สัก (Teak)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Tectona grandis Linn.

ชื่ออื่น กะเบียด

ต้นสักเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูง 20 เมตร เจริญเติบโตเร็ว ผลัดใบในฤดูร้อน เปลือกลำต้นนั้นจะรายเรียบ แต่บางทีก็เป็นร่องเล็กๆ สีเทา

ใบ : ใบเป็นใบเดี่ยว ส่วนปลายใบจะแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบ สาก ใต้ใบจะมีต่อมเล็กๆ สีแดง

ดอก : ออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ ดอกเล็กๆ สีขาวนวล

การปรุงยา : นำใบมาตากแห้ง เด็ดเป็นชิ้นเล็กๆ เอามาคั่วเก็บไว้ใช้ชงเป็นชา ดื่มเป็นยา ส่วนแกนต้นสักนำไปรวมกับตัวยาสมุนไพรอื่นๆ เพื่อปรุงเป็นยารักษาโรค

ชื่อวงศ์ : VERBENACEAE

ประโยชน์ : ไม้สักเป็นไม้เนื้อดี ทนทาน ปลวกมอดแมลงต่างๆ ไม่สามารถกัดกินหรือทำให้เนื้อไม้เสียหายได้ คนส่วนใหญ่จึงมักนำมาสร้างบ้าน สร้างเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ต่างๆ ไม้สักจึงมีราคาที่สูง

สรรพคุณทางสมุนไพร : ลดน้ำตาลในเลือด ช่วยบรรเทาโรคเบาหวาน

การขยายพันธุ์ : นำเมล็ดมาเพาะกล้า

สมอพิเภก (Beleric myrobalan)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Terminalia bellirica (Gaertn.) Roxb.

ชื่ออื่น หมากแทน, ลูกเป็นหมอ, พ่อเป็นยักษ์, สมอผลกลม

ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ทรงสูงโปร่ง ผลัดใบ สูง 15-35 เมตร แตกกิ่งก้านไกลต้น

ลำต้น : ลำต้นเปลาตรง โคนต้นมักเป็นพูพอน เปลือกลำต้นผิวเรียบขรุขระเป็นเกล็ด ผสมขุย สีเทาอมน้ำตาลช่วงแรกหรือเป็นสีดำๆ ด่างๆ เป็นแห่งๆ ค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นร่องเล็กๆ ไปตามยาวลำต้น เปลือกในสีเหลือง เรือนยอดกลมแผ่กว้างและค่อนข้างทึบ กิ่งเค้า กิ่งกระโดง จะเป็นการทิ้งช่วงทรงฉัตร กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนประปราย

ใบ : เป็นชนิดใบเดี่ยว ใบหนา ไม่มีก้านใบ ใบสีเขียว ติดเวียนกันเป็นกลุ่มตามปลายๆ กิ่ง ทรงใบรูปรีแกมรูปไข่กลับ กว้าง 9-15 ซม. ยาว 13-19 ซม. ใบรสฝาดหอม เปลือกติดกระพี้รสฝาดมีกลิ่นหอม ผลมีรสฝาดอมเปรี้ยว โคนใบสอบมาสู่ก้านใบ ส่วนที่ค่อนไปทางปลายใบผายกว้าง ปลายสุดจะหยัดคอดเป็นติ่งแหลมสั้นๆ เส้นแขนงใบโค้งอ่อน มี 6-10 คู่ เส้นใบแบบเส้นร่างแหเห็นชัดทางด้านท้องใบ เนื้อใบค่อนข้างหนา หลังใบเขียวเข้มและมีขนสีน้ำตาลกระจายทั่วไป ท้องใบสีจางหรือสีเทามีขนนุ่มๆ คลุม แต่ทั้งสองด้านขนจะหลุดร่วงไปเมื่อใบแก่จัด ขอบใบเรียบ ก้านใบยาว 4-6 ซม. บริเวณกึ่งกลางก้านจะมีต่อมหรือตุ่มหูด หนึ่งคู่

ดอก : เล็ก สีขาวอมเหลือง ออกเป็นช่อเดี่ยวๆ แบบหางกระรอก ที่ง่ามใบหรือรอยแผลใบตามกิ่ง ปลายช่อจะห้อยย้อยลง ช่อยาว 10-15 ซม. ดอกเพศผู้ส่วนใหญ่จะอยู่ตามปลายๆ ช่อ ส่วนดอกสมบูรณ์เพศจะอยู่ตามโคนช่อ กลีบฐานดอก มี 5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยเล็กๆ ทั้งหมดมีขนทั่วไป เกสรเพศผู้มี 10 อัน เรียงซ้อนกันอยู่สองแถว รังไข่ ค่อนข้างแป้น ภายในมีช่องเดียวและมีไข่อ่อน 2 หน่วย หลอดท่อรังไข่มีหลอดเดียว

