ติ้วเกลี้ยง


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Cratoxylum cochinchinense (Lour.) Bl.

ชื่อวงศ์ : CLUSIACEAE (GUTTIFERAE)

ไม้ต้นผลัดใบ สูงได้ถึง 30 เมตร ทุกส่วนมีน้ำยางสีเหลือง ลำต้นและกิ่งมีหนามแหลมปกคลุมห่าง ๆ

ใบ : รูปรืออกตรงข้ามกัน แผ่นใบบาง ยอดใบอ่อนมีสีแดงเรื่อ หลังผลัดใบจะผลิดอกเป็นกระจุกตามซอกใบและปลายกิ่ง ช่วงฤดูฝน

ดอก : กลีบดอกมี 5 กลีบ สีชมพูอมแดง มีเกสรเพศผู้จำนวนมากและกลิ่นหอมอ่อน ๆ ผลเมื่อแก่จะแตกออกเป็น 3 พูด

เมล็ด : มีปีกบาง ๆ

ประโยชน์ : ยอดอ่อนกินเป็นผักสดกับน้ำพริก ลาบ หรือใส่ในซ่าผักของชาวเหนือรสฝาดมัน มีมากในฤดูร้อน แต่เป็นคนละชนิดกับผักติ้วที่มีใบมันรสเปรี้ยว

สรรพคุณทางสมุนไพร : ด้านสมุนไพร ต้นและรากนำมาผสมกับต้นกำแพงเจ็ดชั้น ต้มน้ำดื่มแก้กระษัย และเป็นยาระบาย ใบและยอดอ่อนมีสรรพคุณเป็นยาระบายอ่อน ๆ เนื้อไม้ใช้ทำฟืน

การขยายพันธุ์ : ติ้วเกลี้ยงชอบดินร่วน ระบายน้ำดี มีอินทรียวัตถุสูง แสงแดดจัดชอบอากาศเย็น ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด เป็นพืชที่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี จึงเหมาปลูกเป็นไม้ประดับ เพราะให้ดอกสวย มีกลิ่นหอม

นิเวศวิทยา : มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในธรรมชาติพบตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้นทุกภาคของไทย

ชุมแสง


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Xanthophyllum lanceatum (Miq.) J.J. Sm.

พบได้ทั่วทุกภาคในไทย เป็นไม้ต้น อายุหลายปี ต้นสูงได้ถึง 1 เมตร

ใบ : รูปขอบขนาน ปลายแหลมแผ่นใบหนาเป็นมัน

ดอก : ช่อดอกออกที่ซอกใบ สีขาว

ผล : ผลรูปไข่ สีเขียว ขนาดประมาณ 2 ซม. เมื่อสุกมีสีเหลืองนวล

ประโยชน์ : ยอดอ่อนนำมาต้มกินกับน้ำพริก ลาบ หรืออาหารรสจัดต่าง ๆ มีให้กินในช่วงปลายฤดูหนาวเข้าฤดูร้อน นอกจากนี้ยังใช้ทำฟืน ส่วนผลสุกใช้เป็นอาหารปลา

สรรพคุณทางสมุนไพร : แก่นต้นนำมาแช่น้ำใช้อาบแก้ฟกช้าภายใน

การขยายพันธุ์ : ชุมแสงชอบดินชุ่มชื้น ทนน้ำท่วมขังได้ดี ชอบแสงแดดตลอดวันขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด สามารถปลูกเป็นไม้ประดับในบ้านได้

สมอพิเภก (Beleric myrobalan)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Terminalia bellirica (Gaertn.) Roxb.

