ขอนดอก

ขอนดอก

เป็นพืชวัตถุ เกิดจากเนื้อไม้ที่มีโรคภายในผุเป็นโพรงเล็กๆสีขาว กระจายไปทั่วเนื้อไม้ เรียกว่า เกิดสารลง เรานำส่วนที่สารลงมาใช้ปรุงเป็นยา

มีอยู่ 2 ชนิด คือ 1.ขอนดอกไม้พิกุล 2.ขอนดอกไม้ตะแบก

สรรพคุณ

  • รสจืดหอม แก้ลม บำรุงหัวใจ บำรุงตับปอด บำรุงทารกในครรภ์ ทำหัวใจให้ชุ่มชื้น

ขลู่

Indian Marsh Fleabane

ชื่ออื่น: หนาดวัว, หนวดงิ้ว, คลู (ใต้)

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Pluchea indica (Linn.) Less.,P.foliolosa DC., Coryza corymbose Roxb., C. indica Mig., Baccharis indica Linn.

ชื่อวงศ์: COMPOSITAW

เป็นไม้พุ่ม สูง 1-2 เมตร

ใบ: ใบรูปไข่กลับ ปลายแหลม ขอบหยัก โดยรอบมีขนขาวๆปกคลุม ก้านสั้น

ดอก: ดอกเล็กๆเป็นกระจุกรวมกันเป็นช่อ สีขาวอมม่วง ออกตามง่ามใบ

นิเวศวิทยา: เกิดตามที่รกร้างว่างเปล่า ที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเล ชอบดินเค็มหรือกร่อย

การขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

สรรพคุณ

  • ใบ เมื่อนำมาผึ่งให้แห้งจะมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นน้ำผึ้ง ใช้ชงดื่มแทนชา
  • ใบ รสฝาดหอมเมาเค็ม แก้ริดสีดวงทวาร แก้กระษัย ขับนิ่ว ขับปัสสาวะ เป็นยาอายุวัฒนะ สมานกายนอกและภายใน แก้ไข้ ขับเหงื่อ
  • ดอก รสฝาดหอมเมาเค็ม แก้นิ่ว
  • ราก รสฝาดเมาเค็ม แก้นิ่วในไต ขับปัสสาวะ
  • ทั้งต้น รสหอมฝาดเมาเค็ม แก้นิ่วในไต ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้ริดสีดวงทวาร แก้มุตกิดระดูขาว แก้ตานขโมย
  • เปลือกต้น รสเมาขื่นหอม แก้ริดสีดวงจมูก ริดสีดวงทวาร แก้กระษัย ขูดเอาขนออกให้สะอาด ลอกเอาแต่เปลือก หั่นเป็นเส้นมวนสูบ แก้ริดสีดวงจมูก

 

ขมิ้นชัน

Turmeric, Curcuma, Yellow Root

ชื่ออื่น: พญาว่าน, ขมิ้นดี, ขมิ้นป่า, ขมิ้นหัว, ขมิ้นไข, ขมิ้นหยวก, ขมิ้นแดง, ตายอ, สะยอ (กะเหรี่ยง), ขี้มิ้น (ใต้, อีสาน), ขมิ้นแกง

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Curcuma longa Linn., C. domestica valeton

ชื่อวงศ์: ZINGIBERACEAE

เป็นพืชจำพวกเหง้า สูง 50-70 เซนติเมตร

ใบ: ใบรูปหอกปลายแหลม กาบใบแคบมีร่องเล็กๆ สีเขียวอมน้ำตาล เมื่อถึงฤดูฝนใบจะงอกงาม แล้วแห้งไปในหน้าแล้ง

ดอก: ดอกช่อใหญ่ พุ่งมาจากเหง้าใต้ดิน สีเขียวแกมขาว ปลายช่อสีชมพูอ่อน ยอดเกสรตัวเมียสีเหลือง เนื้อในเหง้ามีสีส้ม กลิ่นฉุน

นิเวศวิทยา: เกิดในภูมิภาคเขตร้อนทั่วไป

สรรพคุณ

  • ใช้แต่งสีในแกงกะหรี่ เนย เนยแข็ง ผักดอง มัสตาร์ด เป็นต้น ทำสีย้อมผ้า เครื่องสำอาง
  • ใช้เป็นยากันบูดได้เพราะมี curcumin
  • เหง้า รสฝาดหวานเอียน แก้ไข้เพื่อดี คลั่งเพ้อ แก้ไข้เรื้อรัง ผอมเหลือง แก้โรคผิวหนัง แก้เสมหะและโลหิต แก้ท้องว่าง สมานแผล แก้ธาตุพิการ ขับผายลม แก้ผื่นคัน ขับกลิ่น และสิ่งสกปรกในร่างกาย คุมธาตุ หยอดตาแก้ตาบวม ตาแดง น้ำคั้นจากเหง้าสด ทาแก้แผลถลอก แก้โรคผิวหนังผื่นคัน ลดการอักเสบ ทำให้ผิวพรรณผุดผ่อง นำมาอัดเม็ดทำเป็นยารักษาท้องอืดท้องเฟ้อ ธาตุพิการ อาหารไม่ย่อย กระเพาะอาหารอ่อนแอ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร แก้ท้องร่วง แก้บิด
  • ผงขมิ้น (นำเหง้าแห้งมาบดเป็นผง) นำมาเคี่ยวกับน้ำมันพืช ทำน้ำมันใส่แผลสด
  • ขมิ้นสด (ใช้เหง้าสดล้างให้สะอาด) ตำกับดินประสิวเล็กน้อย ผสมน้ำปูนใส พอกบาดแผล และแก้เคล็ดขัดยอก เผาไฟ ตำกับน้ำปูนใส รับประทานแก้ท้องร่วง แก้บิด

