ข่อย

Siamese Rough Bush, Tooth Brush Tree

ชื่ออื่น: ส้มผ่อ (อีสาน), กักไม้ฝอย (เหนือ), ส้มพอ (เลย), ขรอย, ขันตา (ใต้), สะนาย (เขมร), ตองขะแน่ (กาญจนบุรี)

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Streblus asper Lour.

ชื่อวงศ์: MORACEAE

เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เปลืองบางเกลี้ยง สีออกเทาอมเขียว แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มทึบ

ใบ: ใบเดี่ยวรูปไข่ ขนาดเท่าใบพุทรา หนาสากเหมือนกระดาษทราย

ดอก: ดอกตัวผู้ดอกเป็นช่อมีก้านสั้น สีเหลืองอมเขียวออกขาว ดอกตัวเมียออกเป็นคู่ๆ ก้านยาวสีเขียว

ผล: ผลเล็กสีเขียว เมื่อสุกมีสีเหลือง เหมือนก้นกบ ผิวนั่มใส

เนื้อ: เนื้อรสหวานเมา

เมล็ด: เมล็ดแข็งกลม เท่าเมล็ดพริกไทยล่อน

นิเวศวิทยา: เกิดตามป่าเบญจพรรณทั่วไป

การขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

สรรพคุณ

  • ใบ รสเมาเฝื่อน ตำผสมข้าวสารคั้นเอาน้ำดื่มครึ่งถ้วยชา ทำให้อาเจียนถอนพิษยาเบื่อยาเมา หรืออาหารแสลง ชงกับน้ำร้านดื่มระบายท้อง แก้ปวดท้องขณะมีประจำเดือน แก้ปวดเมื่อย บำรุงธาตุ ขับผายลม แก้ท้องอืดเฟ้อ
  • เปลือกต้น รสเมาฝาดขม ดับพิษในกระดูกในเส้น แก้พยาธิผิวหนัง เรื้อน มะเร็ง ดับพิษทั้งปวง แก้โรคฟัน รักษาฟันให้แข็งแรง แก้ปวดฟัน แก้รำมะนาด หุงเป็นน้ำมันทาหัวริดสีดวง
  • กระพี้ รสเมาฝาดขม แก้พยาธิ แก้มะเร็ง ฝนกับน้ำปูนใสทาแก้ผื่นคัน
  • เยื่อหุ้มกระพี้ รสเมาฝาดเย็น ขูดเอามาใช้ทำยาสูบแก้ริดสีดวงจมูก
  • ราก รสเมาฝาดขม รักษายาดแผล
  • เปลือกราก รสเมาขม บำรุงหัวใจ พบว่ามีสารที่มีฤทธิ์บำรุงหัวใจกว่า 30 ชนิด
  • ลูก รสเมาหวานร้อน บำรุงธาตุ แก้ลม แก้กระษัย ขับลมจุกเสียด เป็นยาอายุวัฒนะ
  • เมล็ด รสเมามันร้อน เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงธาตุเจริญอาหาร ขับผายลม แก้ท้องอืดเฟ้อ แก้โลหิตและลม ขับลมในลำไส้

โกฐกักกรา

เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ส่งมาจากจีนและอินเดีย เหมือนรากชะเอมเทศ แต่ดูเหี่ยวย่น ผิวสำน้ำตาลไหม้ออกดำ เนื้อเหมือนชะเอมเทศ

สรรพคุณ

  • ราก รสสุขุม แก้ลมแก้คลื่นเหียน แก้ดีพิการ แก้ปวดหัวตัวร้อนนอนสะดุ้ง แก้ริดสีดวงทวาร ขับลมในลำไส้

โกฐกะกลิ้ง, แสลงใจ

Button Seed, Dog Button, Nux Vomica

ชื่ออื่น: โกฐกักกลิ้ง, กะจี้, เบ๊ไจ๊จี๊ (จีน), แสลงโทน, แถลง,แสงเบือ (โคราช), ว่านไฟต้น, ตูมกาแดง

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Strychnos nux-vomica Linn. STRYCHINACEAE

เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ใบกว้าง 2 นิ้ว ยาว 3 นิ้ว มีเส้นตาม ยาว 3 เส้น ใบดกทึบ ออกดอกในเดือน ก.ย.-ต.ค.