ชื่ออื่น หมากแทน, ลูกเป็นหมอ, พ่อเป็นยักษ์, สมอผลกลม

ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ทรงสูงโปร่ง ผลัดใบ สูง 15-35 เมตร แตกกิ่งก้านไกลต้น

ลำต้น : ลำต้นเปลาตรง โคนต้นมักเป็นพูพอน เปลือกลำต้นผิวเรียบขรุขระเป็นเกล็ด ผสมขุย สีเทาอมน้ำตาลช่วงแรกหรือเป็นสีดำๆ ด่างๆ เป็นแห่งๆ ค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นร่องเล็กๆ ไปตามยาวลำต้น เปลือกในสีเหลือง เรือนยอดกลมแผ่กว้างและค่อนข้างทึบ กิ่งเค้า กิ่งกระโดง จะเป็นการทิ้งช่วงทรงฉัตร กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนประปราย

ใบ : เป็นชนิดใบเดี่ยว ใบหนา ไม่มีก้านใบ ใบสีเขียว ติดเวียนกันเป็นกลุ่มตามปลายๆ กิ่ง ทรงใบรูปรีแกมรูปไข่กลับ กว้าง 9-15 ซม. ยาว 13-19 ซม. ใบรสฝาดหอม เปลือกติดกระพี้รสฝาดมีกลิ่นหอม ผลมีรสฝาดอมเปรี้ยว โคนใบสอบมาสู่ก้านใบ ส่วนที่ค่อนไปทางปลายใบผายกว้าง ปลายสุดจะหยัดคอดเป็นติ่งแหลมสั้นๆ เส้นแขนงใบโค้งอ่อน มี 6-10 คู่ เส้นใบแบบเส้นร่างแหเห็นชัดทางด้านท้องใบ เนื้อใบค่อนข้างหนา หลังใบเขียวเข้มและมีขนสีน้ำตาลกระจายทั่วไป ท้องใบสีจางหรือสีเทามีขนนุ่มๆ คลุม แต่ทั้งสองด้านขนจะหลุดร่วงไปเมื่อใบแก่จัด ขอบใบเรียบ ก้านใบยาว 4-6 ซม. บริเวณกึ่งกลางก้านจะมีต่อมหรือตุ่มหูด หนึ่งคู่

ดอก : เล็ก สีขาวอมเหลือง ออกเป็นช่อเดี่ยวๆ แบบหางกระรอก ที่ง่ามใบหรือรอยแผลใบตามกิ่ง ปลายช่อจะห้อยย้อยลง ช่อยาว 10-15 ซม. ดอกเพศผู้ส่วนใหญ่จะอยู่ตามปลายๆ ช่อ ส่วนดอกสมบูรณ์เพศจะอยู่ตามโคนช่อ กลีบฐานดอก มี 5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยเล็กๆ ทั้งหมดมีขนทั่วไป เกสรเพศผู้มี 10 อัน เรียงซ้อนกันอยู่สองแถว รังไข่ ค่อนข้างแป้น ภายในมีช่องเดียวและมีไข่อ่อน 2 หน่วย หลอดท่อรังไข่มีหลอดเดียว

ผล : กลมหรือกลมรีๆ แข็ง ผิวนอกปกคลุมด้วยขนสีน้ำตาลหนาแน่น ออกรวมกันเป็นพวงโตๆ

ชื่อวงศ์ : Combretaceae

สรรพคุณทางสมุนไพร : ส่วนเปลือกต้นปิ้งไฟให้เหลือง แช่น้ำให้เป็นช่งดื่ม แก้โรคซาง ลูกสมอพิเภท นิยมนำมาฝนทาหัวเด็กแก้ตุ่มน้ำเหลืองเสีย แผลชันนะตุ แก้เลือดลม จุกเสียด เสมหะเป็นกองธาตุ ระบายอุจจาระธาตุ ตำราบางท้องถิ่นนำเอาเปลือกต้นไปผสมกับเปลือกไม้อื่นๆ ทำยาตั้ง ประคบคนเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต

นิเวศวิทยา : ชอบอยู่ในภูมิประเทศ ป่าโปร่ง ทุ่งนา เป็นไม้ป่าที่ราบสูง

กระเจี๊ยบ


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Polyalthia cerasoides

ไม้ต้น ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 5-15 เมตร เปลือกเรียบ กิ่งอ่อนมีขนนุ่มทั่วไป

