ผักชีล้อม


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Oenanthe javanica (Blume) DC.

ชื่อวงศ์ : Apiaceae

เป็นไม้น้ำที่มีลำต้นและใบอวบน้ำ แตกกอสูง 40 – 50 ซม.

ใบ : มีใบแบบขนนก ใบย่อยรูปเรียวแหลม

ดอก : ช่อดอกเป็นร่มอยู่ที่ปลายกิ่ง มีดอกย่อยเล็ก ๆ สีขาวจำนวนมาก

ประโยชน์ : เป็นผักที่ชาวอีสานนิยมเก็บมากินเป็นผักสดกับน้ำพริก ซุบหน่อไม้หรือลาบ ด้วยกลิ่นหอมอ่อน ๆ เวลาเคี้ยว ซึ่งแตกต่างกับผักชีที่ใช้กันทั่วไป จึงช่วยให้เจริญอาหารและขับลมในลำไส้ บ้างก็เด็ดยอดมาผัดน้ำมัน ชาวบ้านในจังหวัดเลยเรียกผักชนิดนี้ว่า “ผักชีช้าง” ส่วนในจังหวัดตากเรียก “ผักอ่าน” ซึ่งนิยมบริโภคเช่นเดียวกัน ให้วิตามินเอและไนอะซินสูง

สรรพคุณทางสมุนไพร : ทั้งต้นแก้บวม แก้เหน็บชา และช่วยขับเหงื่อ ผลและเมล็ดช่วยขับลมในลำไส้ แก้หอบ บำรุงปอด แก้ไอ แก้สะอึก แก้ลมวิงเวียนและแก้อาเจียน

การขยายพันธุ์ : ผักชีล้อมสามารถแยกกอมาปลูกในดินเหนียวที่อุดมสมบูรณ์และมีน้ำตื้น ๆ อาจปลูกในอ่างบัวเป็นไม้ประดับในสวน ในตำแหน่งที่มีแสงแดดส่องถึงราวครึ่งวัน ผักชีล้อมก็จะเจริญเติบโตได้อย่างดี

นิเวศวิทยา : มีถิ่นกำเนิดในประเทศเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน ในไทยพบตามแหล่งน้ำธรรมชาติ

ตับเต่านา(Frog bit)

ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Hydrocharis dubia (Blume) Backer

ชื่อวงศ์ : HYDROCHARITACEAE

เป็นไม้น้ำมีรากหยั่งลึกลงใต้น้ำ ทุกส่วนของต้นอวบน้ำและกรอบหักง่าย

ใบ : ใบรูปหัวใจ ค่อนข้างกลม ปลายใบมน ใต้ใบมีเนื้อเยื่อที่ช่วยให้ลอยน้ำได้

ดอก : ผลิบานอยู่ตามข้อ มีทั้งดอกแยกเพศต่างต้นและดอกแยกเพศร่วมต้น กลีบดอก 3 กลีบ สีขาวบอบบาง ดอกเพศผู้ออกเป็นกระจุก มีเกสรสีเหลืองเรียงเป็นวงล้อมรอบ ดอกเพศเมียออกเป็นดอกเดี่ยว มียอดเกสรเรียงล้อมรอบ

ผล : กลม ผิวเรียบ เมื่อแก่จะแตกออก ภายในมีเมล็ดรูปรีเล็ก ๆ จำนวนมาก

ประโยชน์ : ยอดอ่อนของผักแปะกินเป็นผักสดกับน้ำพริก ส้มตำ ลาบ ก้อย หรืออาหารรสจัดต่าง ๆ มีมากในฤดูฝน และควรล้างน้ำให้สะอาดก่อนนำมาบริโภค เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกในน้ำ ปัจจุบันนิยมปลูกเป็นไม้ประดับในสวนน้ำกันมาก

การขยายพันธุ์ : ผักแปะเจริญเติบโตได้ดีในน้ำที่ลึกไม่เกิน 60 ซม. แสงแดดจัด ขยายพันธุ์ด้วยการแยกต้นมาลอยในน้ำ ปัจจุบันนิยมปลูกเป็นไม้น้ำจัดสวนกันมาก