เปลือกต้น: สีเหลืองอมแดง เนื้อคล้ายไม้พญามือเหล็ก

ดอก: ดอกช่อมีขนาดเล็ก

ผล: ผลกลมโตเหมือนลูกมะตูม

เมล็ด: เมล็ดกลมแบนขนาดประมาณ 1 ซม. ลักษณะคล้ายยางรถยนต์ สีเทาเหลือบขาว หรือสีสวาท เมล็ดที่แก่จัดและแห้ง เรียกว่า โกฐกะกลิ้ง Nux Vomica

นิเวศวิทยา: ขึ้นตามป่าเบญจพรรณทั่วไปในเขตร้อน

สรรพคุณ เป็นยาอันตราย การนำมาทำเป็นยาจะต้องฆ่าฤทธิ์เสียก่อน ตามกรรมวิธีตามหลักเภสัชกรรม

  • ใบ รสเมาเบื่อ ตำพอกแก้แผลเน่าเปื่อยเรื้อรัง
  • เมล็ด รสเมาเบื่อขมจัด บำรุงธาตุ บำรุงหัวใจให้เต้นแรง แก้อัมพาต แก้อิดโรย แก้ไข้เจริญอาหาร ขับน้ำย่อย กระตุ้นประสาทส่วนกลาง บำรุงประสาท หูตาจมูก บำรุงเพศของบุรุษ บำรุงกล้ามเนื้อกระเพาะอาหาร ลำไส้ ให้แข็งแรง แก้โรคอันเกิดจากปากคอพิการ ขับพยาธิ ขับปัสสาวะ แก้พิษงู พิษตะขาบแมลงป่อง แก้ลมกระเพื่อมในท้อง แก้คลื่นเหียน แก้ลมพานไส้ แก้ริดสีดวงทวาร แก้โลหิตพิการ ทำให้ตัวเย็น ขับลมในลำไส้ แก้หนองใน แก้ไตพิการ แก้เหน็บชา แก้เนื้อชา แก้กระษัย ปวดเมื่อย
  • พิษ ส่วนของต้นและเมล็ดทั้งหมด เป็นยาอันตราย ทำให้กล้ามเนื้อกระตุก ขาสั่น ชัก หัวใจเต้นแรง ขากรรไกรแข็งและตายได้

กุ่มบก

ชื่ออื่น:สะเบาถะงัน, เดิมถะงัน (เขมร), ผักก่าม (อีสาน)

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Crateva adansonii DC. ssp. trifoliata (Roxb.) Jacobs

ชื่อวงศ์: CAPPARIDACEAE

เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูง 6-10 เมตร

ใบ: ใบประกอบ ใบย่อย 3 ใบ รูปหอกปลายแหลม โคนสอบแคบ กว้าง 5-6 ซม. ยาว 9-10 ซม. ก้านใบย่อยมีต่อมเล็กๆที่ปลายก้าน

ดอก: ดอกโต 2-5 ซม. สีขาวอมเขียวอ่อนๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองนวลหรืออมชมพู ก้านเกสรตัวผู้สีม่วง ออกเป็นช่อ

ผล: ผลกลม ขนาดประมาณ 1 นิ้ว

นิเวศวิทยา: ขึ้นตามป่าโปร่งทั่วไป ออกดอกพร้อมกับผลัดใบ

การขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

สรรพคุณ:

  • ใบ รสร้อน ขับลม ฆ่าพยาธิ แก้กลากเกลื้อน
  • กระพี้ รสร้อน ทำให้ขี้หูแห้งออกมา
  • แก่น รสร้อน แก้ริดสีดวงผอมเหลือง
  • เปลือกต้น รสร้อน ขับลม แก้ปวดท้อง แก้ลงท้อง ตุมธาตุ ขับผายลม แก้บวม บำรุงไฟธาตุ กระตุ้นลำไส้ให้ย่อยอาหาร บำรุงหัวใจ ทาแก้โรคผิวหนัง เป็นยาระงับประสาท มีคุณเสมอกับเปลือกมะรุมและเปลือกกุ่มน้ำ

กุ่มน้ำ

 

ชื่ออื่น: ร้อถะ (ละว้า-เชียงใหม่), เหาะเถาะ (กะเหรี่งกาญจนบุรี), อำเภอ (สุพรรณบุรี), ผักกุ่ม (อีสาน)

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Crateva magna DC., C. naval Buch.-Ham.

