว์ ผัดเผ็ด เพื่อช่วยดับกลิ่นคาว หรือเป็นส่วนผสมในเครื่องแกง ให้แคลอรีต่ำ

สรรพคุณทางสมุนไพร : ด้านสมุนไพร ตามตำราพื้นบ้านนำมาชงเป็นชาดื่มแก้ไอ ช่วยขับเสมหะ แก้ท้องอืดเฟ้อ ลดอาการติดเชื้อและไขข้ออักเสบ หรือใช้เป็นสมุนไพรพื้นบ้านร่วมกับพืชชนิดอื่น ในมาเลเซียมักใช้ผสมกับน้ำยางน่องเพื่ออาบลูกดอก

การขยายพันธุ์ : เปราะหอมชอบดินร่วน ระบายน้ำดี มีแสงแดดรำไร ไม่ชอบดินแฉะเพราะจะทำให้หัวเน่า ขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อมาปลูกใหม่ แต่ควรปฏิบัติในฤดูร้อนและฤดูฝน

นิเวศวิทยา : มีการกระจายพันธุ์อยู่ทั่วทุกภาคในไทย