ผล : กลมหรือกลมรีๆ แข็ง ผิวนอกปกคลุมด้วยขนสีน้ำตาลหนาแน่น ออกรวมกันเป็นพวงโตๆ

ชื่อวงศ์ : Combretaceae

สรรพคุณทางสมุนไพร : ส่วนเปลือกต้นปิ้งไฟให้เหลือง แช่น้ำให้เป็นช่งดื่ม แก้โรคซาง ลูกสมอพิเภท นิยมนำมาฝนทาหัวเด็กแก้ตุ่มน้ำเหลืองเสีย แผลชันนะตุ แก้เลือดลม จุกเสียด เสมหะเป็นกองธาตุ ระบายอุจจาระธาตุ ตำราบางท้องถิ่นนำเอาเปลือกต้นไปผสมกับเปลือกไม้อื่นๆ ทำยาตั้ง ประคบคนเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต

นิเวศวิทยา : ชอบอยู่ในภูมิประเทศ ป่าโปร่ง ทุ่งนา เป็นไม้ป่าที่ราบสูง

สะเดา (Neem Tree)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Azadirachta indica Juss var. siamensis Valeton

ชื่ออื่น กะเดา จะตัง สะเดา สะเลียม สะเดาบ้าน

ไม้ยืนต้น ผลัดใบขนาดกลาง สูงประมาณ 12-15 เมตร มีเรือนยอดเป็นพุ่มกลม เปลือกของลำต้นสีน้ำตาลเทาปนดำ แตกสะเก็ดเป็นร่องเล็กๆตามแนวยาวของลำต้น ทุกส่วนมีรสขม สะเดาไทยแตกต่างจากสะเดาอินเดียตรงขนาดของใบ ซึ่งสะเดาไทยจะมีขนาดใบใหญ่กว่าสะเดาอินเดีย และมีเรือนพุ่มค่อนข้างกลม แต่สะเดาอินเดียกลับแตกกิ่งก้านสาขาเป็นจำนวนมากและรสขมกว่าสะเดาไทย

ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนก ปลายคู่สีเขียวเข้ม ใบย่อยเป็นรูปใบหอก ปลายใบแหลม ขอบใบหยัก

ดอก : ออกเป็นช่อ สีขาวที่ปลายกิ่ง มักผลิใบใหม่พร้อมออกดอก ทยอยบานพร้อมกันทั้งตัน ออกยอดและให้ดอกดกในช่วงฤดูหนาว

ผล : รูปกลมรีอวบน้ำ สีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีเลหือง ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด

วิธีการปลูกและดูแลรักษา : สะเดาเป็นไม้ปลูกง่าย โตเร็ว ทนทาน ขึ้นได้ดีในดินทุกสภาพ ตามพื้นที่ราบโล่ง ไม่ชอบน้ำท่วมขัง จึงนิยมปลูกกลางแจ้ง เพราะชอบแสงแดดจัดและทนแล้งได้ดีมาก ทั้งยังเป็นต้นไม้ที่ไม่มีแมลงมารบกวน

ชื่อวงศ์ : MELIACEAE

ประโยชน์ : ยอดอ่อนและดอกสะเดานิยมใช้รับประทานเป็นผัก โดยนำมาเผาไฟหรือลวกให้สุก กินกับน้ำพริกชนิดต่างๆ หรือน้ำปลาหวาน กินคู่กับปลาดุกย่างหรือกุ้งเผา ให้รสชาติขม แต่ให้คุณค่าทางอาหารสูง แคลเซียม และวิตามินต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย นอกจากนี้สะเดาเป็นไม้เนื้อแข็ง ทนทาน และไม่มีแมลง จึงนิยมนำมาใช้ในงานก่อสร้างที่รับน้ำหนักได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเพดาน ฝาเรือน เสา คาน เกวียน หรือหีบใส่ของ เป็นต้น