ใบ : เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานแกมรูปหอก ฐานใบเบี้ยว มน หรือรูปหัวใจ ปลายใบเรียวแหลม ใบอ่อนมีขนนุ่มทั่วไป

ดอก : เดี่ยว หรือออกเป็นกระจุก 1-3 ดอก ตามง่ามใบและเหนือรอยแผลใบ กลีบดอกชุ้นในใหญ่และยาวกว่าชั้นนอกเล็กน้อย เกสรเพศผู้มีจำนวนมากล้อมรอบเกสรตัวเมียเป็นรูปวงกลม

ผล : ผลอ่อนสีเขียวปลายเป็นติ่ง แก่จัดเป็นสีแดงถึงสีดำ

ประโยชน์ : ผลรับประทานได้ มีรสหวาน พบสารต้าน HIV

สรรพคุณทางสมุนไพร : แก้พยาธิตัวจี๊ด ขับเมือกมันให้ลงทวารหนัก

  • ใบ : รสเปรี้ยว รับประทาน กัดเสมหะ ทำให้โลหิตไหลเวียนดี ช่วยย่อยอาหารขับปัสสาวะ ตำพอกฝี ต้มชะบาดแผล
  • กลีบเลี้ยง : รสเปรี้ยว ขับปัสสาวะ แก้เสหะขับน้ำดี ลดไข้ แก้ไอ ขับนิ่วในไต นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ แก้กระหายน้ำ ขับเมือกมันให้ลงสู่ทวารหนัก
  • เมล็ด : รสเมา ขับเหงื่อ ลดไขมันในโลหิต บำรุงโลหิต บำรุงธาตุ ขับน้ำดี ขับปัสสาวะ แก้โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ เป็นยาระบาย กระตุ้นความรู้สึกทางเพศ
  • ผล รสจืด แก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ ลดไขมันในโลกหิต แก้กระหายน้ำ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร

กัลปพฤกษ์ (Horse Cassia, Pink Cassia, Pink Shower,Wishing Tree)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Cassia bakeriana Craib

ไม้ต้น สูงประมาณ 10-15 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาค่อนข้างมาก

พุ่มใบแบนกว้าง ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ใบย่อย 5-8 คู่ มีขนนุ่มปกคลุม

ดอก : ออกเป็นช่อตามกิ่ง ดอกหนึ่งมี 5 กลีบ สีชมพูดอ่อนแกมขาว มักออกดอกในระหว่างทิ้งใบหรือผลิใบใหม่ แต่บางพันธุ์ก็ออกในระหว่างที่มีใบติดอยู่มากได้เช่นกัน เมื่อดอกเริ่มบานเป้นสีชมพู พอใกล้โรยกลายเป้นสีขาว

ผล : เป็นฝักกลมยาว มีขนนุ่มปกคลุม เมื่อแก่มีสีน้ำตาลคล้ำและมีกลิ่นเหม็น ภายในมีเมล็ดกลมแบน

วิธีปลูกและดูแลรักษา : กัลปพฤกษ์เป็นไม้ที่ชอบแสงแดดจัด ควรปลูกในดินปนทรายหรือดินร่วนซุยเพราะสามารถทนแล้งได้ดี และไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรค ส่วนใหญ่มักพบต้นกัลปพฤกษ์ที่ภาคอีสานและภาคเหนือ

ชื่อวงศ์ : Leguminosae Caesalpinioideae

ประโยชน์ : เป็นไม้ยืนต้นที่แผ่กิ่งก้านสาขามาก ให้ร่มเงาในบริเวณกว้าง หรือปลูกเพื่อความสวยงามเพราะกัลปพฤกษ์มีดอกที่สวย เนื้อและเปลือกไม้ มีสารฝาดใช้ฟอกหนัง