ชื่อวงศ์: CAPPARIDACEAE

เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 10-20 เมตร

ใบ: ใบประกอบใบย่อย 3 ใบ รูปหอกปลายหว้างแหลม โคนสอบแคบ เนื้อหนา หน้าสีเทาอมน้ำตาลมันเงา ท้องใบมีขนอ่อนสีเทา เส้นกลางใบอมแดง ปลายก้านใบมีต่อมน้ำตาลขนาด 1 มม. กว้าง 1-3 นิ้ว ยาว 2-9 นิ้ว

ดอก: ดอกช่อ ยาว4-6 นิ้ว กลีบรองดอกรูปไข่ปลายแหลม กลีบดอกกลมยาว 2-3 ซม. สีขาว เกสรตัวผู้มีก้านสีม่วง

ผล: ผลรูปรีเปลือกหนา ผลอ่อนผิวมีสะเก็ด สีเหลืองอมเทา ผลแก่ผิวเรียบ ยาว 5-8 ซม.

เมล็ด: รูปเกือกม้า ยาว 6-9 มม.

นิเวศวิทยา: เกิดตามริมแม่น้ำลำธาร หนองบึง ตามป่าทั่วไป

การขยายพันธุ์: ชยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

สรรพคุณ:

  • ราก รสสุขุม แก้ปวดท้อง บำรุงธาตุ ขับหนองให้กระจาย
  • ใบ ขมหอม ขับเหงื่อ แก้ไข้ เจริญอาหาร ระบาย ขับพยาธิ แก้ปวดเส้น แก้อัมพาต แก้โรคไขข้ออักเสบ แก้สะอึก ขับผายลม แก้ลมขึ้นเบื้องสูง
  • ดอก รสเย็น แก้เจ็บตา แก้เจ็บในคอ แก้ไข้ครั่นเนื้อครั่นตัว
  • ลูก รสขม แก้ไข้
  • เปลือกต้น รสขมหอม แก้สะอึก ขับผายลม ขับเหงื่อ แก้ริดสีดวงผอมแห้ง ระงับพิษที่ผิวหนัง แก้ไข้ ขับน้ำเหลืองเสีย ขับน้ำดี ขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะ แก้อาเจียน
  • กระพี้ รสร้อน แก้ริดสีดวงทวารหนัก
  • แก่น รสร้อน แก้นิ่ว

กัลปพฤกษ์

กัลปพฤกษ์

 

Pink Cassia, Pink Shower

ชื่ออื่น: ชัยพฤกษ์, กาลพฤกษ์ (เหนือ), กานล์ (เขมร), เปลือกขม (ปราจีน)

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Cassia bakeriana Craib.

ชื่อวงศ์: CAESALPINIACEAE

เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 12 เมตร เปลือกต้นสีเทา เรือนต้นแผ่กว้าง

ใบ: ใบประกอบ มีใบย่อย 5-7 คู่ รูปขนาน ปลายและโคนกลม มีขนอ่อนนิ่มทั้งหลังและท้องใบ

ดอก: ดอกช่อออกตามกิ่ง สีชมพูแล้วเปลี่ยนเป็นขาว ออกดอกหลังผลัดใบ

ฝัก, เมล็ด: ฝักแก่สีน้ำตาลเข้ม มีขนนิ่มปกคลุม ยาว 30-40 ซม. มีผนังกั้นระหว่างเมล็ดหยุ่นๆสีขาวแกมเขียว เมื่อแห้งจะแยกกันเป็นชั้นๆ ปลอกเปลือกออก จะเห็นเป็นรูปเหรียญกลมๆ มีเมล็ดอยู่ภายในเขย่าได้ ตลอดฝัก เมล็ดกลมรีแบน

นิเวศวิทยา: ขึ้นตามป่าเขา ป่าเบญจพรรณทั่วไป

ขยายพันธุ์: ชยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

สรรพคุณ:

  • เนื้อในฝัก รสหวานเอียนขม ระบายอุจจาระธาตุ แก้พรรดึก ไม่ไซ้ท้อง ระบายท้องเด็กได้ดีมาก คนแก่สมัยก่อนใช้กินกับหมาก
  • เปลือกฝัก, เมล็ด รสขมเอียน ทำให้อาเจียน ถ่ายพิษไข้

การบูร

การบูร

Camphor Tree, Laurel Camphor, Gum Camphor, Formosan Camphor

ชื่ออื่น: อบเชยญวน, พรมเส็ง (เงี้ยว), เจียโล่ (จีน)

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Cinnamomum camphor Nees ex Eberm.

ชื่อวงศ์: LAURACEAE

เป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลางถึงใหญ่ สูง 15-30เมตร

ใบ: ดกทึบ ใบเดี่ยว สีเชียว ยาว 7-10 ซม. รูปรีปลายแหลม

ดอก: ดอกช่อ สีขาวอมเขียวหรือเหลือง ขนาดเล็ก ออกเป็นกระจุกตามง่ามใบ ในเดือน มิ.ย.-ก.ค.

ผล: ขนาดเล็กมีเมล็ด 1 เมล็ด ผิวสีชมพูหรือน้ำตาลม่วง

นิเวศวิทยา: เกิดตามป่าดงดิบเขาสูง

ขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและกิ่งตอน

สรรพคุณ

  • เปลือกและราก นำมากลั่นด้วยไอน้ำ ได้การะบูนดิบ
  • ผลการบูร เป็นเกล็ดกลมเล็กๆสีขาวแห้ง อาจจับกันเป็นก้อนร่วนๆแตกง่าย ทิ้งไว้ในอากาศจะระเหิดไปหมด รสร้อนปร่าเมา บำรุงธาตุ ทำให้อาหารงวด ขับเสมหะและลม แก้ธาตุพิการ แน่นจุกเสียด ปวดท้อง ขับลมในลำไส้ แก้ไอ แก้เลือดลม ชูกำลัง แก้คัน แก้โรคตา ขับเหงื่อ แก้ปวดตามเส้น แก้เคล็ดขัดยอก แก้กระตุก แก้ปวดข้อ แก้รอยผิวหนังแตก แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย เป็นยาชาเฉพาะที่ ใช้ปรุงกลิ่นรสในยาอื่น ใช้ในการทำพลาสติกและเซลลูลอยด์ วางไว้ในห้อง ไล่แมลงรบกวน

กานพลู

1-30

ชื่ออื่น: จันจี่ (เหนือ)

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Eugenia caryophyllus (Sprengel) Bullock et Harrison, E. caryophyllata Thunberg., Syzygium aromaticum (Linn) Merr. & Perry., Caryophyllus aromaticus Linn

ชื่อวงศ์:  MYRTACEAE

เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ชอบอากาศร้อนชื้น ฝนตกชุก เช่น ตามชายฝั่งทะเล ปลูกได้จนถึงระดับสูง 900 เมตร ต้นกานพลูจะเริ่มออกดอกเมื่ออายุประมาณ 8 ปี ปริมาณของดอกจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆและมากที่สุดเมื่ออายุ 15-20 ปี และมีอายุถึง 60 ปี ต้นหนึ่งๆให้ดอกกานพลูแห้ง 4-8 กก. ต่อปี

ลำต้น: อาจพบสูงถึง 12 เมตร

ใบ: ใบเดี่ยว รูปหอกปลาย และโคนเรียวแหลม สีเขียวจัดแข็งหนาเป็นมัน กลิ่นหอมเผ็ดร้อนคล้ายใบแก้วแต่โตกว่า

ดอก: เป็นช่อสีเขียวอมแดง

ผล: เล็กกลมยาว 1 ซม. สีน้ำตาลเข้ม

สรรพคุณทางสมุนไพร:

  • ดอก รสเผ็ดร้อนปร่า กระจายเสมหะ แก้เสมหะเหนียว แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้หืด แก้ปวดฟัน แก้รำมะนาด แก้ปวดท้อง แก้ลม แก้เหน็บชา ขับน้ำคาวปลา ทำอุจจาระให้ปกติ นอกจากนี้ในดอกกานพลูยังมีสารอาหารที่มีประโยชน์หลายอย่าง เช่น แคลเซียมและฟอสฟอรัส ช่วยบำรุงฟันและกระดูกให้แข็งแรง
  • น้ำมันกานพลู เป็นยาชาเฉพาะที่ ระงับการกระตุก ขับผายลม แก้ปวดท้อง แก้ท้องขึ้น แก้ปวดฟัน ผสมยากลั้วคอ แต่งกลิ่นอาหาร ขนม เครื่องดื่ม สบู่ ยาสีฟัน ยาดับกลิ่น ไล่ยุงได้ นอกจากนี้ยังสามารถสกัดน้ำมันจากส่วนต่างๆของต้นกานพลูได้อีก เช่น น้ำมันก้านกานพลู, น้ำมันลูกกานพลู แต่ทางด้านเภสัชกรรม ใช้น้ำมันจากดอกตูมของกานพลูเท่านั้น (น้ำมันดอกกานพลูที่ดี จะไม่มีสี หรือมีสีเหลืองอ่อน)

การขายพันธุ์: ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ต้องเพาะทันที อัตราการงอกจะลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อเก็บไว้นานเกิน 1 สัปดาห์

กอมขม

ชื่ออื่น: ดีงูต้น, ตะพ๊านก๊น (เชียงใหม่), กะลำเพาะต้น, หมาชล, ดำ, หยีน้ำเล็ก, กอมขมดำ, หมากกอม (เหนือ), มะปอจอ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), เนียปะโจะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Picrasma javanica Blume

ชื่อวงศ์: SIMARUBACEAE

เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง

ใบ: ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับกัน ใบย่อยรูปหอกขอบขนาน ปลายและโคนแหลม ขอบใบเรียบ เป็นคลื่น กว้าง 1-2 นิ้ว ยาว 3-4 นิ้ว สีเขียวแก่

ดอก: ดอกช่อแบนสีขาว แยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน

ผล: ผลกลมมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ที่ขั้วคล้ายลูกมะเกลือหรือตะโกแต่เล็กกว่า

เปลือก: เปลือกต้นสีหม่น มีกระขาวตลอดต้น

สรรพคุณทางสมุนไพร:

  • เนื้อไม้ รสขมแก้ไข้จับสั่น แก้ไข้ตัวร้อน
  • เปลือกต้น รสขมจัด แก้ไข้จับสั่น ไข้ป้าง ไข้ทุกชนิด มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง

การขยายพันธุ์: ด้วยเมล็ด

นิเวศวิทยา: เกิดอยู่ตามป่าดงดิบและป่าเบญจพรรณทั่วไป

กันเกรา (Tembusu)

ชื่ออื่น: มันปลา (อีสาน), ตาเตรา (เขมร), ตำเสา, ทำเสา (ใต้), ตำมะซู (มลายู), ปันปลา (กบินทร์)

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Fagraea fragrans Roxb.

ชื่อวงศ์: POTALIACEAE

เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง

ใบ: ใบเดี่ยว คล้ายใบพิกุลแต่บางและยาวกว่า สีเขียว ใบอ่อน สีตองอ่อน ผิวมันเงา

ดอก: ดอกเป็นช่อ สีเหลืองส้ม กลิ่นหอมเข้ม

ผล: ผลกลมสีแดง

สรรพคุณทางยา: 

  • แก่น รสมันฝาดขม บำรุงร่างกาย บำรุงธาตุ บำรุงไขมัน เป็นยาอายุวัฒนะ แก้ไข้จับสั่น มองคร่อ หืด ไอ แก้ริดสีดวง แก้ท้องมาน แก้ลงท้อง มูกเลือด แก้แน่นอก บำรุงม้าม ขับลม แก้โลหิตพิการ แก้ปวดแสบปวดร้อนตามผิวหนังและร่างกาย

การขยายพันธุ์: ด้วยเมล็ด

นิเวศวิทยา: เกิดตามป่าเบญจพรรณ