สรรพคุณทางสมุนไพร : ใบอ่อน ใช้รักษาโรคผิวหนัง น้ำเลหืองเสีย ใบแก่ นำมาต้มน้ำใส่เกลือหรือน้ำตาลเล็กน้อยเพื่อให้รสขมจางลง ช่วยย่อยอาหาร บำรุงธาตุ แก้ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย ก้าน ต้มน้ำกินแก้หวัด บำรุงน้ำดี แก้ร้อนใน ดอก แก้รีดสีดวง บำรุงธาตุ แก้พิษโลหิต คันในลำคอ ลูก บำรุงหัวใจ ช่วยให้เจริญอาหาร ฆ่าพยาธิ ปัสสาวะพิการ และแก้ริดสีดวง เปลือกต้น แก้บิด ท้องเดิน แก่น แก้ไข้จับสั่น ไข้ตัวร้อน ราก แก้เสมหะที่เกาะกันแน่นในทรวงอก ยาง ใช้ดับพิษร้อน เมล็ดและใบสะเดานำมาบดละเอียดใส่แอลกอฮอล์ลงไปให้ท่วม แช่ทิ้งไว้ค้างคืนแล้วนำน้ำที่ได้มากรองกับน้ำสบู่ ได้เป็นยาฆ่าแมลงฉีดพ่นพืชผักที่ให้ความปลอดภัยแก่มนุษย์และสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นสารสกัดจากธรรมชาต

ต้นไม้สัญลักษณ์ : สะเดาเป็นไม้ดั้งเดิมที่มีมานานแล้ว ไม่เฉพาะพบตามป่าเบญจพรรณในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังพบทั่วไปในแถบเอเชียอาคเนย์อีกด้วย ชาวฮินดูเรียกสะเดาว่า “นิมะ” ซึ่งหมายถึง สะเดาอินเดีย เป็นสะเาดคนละชนิดกับสะเดาไทย แต่สรรพคุณใกล้เคียงกัน มีปรากฏอยู่ในพุทธประวัติว่า ในพรรษาที่ 11 พระพุทธเจ้าได้จำพรรษาภายใต้ต้นจิมมันทพฤกษ์ ซึ่งก็คือไม้สะเดา(อินเดีย) นั่นเอง

อีกทั้งทางคติอินเดียยังเชื่อว่า หากผู้ใดนอนใต้ต้นสะเดาแล้วโรคภัยไข้เจ็บจะหาย ที่เป็นดังนี้เพราะสะเดาคายน้ำออกมาจะมีสารระเหยบางชนิดที่มีคุณสมบัติปรุงยารักษาโรคได้ ส่วนต่างๆของต้นสะเาดมีรสขม สามารถนำมาทำยาได้ เข้าตำราของไทยที่ว่า ขมเป็นยา นอกจากนี้ สะเดามักขึ้นตามแนวราบโล่งซึ่งเป็นที่ที่สัตว์ร้ายเช่นงู ไม่ชอบอยู่ นักเดินทางในสมัยโบราณจึงนิยมนอนค้างใต้ต้นสะเดา เพราะราบโล่ง โปร่ง และปลอดภัยจากสัตว์ร้ายทั้งปวง คนไทบโบราณนิยมปลูกสะเดาไว้ตามบ้านเรือน เพราะค้นพบคุณประโยชน์มากมายของต้นสะเดา ทั้งปลูกง่าย โตเร็ว ทนทาน และให้ร่มเงา สะเดาจึงถือเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งที่เชื่อกันว่า หากปลูกไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้านจะช่วยป้องกันโรคร้าย ส่วนกิ่งและใบของต้นช่วยป้องกันภูตผีปีศาจมิให้มารังควาน สะเดาไทยเป็นพันธุ์ไม้พระราชทาน ปลูกเพื่อเป็นมงคลประจำจังหวัดสิงห์บุรีและอุทัยธานี

การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

นิเวศวิทยา : มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบตามป่าเบญจพรรณทั่วทุกภาคของไทย ยกเว้นภาคใต้

พะยอม (Shorea)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Shorea rexburghii G.Don

ไม้ยืนต้น ผลัดใบขนาดใหญ่ สูง 15-30 เมตร เนื้อไม้แข็ง สีเขียวปนเหลืองอ่อน ลำต้นสีเทาเข้ม เปลือกสีน้ำตาลหรือเทา แตกเป็นร่อง มีสะเก็ดหนาตามลำต้น กิ่งก้านอ่อนเกลี้ยงแตกสาขาเป็นพุ่ม

ใบ : เป็นใบเดี่ยวรูปรี ปลายแหลม โคนใบสอบ ท้องใบเป็นเส้นแขนงนูน มองเห็นได้ชัดเจน

ดอก : ออกเป็นช่อ แยกแขนงที่ปลายยอดหรือปลายกิ่ง ดอกสีขาวอมเหลืองอ่อน ห้อยลง กลีบดอกบิดเวียน บานพร้อมกันหมดทั้งต้น ส่งกลิ่นหอมไปทั่วบริเวณ ออกดอกปีละครั้งในช่วงฤดูหนาว คือเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์