สรรพคุณทางสมุนไพร : ฝักใช้ทำยาระบายอ่อนๆ

ต้นไม้สัญลักษณ์ : กัลปพฤกษ์เป็นต้นไม้ที่อยู่ในตำนานสมัยโบราณ ถือว่าเป็นต้นไม้ทิพย์ที่มีคุณวิเศษของเทพเจ้า เป็นหนึ่งในต้นไม้สวรรค์ที่จะบันดาลผลให้สำเร็จตามความปรารถนา และเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะ เชื่อกันว่าบ้านใดปลูกต้นกัลปพฤกษ์ไว้ประจำบ้าน โดยเฉพาะทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้จะเป็นสิริมงคล ทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิต พบแต่ความสุขสมหวังทุกประการ หากผู้ปลูกเป็นผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือและเป็นผู้ประกอบคุณงามความดี ก็จะเป็นสิริมงคลยิ่งนัก เช่นเดียวกับต้นกัลปพฤกษ์ที่มีอายุยืนนาน แผ่กิ่งก้านสาขากว้างใหญ่ กัลปพฤกษ์เป็นไม้ที่พบในประเทศไทยเป็นประเทศแรกและจดทะเบียนชื่อวิทยาศาสตร์ครั้งแรกของโลก นอกจากเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลประจำจังหวัดขอนแก่นแล้ว ยังเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร (ฝ่ายประถม)

การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยการตอนและเพาะเมล็ด ซึ่งการเพาะเมล็ดเป็นวิธีที่นิยมเพราะค่อนข้างได้ผลมากกว่า

นิเวศวิทยา : มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กรรณิการ์


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Nyctanthes arbortristis L.

ไม้ต้น ขนาดเล็ก สูงประมาณ 2-3 เมตร

ใบ : เป็นใบเดี่ยว ผิวใบสากหยาบ คายมือ ใบออกเป็นคู่ๆสลับตามข้อของต้น รูปใบกว้างเหมือนรูปไข่ โคนใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบหยักเล็กน้อย กิ่งก้านเป็นเหลี่ยม มีขน สากมือ

ดอก : ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่งกระจายตามกิ่งก้าน ช่อหนึ่งมี 3-8 ดอก ทยอยบาน แต่ละดอกมี 5-7 กลีบ สีขาวคล้ายดอกมะลิ ต่างกันที่ปลายกลีบ ดอกมี 2 แฉก ขนาดไม่เท่ากัน กลีบดอกบิดเวียนไปทางขวาคล้ายรูปกงจักร และที่โคนกลีบดอกเป็นหลอดดอกสีแสด ส่งกลิ่นหอมแรงตอนกลางคืน พอตอนเช้าดอกจะร่วงจากต้นจนหมด

ชื่อวงศ์ : Oleaceae

ประโยชน์ : หลอดดอกสีแสดของดอกใช้แบบสดๆนำมาตำและคั้นกรองเอาแต่น้ำ จะได้น้ำสีเหลืองแสดสดใส ใช้เป็นสีผสมอาหารและขนม ดอกแห้ง นำไปต้มแล้วกรองเอาน้ำมาใช้ย้อมผ้าไหม จีวรพระ ถ้าเติมมะนาวหรือสารส้มลงไปเล็กน้อยจะช่วยให้สีติดทนนานยิ่งขึ้น

สรรพคุณทางสมุนไพร : ในประเทศอินเดียใช้ใบเป็นยาขับประจำเดือน ในประเทศไทยใช้ใบตำ คั้นเอาแต่น้ำ ใช้เป็นยาระบาย ยาขมช่วยเจริญอาหาร บำรุงน้ำดี และแก้ปวดตามข้อ เปลือกต้น นำมาต้มดื่มแก้ไข้ แก้ไอ แก้ปวดศีรษะ ราก ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงธาตุ เป็นยาอายุวัฒนะ ป้องกันผมหงอก แก้อ่อนเพลีย และบำรุงผิวหน้าให้สดใส ดอก นำมาทำยาหอม แก้ลม แก้ไข้ และแก้พิษทั้งปวง

นิเวศวิทยา : มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย

เต็งหนาม


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Bridelia retusa (L.) A. Juss.