นิเวศวิทยา : มีการกระจายพันธุ์ในเอเชียได้ถึงเอเชียตะวันออก พบทั่วไปตามท้องนาทั่วทุกภาคของไทย

ผักพาย(Yellow Burhead)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Butomopsis latifolia (D. Don) Kunth

ชื่อวงศ์ : LIMNOCHARITACEAE

เป็นไม้ล้มลุก ต้นสูงได้ถึง 1 เมตร

ใบ : คล้ายรูปใบพายสมชื่อ แผ่นใบมีนวลสีขาวปกคลุม

ดอก : ช่อดอกออกจากซอกกาบใบชูตั้งขึ้น ดอกย่อยเรียงเป็นกระจุกต่าง ๆ กันเป็นชั้น ทยอยบานจากโคนไปยังปลายช่อ ดอกสีขาว มี 3 กลีบบอบบาง เมื่อผลิบานหมดแล้วจะติดผลและตายไป

ประโยชน์ : ชาวอีสานนิยมเก็บยอดและช่อดอกอ่อนที่ยังไม่บานมากินเป็นผักสด หรือลวกกินกับน้ำพริก ลาบ หรือใส่ในแกงหน่อไม้ มีมากในฤดูฝน

การขยายพันธุ์ : ผักพายชอบดินเหนียวชุ่มชื้น มีน้ำสะอาดตื้น ๆ ประมาณ 15 ซม. ขยายพันธุ์ด้วยการแยกกอมาปลูกใหม่ หรือซื้อที่มีขายในท้องตลาดมาลองปักในดินเหนียว ใส่ในอ่างบัวที่มีน้ำตื้น ๆ ไม่นานก็จะแตกราก ผลิดอก และติดเมล็ดได้ เมื่อต้นตาย ถ้ามีเมล็ดร่วงหล่นอยู่บ้าง พอถึงฤดูฝนก็จะงอกและเติบโตใหม่

นิเวศวิทยา : วัชพืชน้ำที่ในปัจจุบันไม่ค่อยพบเห็นมากนัก

ปรงทะเล


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Acrostichum aureum L.

ชื่อวงศ์ : Cycadaceae

เป็นเฟินน้ำที่พบอยู่ทั่วทุกภาคในไทย ถ้ามีโอกาสล่องเรือไปตามลำคลองเล็ก ๆ ชานเมืองกรุงเทพฯ หรือแม้แต่ที่รกร้างชุ่มน้ำ จะเห็นปรงทะเลขึ้นเป็นกออยู่ตามริมตลิ่ง โดยเฉพาะบริเวณที่มีน้ำกร่อย เป็นพุ่มใหญ่ บางต้นใหญ่ถึง 2 เมตร

ใบ : ประกอบแบบขนนก รูปขอบขนาน หนาแข็ง มีใบสร้างสปอร์อยู่ ส่วนปลายของใบประกอบด้วย ที่ใต้ใบอัดแน่นไปด้วยสปอร์สีน้ำตาลแดงทั่วทั้งแผ่นใบ จากลักษณะพุ่มต้นและใบนี้เองจึงดูคล้ายพืชวงศ์ปรง (Cycadaceae) ประกอบกับสามารถเจริญได้ในพื้นที่น้ำเค็มหรือน้ำกร่อย จึงเรียกว่า “ปรงทะเล”

ประโยชน์ : ปรงทะเลไม่เป็นที่นิยมมากนัก เพราะเมื่อเปรียบกับผักอื่น ๆ แล้วจะเก็บมากินได้ยาก ส่วนที่ใช้ประโยชน์คือยอดอ่อน นิยมต้มให้สุกกินกับน้ำพริก ผัดกับไข่ หรือผัดน้ำมัน ให้ใยอาหารและวิตามินบี 2 ค่อนข้างสูง

สรรพคุณทางสมุนไพร : นำเหง้ามาบดให้ละเอียด ใช้รักษาแผลสดหรือแผลน้ำร้อนลวก ใบใช้ห้ามเลือด นอกจากนี้ใบและก้านใบแห้งใช้มุงหลังคาหรือสานเสื่อ มีอายุการใช้งานนานและติดไฟยาก