ผล : เป็นผลแห้ง รูปกระสวย มีปีกยาวเหมือนลูกยาง

วิธีการปลูกและดูแลรักษา : ควรปลูกพะยอมในดินร่วนหือดินปนทรายที่ระบายน้ำได้ดี ถ้าปลูกในดินเหนียวและแฉะจะออกดอกน้อย ชอบแสงแดดจัด ดูแลรักษาง่าย ไม่ค่อยพบปัญหาเรื่องโรคและศัตรูพืชเท่าใดนัก ทั้งยังทนต่อสภาพธรรมชาติได้ดี แต่โตช้า

ชื่อวงศ์ : DIPTEROCARPACEAE

ประโยชน์ : ดอกพะยอมอ่อนๆ นำมาชุปแป้งทอด หรือใส่ไข่เจียวเป็นอาหาร ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับให้ความหอมและความสวยงาม เนื้อไม้แข็ง นิยมนำมาทำเป็นเสา เรือขุด ทั้งยังเป็นไม้ที่ทำให้เกิดเห็ดเผาะ หรือทางเหนือเรียกเห็ดถอบ ส่วนทางใต้เรียกเห็ดพะยอมตามชื่อต้นไม้

สรรพคุณทางสมุนไพร : เปลือกของต้นพะยอมมีคุณสมบัติเป็นยาฝาดสมาน ใช้แก้ท้องร่วง ลำไส้อักเสบ ดอก ใช้เป็นยาหอม แก้ไข้ แก้ลม และบำรุงหัวใจ
ต้นไม้สัญลักษณ์ : พะยอมเป็นดอกไม้ไทยโบราณที่มีการกล่าวถึงในวรรณคดีหลายเรื่อง เพราะพะยอมออกดอกเป็นช่อ มีลักษณะเป็นพวง จึงนิยมเรียกกันว่า “พวงพะยอม” ความหอมของดอกพะยอมทำให้นางในวรรณคดีอยากได้มาดอมดมแม้ดอกจะอยู่สูงเพียงใดก็ตาม เช่นวรรณคดีเรื่อง อิเหนา พระอภัยมณี นิราศพระประธม ลิลิตพระลอ และเสภาเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน เป็นต้น

มีการกล่าวถึงตัวละครฝ่ายชายว่าหากพบเห็นดอกพะยอมทีไรก็จะหวนคิดถึงนางอันเป็นที่รักเสมอ แม้แต่คนแต่งเพลงในสมัยก่อนก็มักจะเปรียบหญิงงามสูงส่งว่าเหมือนดอกพะยอม ชายใดปรารถนาต้องใช้ความพยายามสูงมาก เพราะพวงพะยอมนั้นหอมไกลและอยู่สูงมาก เรียกว่าถ้าไม่สอยลงมาก็ไม่ได้ลงมาเชยชมเลยทีเดียว พะยอมยังเป็นคำพ้องเสียง หมายถึง ยินยอม ยอม ประนีประนอม ผ่อนผัน คนไทยโบราณจึงเชื่อว่า หากบ้านใดปลูกพะยอมไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ จำทำให้เป็นคนมีนิสัยอ่อนโยน อ่อนน้อม เป็นที่รักของผู้พบเห็น ชีวิตไม่ขัดสน เพราะมีแต่คนเห็นใจ และยอมให้ในสิง่ที่ดีงาม นอกจากนี้ กลิ่นหอมและดอกสีเหลืองอ่อนของพะยอมยังหมายถึง ความร่ำรวย ไม่ขัดสนเงินทอง และมีชื่อเสียงขจรขจายไปไกลอีกด้วย

การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

นิเวศวิทยา : กำเนิดในป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้งแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบมากในไทย พม่า และมาเลเซีย

มะตูม (Bael Fruit Tree, Bengaluince, Bilak)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Aegle marmelos Corr.

ไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูง 5-15 เมตร แตกกิ่งต่ำ ตามลำต้นมีหนามยาวแหลมคม เปลือกลำต้นเรียบ สีน้ำตาลปนเทา เรือนยอดกลม ค่อนข้างโปร่ง

ใบ : มีใบประกอบ 3 ใบย่อย รูปหอกแกมรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบหยัก ก้านใบยาว เมื่อขยี้ใบมีกลิ่นหอม หากนำไปส่องแดดจะเห็นต่อมน้ำมันเป็นจุดใสๆกระจายอยู่ทั่วใบ

ดอก : ออกเป็นช่อตามปลายกิ่งหรือซอกใบ ดอกเล็กๆสีขาวอมเขียว ผลเป็นรูปไข่ แข็งมาก เป็นมัน ผลอ่อนเปลือกสีเขียว เมื่อแก่จะกลายเป็นสีเขียวอมเหลือง มีกลิ่นหอมมาก เนื้อในนิ่ม สีส้มปนเหลือง มียางเหนียว

เมล็ด : รูปรีจำนวนมากแทรกอยู่ในเนื้อผล

วิธีการปลูกและดูแลรักษา : มะตูมเป็นไม้ที่ชอบแดด นิยมปลูกกลางแจ้ง เพราะทนต่ออากาศร้อนได้ดี ขึ้นได้ดี ในดินทุกชนิด ให้ดอกในราวเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม และให้ผลแก่ในเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ มียอดอ่อนตลอดปี

ชื่อวงศ์ : Rutaceae

ประโยชน์ : ไม้เนื้อละเอียดสีเหลืองอ่อน ไม่มีแก่น มีกลิ่นหอม ใช้ทำเกวียน เพลาเกวียน เครื่องดนตรี และหวี ยางจากผลดิบๆใช้แทนกาวได้ เปลือกของผลมะตูมสุกบดใช้ย้อมผ้าให้สีเหลือง

สรรพคุณทางสมุนไพร : ราก รสฝากปร่า ซ่า ขื่นแล็กน้อย นำไปคั่วไฟให้เหลือง แล้วไปดองเหล้าเพื่อดับกลิ่น ใช้แก้พิษไข้ ฝี หืดหอบ ไอ แก้สะอึก แก้ไข้ตัวร้อน ลมอัดแน่นในหน้าอก ขับลม รักษาน้ำดี แก้เสมหะ ปวดหัวตาลาย แก้บวม แก้พยาธิ แก้ตกโลหิตและช่วยขับปัสสาวะ ยอดอ่อน ใบอ่อนสดๆรับประทานเป็นผักแกล้มลาบ ก้อย หรือกินกับน้ำพริกและแกง รสจัด ช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงธาตุ แก้หวัด หลอดลมอักเสบ แก้ลำไส้อักเสบ ท้องเดิน ถ้านำใบมาคั้นน้ำใช้ทาแก้บวม แก้หวัด แก้หลอดลมอักเสบ ผลมะตูมอ่อน ฝานเป็นแว่น ตากแห้ง บดเป็นผง ไว้ชงเป็นน้ำชา หรือต้มใส่น้ำตาลเป็นเครื่องดื่ม ช่วยย่อยอาหาร แก้ท้องเสียง รักษา โรคกระเพาะอาหารอักเสบ แก้บิด ขับผายลม บำรุงกำลัง ช่วยให้เจริญอาหาร ผลมะตูมแก่ ทั้งลูกหากนำมาขูดผิวให้หมด ทุบพอแตก ต้มน้ำ เติมน้ำเล็กน้อยจะได้น้ำรสหอมเรียกว่า “น้ำอัชบาล” รสหวานฝาด รับประทานช่วยเจริญอาหาร และช่วยขับผายลม ผลมะตูมสุก รสหอมหวานเย็น รับประทานสดๆหรือนำเนื้อมาเชื่อมอาหารหวาน แก้เสมหะ กระหายน้ำ แก้ลม เป็นยาระบายอ่อนๆ เปลือกราก แก้ไข้จับสั่น ขับลมในลำไส้ เปลือกต้น แก้ไข้จับสั่น ขับลมในลำไส้ แก้พยาธิ แก้บิด แก้บวม และแก้ตกโลหิต แก่น แก้จุกเสียด ท้องอืด ท้องเฟ้อ ใบ รสฝาด แก้ตาเจ็บ เยื่อตาอักเสบ แก้หวัด หลอดลมอักเสบ เสมหะเหนียว แก้ไข้ แก้บวม กระหายน้ำ บำรุงธาตุ ช่วยให้เจริญอาหาร ดอก แก้บวม แก้พยาธิ แก้ฝีเปื่อย แก้ตกโลหิต หนาม แก้พิษต่างๆ แก้ไข้ ลดความร้อน ราก ใบ ผลแก่และสุก เปลือกรากทั้งห้าต้มรวมกัน กินแก้โรคความดันโลหิตสูง แก้ปวดศีรษะ ตาลาย ช่วยให้เจริญอาหาร