ไม้ต้น สูงถึง 10 ม. พบน้อยที่สูงถึง 20 ม. กิ่งก้านมีขนยาวห่างเมื่อยังอ่อนอยู่ ต่อไปเกือบเกลี้ยง ลำต้นค่อนข้างมีหนาม

ใบ : หูใบ หลุดร่วงง่าย รูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ กว้างประมาณ 2 มม. ยาวถึง 2 มม. มีขนคล้ายเส้นไหมสีขาว ก้านใบ ยาว 7-12 มม. เกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปรี พบน้อยที่เป็นรูปไข่กลับ กว้าง 3-11.5 ซม. เนื้อค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนา ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนนุ่มสั้นถึงหนาแน่น พบน้อยที่เกลี้ยง โคนกลมถึงมน พบน้อยที่ค่อนข้างเป็นรูปหัวใจหรือแหลม ขอบเรียบหรือหยักมนตื้นๆ ปลายมนหรือแหลม พบน้อยที่เว้าตื้น เส้นใบมี 19-23 คู่ พบน้อยที่มี 16 หรือ 27 คู่ ยาวไปจรดกันเป็นเส้นเรียบขอบใบ เส้นใบเห็นชัดทั้งสอดด้าน เส้นใบย่อยเป็นร่างแห

ดอก : ช่อดอก ออกตามกิ่งที่ไม่มีใบ ออกเป็นช่อกระจุก มีดอก 8-15 ดอก พบน้อยที่มี 3 ดอก ดอกไม่มีก้าน ดอกเพศผู้ เส้นผ่านศูนย์กลาง 4-5 มม. สีเขียวอมเหลืองถึงน้ำตาล ดอกเพศเมีย เส้นผ่านศูนย์กลาง 5-5.5 มม. ก้านดอกย่อยยาวถึง 2 มม. กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ เกลี้ยงหรือมีขนยาวห่าง บางทีพบเฉพาะที่ปลาย ติดแน่นเมื่อเป็นผล กลีบดอกมีรูปร่างแตกต่างกัน โคนเป็นรูปช้อน ปลายกลมหรือเป็นพู ขอบรุ่ย เกสรเพศผู้มี 5 อัน เชื่อมติดกัน มีแกนกลางกว้าง 0.2-0.4 มม. ยาว 1-1.3 มม. ก้านเกสรเพศผู้ส่วนที่แยกจากกันยาว 0.8-1 มม. สีขาว อับเรณูรูปไข่ กว้าง 0.3-0.4 มม. สีออกแดงหรือออกชมพู รังไข่รูปกลม มี 2 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียมี 2 โคนเชื่อมติดกัน รวมกับยอดเกสรเพศเมียยาวถึง 1 มม. ยอดเกสรเพศเมียจักเป็น 2 แฉก

ผล : มี 1-3 ต่อหนึ่งกระจุกกลม รูปกลมแบน บางทีปลายแหลมทู่ บางทีเป็น 2 พู กว้าง 5-9 มม. ยาว 5-8 มม. มี 2 ช่อง สีดำ หรือสีน้ำเงินอมดำ ผนังผลชั้นในแข็งมี 2 หน่วย ค่อนข้างกลม กว้าง 6 มม. ยาว 5 มม. หนา 5 มม. สีน้ำตาล

เมล็ด : ค่อนข้างกลม มีร่องด้านข้าง กว้าง 5 มม. ยาว 4.5 มม. หนา 3 มม. สีน้ำตาลแดง

ชื่อวงศ์ : Euphorbiaceae

ประโยชน์ : ผลกินได้มีรสหวาน

สรรพคุณทางสมุนไพร : เปลือกต้นให้ยางสีแดง ผสมกันน้ำมันงาใช้ทาถูแก้ปวดข้อ น้ำต้มเปลือกเป็นยาฝากสมาน กินเพื่อละลายนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