การขยายพันธุ์ : ปรงทะเลชอบดินชุ่มชื้นแฉะ มักพบอยู่ตามบึงน้ำตื้น ๆ มีแสงแดดจัด ทนแล้งและทนดินเค็ม ขยายพันธุ์โดยการเพาะสปอร์ แต่ส่วนใหญ่มักไม่ต้องเพาะสปอร์เอง เพราะขึ้นได้เองตามหนองน้ำต่าง ๆ จึงสามารถขุดมาปลูกในที่ที่ต้องการได้ นิยมปลูกเป็นไม้น้ำประดับสวนน้ำกันมาก

บอนจีน


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Limnocharis flava (L.) Buchenau

ชื่อวงศ์ : ALISMATACEAE

มีเหง้าสั้น ๆ อยู่ใต้ดิน ต้นสูง 30 – 60 ซม. ทุกส่วนอวบน้ำ

ใบ : ค่อนข้างกลม ขนาด 10 – 12 ซม.

ดอก : ช่อดอกชูขึ้นเป็นกระจุกที่ปลายก้าน มี 3 – 4 กลีบดอก 3 กลีบ สีเหลือง บอบบาง

ผล : เป็นกระจุกแน่น สีน้ำตาลหรือสีดำ

ประโยชน์ : ชาวอีสานนิยมเก็บยอดและช่อดอกอ่อนมากินเป็นผักสดกับน้ำพริก ส้มตำ ลาบ ก้อย หรืออาหารรสจัดต่าง ๆ มีรสฝาดเล็กน้อย มีตลอดปี แต่มีมากในฤดูฝน นิยมปลูกเป็นไม้ประดับริมน้ำกันมาก เพราะเลี้ยงง่าย โตเร็ว

การขยายพันธุ์ : บอนจีนชอบดินเหนียวชุ่มชื้นแฉะ มีน้ำตื้น ๆ มีอินทรียวัตถุสูง แสงแดดครึ่งวัน ขยายพันธุ์ด้วยการแยกกอมาปลูก สามารถปลูกเป็นไม้ประดับในบ่อน้ำหรืออ่างบัวเล็ก ๆ ได้ดี

นิเวศวิทยา : ในไทยพบตามท้องนาน้ำตื้น ๆ

กระจับ (Water chestnut, Water caltrops)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Trapa bispinosa Roxb.

ไม้น้ำ

ใบ : ใบแตกออกรอบเหง้าเป็นรูปวงกลม ใบรูปจักร สีเขียวอมดำแดง ลอยอยู่ตามผิวน้ำ

ผล : ผลเป็นฝักรูปคล้ายหัวกระบือ มีเขาโง้งสองข้าง เนื้อในสีขาว เกิดตามแหล่งน้ำจืดนิ่งๆทั่วไป

ชื่อวงศ์ : ONAGRACEAE

สรรพคุณทางสมุนไพร : ใบ รสเปรี้ยว กัดเสมหะ แก้ไอ ขับเมือกมันในลำไส้ เนื้อในฝัก รสมันหอมหวาน ชูกำลัง บำรุงทารกในครรภ์ แก้อ่อนเพลีย บำรุงร่างกายหลังฟื้นไข้

การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยฝัก หรือแยกหน่อ

บัว (Lotus, Water Lily)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : บัวสาย-Nymphaea lotus L. บัวเผื่อน-Nymphaea nouchali Burm.f. บัวหลวง-Nelumbo nucifera Gaertn.