ต้นไม้สัญลักษณ์ : มะตูมถือเป็นไม้มงคลอีกชนิดหนึ่งของคนไทยโบราณ เนื่องด้วยดอกและใบมะตูม มีลักษณะคล้ายตรีที่เป็นอาวุธของพระอิศวรจึงถือมะตูมเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ และนิยมใช้ใบมะตูมในงานมงคลต่างๆ เช่น การทำน้ำมนต์เพื่อสะเดาะเคราะห์ การครอบครูก็ใช้ใบมะตูมเป็นองค์ประกอบในพิธี การพระราชทานใบมะตูมแก่ทูตที่เข้าเฝ้าฯกราบถวายบังคมลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปรับราชการต่างประเทศ เป็นต้น “ตูม” ในความหมายของคนโบราณ หมายถึง เสียงดัง โด่งดัง มีชื่อเสียง ก่อให้เกิดกำลังใจ ความมานะ เพียรพยายามที่จะต่อสู้ ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆและประสบความสำเร็จในชีวิต สำหรับชาวฮินดู ถือว่าไม้มะตูมเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์เช่นกัน โดยมีความเชื่อว่าใบมะตูมสามารถใช้ป้องกันเสนียดจัญไรและขับไล่ภูตผีปีศาจได้ คนไทยโบราณจึงนิยมปลูกมะตูมไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้าน เพราะนอกจากจะปลูกให้เกิดความเป็นสิริมงคลแล้ว ส่วนต่างๆของต้นมะตูมยังสามารถนำมารับประทานและใช้ประโยชน์ได้มากมาย

การขยายพันธุ์ : โดยการเพาะเมล็ดและตอนกิ่ง

นิเวศวิทยา : มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย กัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย และไทย พบมากในป่าเบญจพรรณและในพื้นที่แห้งแล้งตั้งแต่ภาคกลางขึ้นไปจนถึงภาคเหนือ

ทองกวาว (Bastard Teak)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Butea monosperma (Lam.) Taub.

ไม้ยืนต้น ผลัดใบ ขนาดกลาง สูงประมาณ 8-15 เมตร ผิวเปลือกต้นเป็นตุ่ม สีเทาคล้ำหรือน้ำตาล แตกกิ่งก้านไม่มากทพุ่มใบโปร่ง

ใบ : เป็นใบประกอบสามใบย่อย ออกสลับ ปลายใบมน โคนใบมนกลม แผ่นใบมีขนปกคลุม

ดอก : ออกเป็นช่อมีขนาดใหญ่รูปดอกถั่ว สีเหลืองเข้มสดถึงสีแสด มีกลีบดอก 5 กลีบ ออกเป็นช่อเรียงติดกันแน่นตามกิ่งก้านและปลายกิ่ง ออกดอกปีละครั้งในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เมื่อออกดอกจะผลัดใบทิ้งหมดทั้งต้น เห็นแต่ดอกสีส้มแสดสว่างเต็มต้น

ผล : เป็นฝัก รูปขอบขนาน แบนๆโค้งงอเล็กน้อย เปลือกสีน้ำตาลอ่อน ข้างในฝักมีเมล็ดเล็กๆ

วิธีปลูกและดูแลรักษา : ในธรรมชาติมักพบทองกวาวขึ้นตามที่ราบลุ่ม ในป่าผลัดใบ ป่าหญ้า หรือป่าละเมาะ และแม่แต่ในที่แห้งแล้งจัดก็ยังสามารถเจริญเติมโตได้ แม้ลำต้นจะไม่โต แต่ก็ยังออกดอกเบ่งบาน การปลูกโดยทั่วไปไม่ควรปลูกในดินร่วนซุย ชอบแสงแดดจัดและน้ำปานกลาง เป็นไม้ที่ทน ไม่ค่อยพบปัญหาเรื่องโรคและศัตรูพืช

ชื่อวงศ์ : Leguminosae-Papilionoideae

ประโยชน์ : เปลือกของต้น ใช้ทำเชือก กระดาษ ดอก ใช้ย้อมผ้า

สรรพคุณทางสมุนไพร : ยาง ใช้แก้ท้องร่วง ใบ ใช้ตำพอกสิวและฝี ช่วยถอนพิษ แก้ปวดและริดสีดวง เมล็ดจากฝัก ใช้ขับพยาธิตัวกลม เมล็ดบดละเอียดผสมกับน้ำมะนาว ทาแก้คันและแสบร้อน