นิเวศวิทยา : พบขึ้นทั่วไปในป่าดิบแล้ง ป่าผลัดใบ และที่โล่งแจ้ง ที่ระดับความสูง 50-600 ม.พบที่ภาคเหนือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี สกลนคร ภาคตะวันออก จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา ภาคกลาง จังหวัดลพบุรี พระนครศรีอยุธยา ภาคตะวันตกเฉียงใต้ จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี ภาคใต้ จังหวัดนราธิวาส เขตการกระจายพันธุ์ ประเทศอินเดีย สิกขิม ศรีลังกา พม่า อินโดจีน จีนตอนใต้ คาบสมุทรมาเลเซีย เกาะสุมาตรา

ทองหลางฝรั่ง


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Hura crepitans L.

ไม้ต้น สูง 15 ม. ตามลำต้นและกิ่งแก่มีหนาม

ใบ : ก้านใบ ยาว 6-22 ซม. ยาวเกือบเท่าใบ ที่ปลายก้านมีต่อมรูปรี 1 คู่ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่หรือรูปรี กว้าง 6-13 ซม. ยาว 7-21 ซม. โคนรูปหัวใจ ปลายเรียวแหลม ขอบจักเป็นฟันเลื่อยชัดเจน หรือบางทีเห็นไม่ชัดเส้นใบเห็นชัดทั้งสองด้าน

ดอก : ช่อดอก ออกเดี่ยวๆตอนแรกสีเขียว แล้วเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม ในช่อส่วนที่เป็นดอกเพศผู้ ยาว 16-45 มม. มีดอกเพศเมียหนึ่งดอกอยู่ที่โคนช่อ ดอกเพศผู้ มีเกสรเพศผู้ 10-20 อัน เรียงเป็น 3 ชั้น ดอกเพศเมีย มีก้านดอกย่อยาวกว่าดอกเพศผู้ ก้านเกสรเพศเมียยาว 9-35 มม. ยอดเกสรเพศเมีย เส้นผ่านศูนย์กลาง 14-26 มม.

ผล : สีเขียว เมื่อแก่สีน้ำตาลแดง กว้าง 8 ซม. ยาว 3-5 ซม. มีร่องตามยาวลึก และเว้าตื้นที่ปลายทั้งสองด้าน ผนังผลแข็ง หนา 3 มม.

เมล็ด : เส้นผ่านศูนย์กลาง 20 มม.

ชื่อวงศ์ : Euphorbiaceae

ประโยชน์ : ปลูกทั่วไปเป็นไม้ประดับ เป็นพืชทางการเกษตร ยางมีพิษใช้เบื่อปลา เนื้อไม้ใช้ทำเฟอนิเจอร์ได้แต่ไม่ทน

สรรพคุณทางสมุนไพร : เปลือก ราก ใช้แก้โรคผิวหนัง ยางมีพิษ อาจทำให้ตาบอดได้ ยางแห้งใช้รักษาโรคผิวหนัง เปลือก ต้น เป็นยาถ่าย อย่างแรง ใบผสมกับน้ำมันทาแก้โรคไขข้ออักเสบ น้ำต้มกินแก้ปวดเรื้อรัง เมล็ดใช้เป็นยาถ่ายและทำให้อาเจียน คั่วให้สุกใช้เป็นยาระบาย

นิเวศวิทยา : ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป เขตการกระจายพันธุ์ เป็นพื้นเมืองของอเมริกาเขตร้อน ตั้งแต่นิการากัวถึงเปรู ปัจจุบันปลูกทั่วไปในเขตร้อน

ตังตาบอด


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Excoecaria oppositifolia Griff.