ขยุ้มตีนหมา

ชื่ออื่น: เถาสายทองลอย (สิงห์บุรี), ผักบุ้งเล (พังงา), เพาละมูลู (ยะลา)

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Ipomoea pes-tigrdis Linn.

ชื่อวงศ์: CONVOLVULACEAE

เป็นไม้เถาล้มลุกอายุปีเดียว ตลอดทั้งต้นคลุมด้วยขนแข็งสีขาว

ใบ: ใบเดี่ยวจักลึก 7-9 แฉก

ดอก: ดอกเหมือนรอยเท้าสุนัขออกเป็นช่อง่ามใบ สีขาว

ผล: ผลรูปไข่

การขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

นิเวศวิทยา: เกิดตามที่รกร้างทั่วไป

สรรพคุณ

  • ทั้งต้น รสเฝื่อนเมา เป็นยาระงับพิษสุนัขบ้า ตำผสมกับเนยปิดหัวฝี
  • ราก รสเฝื่อนเมา แก้โรคไอเป็นเลือด
  • เมล็ด รสเฝื่อนเมา แก้โรคท้องมาน

ขมิ้นเครือ

ชื่ออื่น: ขมิ้นฤาษี, ผ้าร้ายห่อทอง, เดิมวอโกรด (เขมร)

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Kreagelisia flava (Linn.) Merr.

ชื่อวงศ์: MENISPERMACEAE

เป็นไม้เถาพาดพันตามต้นไม้ใหญ่ เถากลม เปลือกชุ่มน้ำ ผิวสีน้ำตาลเหลือง เนื้อสีเหลือง มีเส้นรัศมีออกโดยรอบ กลิ่นเหมือนขมิ้น

ใบ: ใบรูปหอกกว้าง ปลายเรียวแหลม เนื้อหนาสีเขียวมัน

สรรพคุณ

  • ใบ รสร้อนฝาดเฝื่อน ขับโลหิตระดูที่เสียเป็นลิ่ม เป็นก้อนให้ออกมา ขับน้ำคาวปลา
  • ดอก รสฝาดเฝื่อน แก้บิดมูกเลือด
  • เถา รสฝาดเฝื่อน แก้ดีพิการ ขับผายลม ทำให้เรอ ต้มดื่ม แก้ไข้ ร้อนใน แก้ท้องเสีย เนื่องจากอาหารไม่ย่อย
  • ราก รสฝาดเฝื่อน ขับลมอัมพฤกษ์ บำรุงน้ำเหลือง ฝนหยอดตา แก้ริดสีดวงตา แก้ตาแดง ตาแฉะ ตามัน ตาอักเสบ

นิเวศวิทยา: เกิดตามป่าดงดิบเขาและป่าเบญจพรรณทั่วไป

การขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

ไก่ไห้

ชื่ออื่น: งัวเลีย (อีสาน), กระจิก (กลาง), กระโปรงแจง (สุโขทัย), ก่อทิง (ชัยภูมิ), ไก่ไห้ (พิษณุโลก), โกโรโกโส, หนามเกาะไก่, หนามนมวัว (โคราช), งวงช้าง (อุดร), ทะลุมอิด (นครสวรรค์), หนามไก่ไห้

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Capparis flavicans Kurz.

ชื่อวงศ์: CAPPARIDACEAE

เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 2-7 ม. กิ่งก้านสาขามาก มีหนามตามข้อ

ใบ: ใบรูปไข่

ดอก: ดอกเดี่ยว สีเหลือง ออกตามง่ามใบ ก้านชูเกสรตัวผู้ยาว สีเหลืองเขียว

ผล: ทรงกลม ตะปุ่มตะป่ะ สีส้ม เมล็ดมีเนื้อสีเหลืองหุ้ม

สรรพคุณ

  • ใบ รสจืด ขับน้ำนม
  • เนื้อไม้ รสจืด ต้มหรือดองสุราดื่ม แก้เส้นเอ็นแข็งตึง ใช้ควันสูดดม แก้วิงเวียน ศีรษะ

การขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

นิเวศวิทยา: เกิดตามป่าเบญจพรรณ ป่าละเมาะทั่วไป