ราชพฤกษ์ (Golden shower)

ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Cassia fistula L.

ชื่ออื่น : กานส์ คูน

ไม่ต้นผลัดใบ ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 5-15 เมตร เปลือกต้นสีเทาปนน้ำตาล เรียบหรือแตกเป็นสะเก็ด

ใบ : ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ มีใบย่อย 3-8 คู่ ใบย่อยรูปรี รูปไข่ รูปขอบขนานแกมรูปไข่หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ กว้าง 4-7 ซม.

ดอก : ออกเป็นช่อรูปทรงกระบอกยาวห้อยลง เกิดตามกิ่งหรือปลายกิ่ง กลีบดอกสีเหลือง ออกเดือน กุมภาพันธ์-เมษายน

ผล : เป็นฝักรูปทรงกระบอก ยาว 20-60 ซม. ฝักแก่สีดำ

คุณค่าทางภูมิสถาปัตยกรรม : เรือนยอดรูปไข่หรือรูปร่มคอนข้างทึบนิยมปลูกเป็นไม้ดับริมถนน หรือตามอาคาร ไม่ควรปลูกเป็นจำนวนมากในที่เดียวกันเพราะมักมีปัญหาเรื่องแมลงเจาะทำลายลำต้นและกิ่ง

ชื่อวงศ์ : Leguminosae – Caesalpinioideae

ประโยชน์ : เนื้อไม้ใช้ทำเสา สากตำข้าว เสาหลักเมือง เนื้อไม้และเปลือกให้น้ำใช้ฟอกหนัง เนื้อในฝัก ดอกและใบเป็นยาระบาย ยอดอ่อนและช่อดอกกินเป็นผักสดกับน้ำพริก แนมอาหารรสจัดต่าง ๆ ใส่ในแกงส้ม ใช้ทำส้มตำ ยำ ใส่ในไข่เจียว หรือผัดกับไข่ ยอดอ่อนมีรสฝาดมัน ดอกมีรสเปรี้ยวเล็กน้อย อาจนำมาดองกินหรือเก็บดอกตากแห้งใช้ชงน้ำดื่มแก้กระหาย และเนื้อในฝักรสหวานกินเป็นอาหารได้

สรรพคุณทางสมุนไพร : รากใช้เป็นยาระบาย ช่วยขับพยาธิ แก้กลากเกลื้อนและแก้ไข้ เปลือกต้นมีสารแทนนินสูง ใช้แก้ท้องเสีย ช่วยสมานแผล แก้ไข้ และลดอาการปวดบวม ใบและดอกใช้เป็นยาระบาย แก้ฝีเม็ดผื่นคัน แก้ไข้ เนื้อในฝักใช้เป็นยาระบายได้เช่นกัน แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ฟกช้ำ และแก้กระษัย นอกจากนี้เปลือกต้น เนื้อไม้และผลยังใช้เป็นสีย้อม ให้สีเหลือง ส่วนเปลือกใช้ฟอกหนัง เนื้อไม้ใช้ทำเสา สากตำข้าว ล้อเกวียน คานเกวียน และคันไถ

ต้นไม้สัญลักษณ์ : พันธุ์ไม้ประจำชาติไทย และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

การขยายพันธุ์ : ราชพฤกษ์ชอบดินร่วน ระบายน้ำดี มีแสงแดดตลอดวัน โตเร็ว ทนแล้งได้ดี แต่ไม่ทนน้ำท่วมขัง ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดประมาณ 2 ปี ต้นจึงเริ่มออกดอก ถ้าปลูกในพื้นที่ชุ่มชื้นตลอดปีจะไม่ค่อยออกดอก ควรระวังหนอนเจาะลำต้น อาจทำให้ต้นตายได้

นิเวศวิทยา : พบขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าผสมผลัดใบ เป็นพืชทนแล้ง ขึ้นได้ในดินทั่วไปที่ระบายน้ำได้ดี

มะขามเทศ (Leguminosae)

ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Pithecellobium dulce (Roxb.) Benth.