ไม้น้ำ ประเภทพืชล้มลุก มีอายุหลายปี ลำต้นและหัวอยู่ใต้ดินเรียกว่า เหง้า แต่จะชูก้าน ใบ และดอกขึ้นมาบนผิวน้ำ บัวหลวงสีชมพูพันธุ์ดอกเล็ก เรียกว่า บัวปักกิ่ง บัวหลวงที่มีดอกซ้อนสีขาวเรียกว่า บัวสัตตบุษย์ บัวหลวงที่มีดอกซ้อนสีชมพู เรียกว่า บัวสัตตบงกช ส่วนบัวสายนั้นมีสีชมพูสดออกแดง สีขาว สีชมพูอ่อน มักบานพร้อมกันทั้งสระในเวลากลางคืน

ใบ : มีลักษณะกลม กว้างใหญ่ สีเขียว แผ่นใบเรียบ แต่ละพันธุ์มีลักษณะแตกต่างกันไป

ดอก : เป็นดอกเดี่ยว ชูสง่าเหนือน้ำ ดอกตูมมีลักษณะคล้ายกรวย อวบน้ำ ตรงกลางดอกมีรังไข่และเกสรตัวผู้สีเหลืองเป็นจำนวนมาก กลีบดอกซ้อนกันหลายชั้น เวลาบานจะบานสวยงามสง่าและส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ

วิธีการปลูกและดูแลรักษา : นิยมปลูกบัวในสระหรือในกระถางที่กักเก็บน้ำได้ดี เพราะเป็นพืชที่เจริญเติบโตในน้ำ ควรปลูกด้วยดินเหนียว ชอบแสงแดดตลอดวัน หากดูแลรักษาความสะอาดของดินและน้ำอยู่เสมอ บัวจะผลิตดอกเบ่งบานให้ชมอยู่นานหลายปีตามสายพันธุ์ที่มีหลากหลาย เช่น บัวเผื่อน-บัวผัน ออกดอกตลอดปี มีวีชมพู เหลือง ส้ม ขาว น้ำเงิน ม่วง เป็นต้น แต่ละดอกบานนาน 2-3 วัน

ชื่อวงศ์ : บัวสาย-NYMPHAEACEAE บัวเผื่อน-NYMPHAEACEAE บัวหลวง-NELUMBONACEAE
ประโยชน์ : เมล็ดบัวหลวง เมื่อแกะดีบัวที่มีรสขมอยู่ตรงกลางออก นำไปทำขนมหวาน เช่น ลูกบัวต้มน้ำตาล ใส่ในขนมหม้อแกง หรือบดทำเป็นไส้ขนมไหว้พระจันทร์ รสชาติอร่อย สายบัวหรือก้านบัวอ่อนๆนำมาผัดหรือแกง เช่น แกงสายบัวปลาทู

สรรพคุณทางสมุนไพร : บัวหลวง ใช้ดอกและเกสรตัวผู้ ดีบัว(ไส้ที่อยู่ตรงกลางเมล็ดบัว) ปรุงเป็นยาไทยระงับประสาท ขับเสมหะ บำรุงหัวใจ ขยายหลอดเลือดไปเลี้ยงหัวใจ บางตำราก็ใช้ดีบัวตากแห้งให้หอม ชงกินเช่นเดียวกับน้ำชา รากบัวหลวง หรือภาษาจีนเรียกว่า หน่อยเก๋า นำมาปลอกเปลือกออก หั่นเฉียงบางๆ ต้มกับกระดูกหมู รับประทานเป็นแกงจืด ให้รสหวานอร่อย บำรุงกำลัง หรือทำน้ำรากบัว ต้มดื่มแก้ร้อนใน กระหายน้ำ บัวเผื่อน-บัวผัน และ บัวสาย ดอกใช้แก้ไข้ตัวร้อน บำรุงกำลัง เมล็ดเล็กๆคล้ายเมล็ดฝิ่น คั่วรับประทาน รสหอมมัน บำรุงกำลังและร่างกาย