ไม้ต้น บางทีพบเป็นไม้พุ่ม สูงถึง 13 ม. เกลี้ยง

ใบ : หูใบ ขอบเป็นชายครุย กว้างประมาณ 4 มม. ยาวประมาณ 5 มม. ก้านใบ ยาว 1.3-2.5 ซม. ใบเดี่ยว

ชื่อวงศ์ : Euphorbiaceae

พิษ : ยางจากต้นเป็นพิษ ทำให้ผิวหนังอักเสบบวมแดง

นิเวศวิทยา : พบในป่าดิบ ป่าผสมสลัดใบ มักพบขึ้นตามริมน้ำ ที่ระดับความสูง 80-800 ม. พบที่ภาคเหนือ จังหวัดน่าน ลำปาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย ภาคตะวันออก จังหวัดนครราชสีมา ภาคตะวันตกเฉียงใต้ จังหวัดกาญจนบุรี เพชรบุรี ภาคตะวันออกเฉียงใต้ จังหวัดชลบุรี จันทบุรี ภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เขตการกระจายพันธุ์ ในแคว้นอัสสัม พม่า และอินโดจีน

ตะพง


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Endospermum diadenum (Miq.) Airy Shaw

ไม้ต้น สูง 20-25 ม.

ใบ : ก้านใบ แข็ง สีออกเหลือง มีขน เป็นลาย ที่ปลายมีต่อม 1 หรือ 2 ต่อม หรืออาจไม่มี ใบเดี่ยว เวียนสลับ รูปไข่กลับ หรือรูปหัวใจ กว้าง 4-22 ซม ยาว 7-25 ซม. โคนรูปหัวใจ กลม ตัด หรือแหลม ปลายกลม หรือแหลม เส้นใบออกจากจุดเดียวกันที่โคนใบ 3-9 เส้น ใบด้านล่างมีต่อมจำนวนมาก

ดอก : ออกเป็นช่อ ช่อดอกเพศผู้และช่อดอกเพศเมีย มีขน ช่อดอกเพศผู้ ยาว 7-17 ซม. ดอกเพศผู้ สีขาว มีกลิ่นหอม ไม่มีก้านดอกย่อย หรือสั้นมาก มี 1-3 ดอกอยู่ตามง่ามใบประดับ กลีบเลี้ยงปลายมี 4-5 พู ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้มี 9-11 อัน ยาว 1.7-2.5 มม. ช่อดอกเพศเมีย ยาว 5-15 ซม. มีขนรูปดาว ดอกเพศเมีย มักมี 2 หรือ 3 ดอกอยู่ตามง่ามใบประดับ ก้านดอกย่อยยาว 1.5-5 มม. กลีบเลี้ยงปลายมี 4 หรือ 5 พู ด้านนอกมีขนสั้น รังไข่รูปรี สีเขียว ขนาดเล็ก มี 2 หรือ 3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 1 หน่วย ยอดเกสรเพศเมียเล็ก

ผล : คล้ายผลแบบเมล็ดเดียวแข็ง ยาว 4-8 มม. ผนังผลบาง มียอดเกสรเพศเมียกว้าง 1-2.5 มม. ติดอยู่

ชื่อวงศ์ : Euphorbiaceae

ประโยชน์ : เนื้อไม้ใช้สร้างบ้าน แผ่นกระดาน ทำเกี๊ยะ มักใช้ปลูกป่าทดแทนหรือปลูกให้ร่มเงา

สรรพคุณทางสมุนไพร : รากใช้พอกแผล เปลือกใช้แก้โรคท้องมาน

นิเวศวิทยา : พบในป่าดิบตามริมธารน้ำ ในป่าพรุ ที่ระดับความสูงถึง 200 ม. พบที่ภาคตะวันออกเฉียงใต้ จังหวัดตราด ภาคใต้ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สงขลา เขตการกระจายพันธุ์ มาเลเซีย สุมาตรา บอร์เนียว