มะขามเทศ ไม้ต้นกึ่งผลัดใบ ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 8-15 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทา ลำต้นและกิ่งปกติมีหนามแหลม แต่อาจพบที่มีการปรับปรุงพันธุ์ไม่ให้มีหนาม

ใบ : ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น มีใบย่อย 2 คู่ ฐานใบเบี้ยว

ดอก : ออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ดอกย่อยเกิดรวมเป็นกระจุกกลม สีขาวหรือสีเหลืองอ่อนออกดอกเกือบตลอดปี

ผล : เป็นผักรูปขอบขนาน ฝักโค้งเป็นวง ฝึกสุกสีชมพูอ่อนเมล็ดสีดำ เนื้อหุ้มเมล็ดหนา เมื่อสุกสีขาวอมชมพู

คุณค่าทางภูมิสถาปัตยกรรม : เรือนยอดแตกกิ่งแผ่กว้างคล้ายร่ม ปลูกเป็นไม้ให้ร่มและไม่ผลตามริมถนน

ชื่อวงศ์ : Leguminosae – Mimosoideae

ประโยชน์ : เนื้อหุ้มเมล็ดรับประทานได้ นิยมนำมาทำเป็นไม้ดัด ปัจจุบันมีการปรับปรุงพันธุ์ให้มีสีใบด่าง เหมาะสำหรับปลูกเป็นไม้ประดับ ชาวมอญนำมะขามเทศชนิดรสฝาดไปแกงส้ม

สรรพคุณทางสมุนไพร : แก้ท้องร่วง โดยเฉพาะฝัก ช่วยขับพยาธิ ใช้ห้ามเลือดหรือล้างแผล ช่วยดูดน้ำเหลือง ลดการติดเชื้อ ทำให้แผลหายเร็วขึ้น แก้ปวดฟัน รักษาแผลในปากและคอ

การขยายพันธุ์ : มะขามเทศสามารถเจริญเติบโตได้ทุกสภาพพื้นที่ ทนแล้งและทนน้ำท่วมขัง ขยายพันธุ์ง่าย เพียงนำเมล็ดมาเพาะไม่นานก็จะงอกเป็นต้น โตเร็ว ประมาณ 2 – 3 ปีก็เริ่มให้ดอกผล ให้ทรงพุ่มขนาดใหญ่ ควรปลูกในพื้นที่กว้าง บ้างก็ปลูกเป็นไม้ดัด โดยเฉพาะมะขามเทศใบด่างที่มียอดสีขาวอมชมพูสวยงามมาก

นิเวศวิทยา : มีถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกากลาง เป็นไม้ทนดินเค็มและทนแล้ง

หูกวาง (Bengal Almond, Indian Almond)

ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Terminalia catappa L.

เป็นไม้ยืนต้นประเภทผลัดใบ มีความสูงประมาณ 8-15 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ด

ใบ : เดี่ยว เรียงเวียนเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง ในรูปไข่กลับปลายใบเป็นติ่งแหลมสั้น ๆ ฐานใบสอบเรียว ใบร่วงสีแดง

ดอก : ขนาดเล็ก สีขาวออกเป็นช่อหางกระรอกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ออกดอก 2 ครั้งต่อปีคือ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน และ สิงหาคม-ตุลาคม

ผล : รูปรีหรือรูปกระสวย แบนเล็กน้อยเมื่อแก่สีน้ำตาลดำ คุณค่าทาง

ภูมิสถาปัตยกรรม : เรือนยอดโปร่งแผ่นกว้าง กิ่งแตกเป็นวงรอบลำต้นเป็นชั้น ๆ คล้ายฉัตร นิยมปลูกเป้นไม้ให้ร่มตามสนามหญ้าและริมถนน ไม่ควรปลูกใกล้ลานพื้นแข็งเนื่อจากปัญหาเรื่องรากดันพื้นแตก

ชื่อวงศ์ : Combretaceae

ประโยชน์ : เปลือกต้นใช้ฟอกหนังสัตว์ เนื้อในของเมล็ดรับประทานได้ และให้น้ำมันคล้ายน้ำมันอัลมอนด์

สรรพคุณทางสมุนไพร : เปลือกต้นและผลใช้แก้ท้องเสีย

ต้นไม้สัญลักษณ์ : ต้นไม้ประจำจังหวัดตราด

การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด

นิเวศวิทยา : พบขึ้นตามป่าชายหาด เป็นไม้ทนดินเค็ม และขึ้นได้ในดินทุกชนิด