ต้นไม้สัญลักษณ์ : บัวเป็นดอกไม้ที่คนไทยคุ้นเคยมาตั้งแต่โบราณกาล เป็นมงคลนาม และเป็นดอกไม้ประจำพุทธศาสนา คือ วันวิสาขบูชา มีประวัติยาวนานนับตั้งแต่สมัยพุทธกาล คำสอนของพระพุทธเจ้าได้เปรียบมนุษย์กับธรรมชาติการเกิดของบัวว่า “แม้จะเกิดในโคลนตม แต่เมื่อดอกโผล่พ้นน้ำขึ้นมารับแสงสว่างแล้ว ก็สามารถผลิดกลีบดอกบานสะอาดสวย และส่งกลิ่นหอมได้อย่างบริสุทธิ์ผุดผ่อง เสมือนมนุษย์ เมื่อเกิดมาแล้ว หากเข้าถึงธรรมก็สามารถหลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ทั้งปวงได้” ถือเป็นปรัชญาการดำเนินชีวิตที่ลึกซึ้ง คนไทยแต่โบราณจึงมักใช้ดอกบัวในการบูชาพระและประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอยู่เป็นประจำ แม้แต่การแสดงความเคารพด้วยการประนมมือของไทย เราก็ยังเปรียบว่าคล้ายดอกบัวตูม ในวรรณคดี ดอกบัวถือเป็นไม้มงคล จึงนิยมนำไปตั้งชื่อหญิงสาวมากมาย เช่น นางบัวคลี่ ในเสภา ขุนช้าง-ขุนแผน นางปทุมเกสร ในเรื่อง พระอภัยมณี นางปัทมาวดี ในเรื่อง นิทานเวตาล และกมลา หมายถึงพระลักษมี คือผู้อยู่ในดอกบัว การจัดทัพตามกระบวนทัพที่มีอยู่ในตำราพิชัยสงครามก็มีการกล่าวถึงบัว เช่น การจัดผังทัพเป็นรูปทรงดอกบัวตูม ใช้ชื่อว่า “ปทุมพยุหะ” ซึ่งการจัดทัพแบบปทุมพยุหะนี้เหมาะกับภูมิประเทศที่เป็นที่ราบกลางทุ่ง ใช้ได้ทั้งการตั้งค่อยและยาตราทัพ นอกจากนี้สมัยก่อนบ้านสามโคกซึ่งมีมาแต่แรกสถาปนากรุงศรีอยุธยานั้นได้ขยายเป็นชุมชนใหญ่ มีชาวรามัญอพยพมาอยู่เป็นจำนวนมาก

ในสมัยรัชกาลที่2 พระองค์มีน้ำพระทัยเมตตาต่อครอบครัวชาวรามัญ เสด็จฯทางชลมารคมาเยี่ยมเยียนดูแลทุกข์สุขอยู่เสมอ ชาวรามัญจึงพากันถวายดอกบัวสายเพื่อแสดงความจงรักภักดี พระองค์จึงพระราชทานนามเมืองใหม่แทนบ้านสามโคกเพื่อเป็นสิริมงคลว่า “เมืองปทุมธานี” เพราะแต่เดิมเมืองสามโคกนี้อุดมไปด้วยดอกบัวมาแต่โบราณ จึงมีประเพณีสือต่อกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาว่า พระมหาอุปราชจะลงเรือมาเก็บดอกบัวนำไปถวายพระเจ้าแผ่นดินในการพระราชพิธีเทศน์มหาชาติเป็นประจำทุกปี ในประเทศจีนดอกบัวหลวงถือเป็นดอกไม้ที่สูงกว่าดอกไม้อื่น เพราะจีนถือดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ของความสงบสุข ปัญญา และความบริสุทธิ์จากบาป

ดอกบัวจึงเป็นไม้มงคลที่ได้รับความนิยมและความเชื่อสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันว่าหากบ้านใดปลูกบัวไว้ระจำบ้านทางทิศตะวันตกจะทำให้คนในบ้านเกิดความบริสุทธิ์ เบิกบาน มีสติ และหลุดพ้นจากความทุกข์ นอกจากนี้สายใยของดอกบัวยังเปรียบเสมือนความห่วงใยและความผูกพันของคนในครอบครัวอีกด้วย บัวที่นิยมปลูกเป็นไม้มงคลในปัจจุบัน ได้แก่ บัวหลวง, บัวฝรั่ง, บัวผัน/บัวเผื่อน, บัวสาย/บัวจงกลนี, บัวกระด้ง

การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยการใช้เหง้า แยกกอจากหัวหรือเหง้า หรือเพาะเมล็ด (บัวทุกชนิด)

นิเวศวิทยา : กำเนิดในประเทศไทยและอินเดีย