ต้นไม้สัญลักษณ์ : ทองกวาวเป็นภาษาถิ่นพายัพ เป็นชื่อต้นไม่มงคล เนื่องจากความสวยงามของดอกเวลาเบ่งบานจะเป็นสีแดงอมส้มสว่างไสว ยิ่งเมื่อถูกแสงแดด สีของดอกทองกวาวจะเปล่งปลั่งเรืองรองและสุกใสราวกับทอง คนโบราณนิยมปลูกทองกวาวไว้ทางทิศใต้ของบ้าน เพราะเชื่อว่าจะทำให้สะสมทองคำได้มากมาย เสมือนต้นทองกวาวที่ออกดอกหนาแน่นเต็มต้น นอกจากนี้ทองกวาวยังเป็นต้นไม้ที่มีความอดทนสูงมากแม้จะอยู่ในที่แห้งแล้ง ลำต้นแคระแกร็น ก็ยังสามารถออกดอกสีสดสวยได้ เปรียบเสมือนคนมีพฤติกรรมที่มีความอดทน อยู่ที่ใดก็เจริญรุ่งเรือง สามารถประสบความสำเร็จได้

การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยการตอนและเพาะเมล็ด หากปลูกในที่ชุ่มชื้นมักให้ดอกน้อย

นิเวศวิทยา : มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ส่วนในประเทศไทยพบมากในภาคเหนือและภาคอีสาน

สัตบรรณ (Black Board, Devil Tree, White Cheesewood)

ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Alstonia scholaris (L.) R.Br.

ไม้ต้นผลัดใบ ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 40 เมตร ทุกส่วนที่มีชีวิตมีน้ำยางสีขาวขุ่น

ใบ : เดี่ยว เรียงเวียนเป็นวงรอบข้อ ใบรูปไข่กลับหรือรูปหอกกลับหนาเกลี้ยง เรียบเป็นมัน

ดอก : ออกเป็นช่อกระจุกขนาดใหญ่ที่ปลายกิ่ง ก้านช่อดอกออกซ้อนกันเหมือนฉัตร กลีบดอกสีขาวหรือขาวอมเหลืองโคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด ออกดอกช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน

ผล : เป็นฝักคู่ ฝักกลม ยาว 20-50 ซม. ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดมีขนปุย

คุณค่าทางภูมิสถาปัตยกรรม : เรือนยอดรูปไข่แผ่กว้างส่วนมากปลูกเป็นไม้ให้ร่มและไม้ประดับตามสวนและริมถนน ไม่ควรปลูกใกล้ที่พักอาศัยเนื่องจากดอกมีกลิ่นหอมแรง

ชื่อวงศ์ : Apocynaceae

สรรพคุณทางสมุนไพร : ราใช้เป็นยาขับลม เหลือต้นมีสารอัลคาลอยด์แก้บิด ไข้มาเลเรียนเบาหวาน ใบอ่อนชงน้ำดื่มแก้โครลักปิดลักเปิด ใบใช้ในการรักษาโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง ยางของต้นและใบรักษาแผล แผลเปื่อย และอาการปวดข้อ

ต้นไม้สัญลักษณ์ : เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสมุทรสาคร

การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด

นิเวศวิทยา : มีถิ่นกำเนิดในเอเชียและแอฟริกาเขตร้อน พบขึ้นตามป่าผสมผลัดใบป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น ขึ้นได้ดีในดินร่วนปนทราย

เลียบ (Deciduous Fig)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Ficus superba (Miq.) Miq.

ไม้ต้นผลัดใบ ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 30 เมตร บางครั้งพบเป็นไม้อิงอาศัย เปลือกเรียบสีเทาปนน้ำตาล ทุกส่วนที่มีชีวิตมีน้ำยางสีขาว

ใบ : เดี่ยวเรียงเวียนเป็นกระจุกอยู่ที่ปลายกิ่ง รูปขอบขนานแกมรูปรี หรือรูปไข่ ปลายใบแหลมและงอ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ท้องใบสีเขียวนวล ก้านใบยาวเท่า ๆ กับความยาวแผ่นใบ ปลายกิ่งมีหูใบเป็นติ่งแหลมและมีขนยาวคล้ายไหมสีขาวปกคลุม

ดอก : ขนาดเล็ก แยกเพศ ติดอยู่ภายในฐานรองดอกที่มีรูปร่างคล้ายผล ไม่มีกลีบดอกออกดอกเกือบตลอดปี

ผล : เป็นหน่วยผล เกิดตามกิ่ง รูปร่างกลมแป้น เส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 0.5-1.5 ผลสีขาวและเปลี่ยนสีชมพูและสีดำเมื่อแก่ เรือนยอดเป็นพุ่มกลมหรือรูปร่ม แผ่นกว้าง ปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงาตามริมถนน ไม่ควรปลูกใกล้ทางเดินและอาคารบ้านเรือน เนื่องจากปัญหาเรื่องผลร่วงและรากชอนไชพื้น

ชื่อวงศ์ : Moraceae

ประโยชน์ : ผลเป็นอาหารของนกและสัตว์ต่างๆ ยอดต้นเลียบสามารถรับประทานเป็นผักได้

การขยายพันธุ์ : ปักชำ และเพาะเมล็ด

นิเวศวิทยา : พบขึ้นตามป่าชายหาด และป่าผสมผลัดใบ ขึ้นได้ดีในดินร่วนหรือดินปนทราย ควรปลูกในที่แสงแดดจัด

มะฮอกกานีใบใหญ่ (Honduras Mahogany, Baywood)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Swietenia macrophylla King

เป็นไม้ต้นผลัดใบ ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 15-25 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลเข้มแตกเป็นสะเก็ด

ใบ : ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ มีใบย่อย 3-6 คู่ แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ใบรูปรีหรือรูปขอบขนาน ฐานใบเบี้ยว ใบโค้งเป็นรูปเคียว

ดอก : ออกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง สีเหลืองอ่อนหรือสีเหลืองอมเขียว มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ออกดอกช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม

ผล : รูปไข่ มีเปลือกหนาแข็งสีน้ำตาล เมื่อแก่แตกออกเป็น 5 แฉก เมล็ดจำนวนมากและมีปีก ไม้โตเร็ว เรือนยอดแน่นทึบ รูปทรงกระบอก รูปไข่หรือค่อยข้างกลม นิยมปลูกเป็นไม้ให้ร่มตามลานจอดรถ ตามอาคาร และริมถนน

ชื่อวงศ์ : Meliaceae
ประโยชน์ : เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้างและทำเฟอร์นิเจอร์ราคาแพงใช้ตกแต่งบ้าน ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากเพราะมีทั้งความงดงามของเนื้อไม้บวกกับความง่ายในการแปรรูปเนื้อไม้ เปลือกใช้ทำเชือกหยาบ ๆ ใบให้สีสำหรับย้อมผ้า ใบและดอกอ่อนกินได้

สรรพคุณทางสมุนไพร : เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้ไข้ เจริญอาหาร

การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด

นิเวศวิทยา : มีถิ่นกำเนิดอยู่เดิมในอเมริกากลาง ขึ้นได้ดีในพื้นที่ดินร่วนและมีแสงแดดตลอดวัน

มะขาม (Tamarind, Indian Date)

ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Tamarindus indica L.

ไม้ต้นผลัดใบ ขนาดกลาง สูง 15-20 เมตร เปลือกต้นแตกเป็นร่องตามยาวหรือเป็นสะเก็ด

ใบ : ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ มีใบย่อย 10-20 คู่ ใบย่อยขนาดเล็กรูปขอบขนาน ฐานใบเบี้ยว

ดอก : ออกเป็นช่อตามซอกใบกลีบดอกสีเหลืองอ่อนหรือสีครีมแกมชมพู ออกดอกช่องเดือนมีนาคม-พฤษภาคม

ผล : เป็นฝักรูปขอบขนาน ตรงหรือโค้งเล็กน้อย เปลือกสีน้ำตาล เรือนยอดกลม โปร่งมักปลูกเป็นแนวให้ร่มตามสนามและริมถนน มักมีปัญหาเรื่องใบและฝักร่วง ไม่เหมาะสำหรับที่จอดรถ

ชื่อวงศ์ : Leguminosae – Caesalpinioideae

ประโยชน์ : เนื้อไม้ใช้ทำเขียง ใบ ดอกและฝักใช้เป็นอาหาร

สรรพคุณทางสมุนไพร : เปลือกต้นต้มกับน้ำกินแก้ท้องเดิน เนื้อในฝักเป็นยาระบาย

ต้นไม้สัญลักษณ์ : เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดเพชรบูรณ์

การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด ตอนกิ่ง และทาบกิ่ง

นิเวศวิทยา : มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาเขตร้อน ปัจจุบันปลูกทั่วไปในประเทศเขตร้อนชอบกลางแจ้ง ขึ้นในฝักเป็นยาระบาย