มะละกอ (Papaya, Pawpaw, Tree melon)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Carica papaya L.

เป็นไม้เนื้ออ่อน ลำต้นตั้งตรง สูงได้ถึง 5 เมตร ลำต้นกลวง

ใบ : หยักเว้าเป็นแฉกมาก ออกเวียนรอบต้น ด้านในกลวง

ดอก : ช่อดอกออกที่ซอกใบปลายยอด มีทั้งดอกสมบูรณ์เพศและดอกเพศเมียอยู่บนต้นเดียวกัน ส่วนดอกเพศผู้อยู่ต่างต้นกัน

ผล : ทรงกระบอกหรือคล้ายน้ำเต้า เมื่อสุกเนื้อในมีสีส้ม มีเมล็ดสีดำจำนวนมาก รอบเมล็ดมีเมือกใสปกคลุม

ข้อควรระวัง : ไม่ควรกินผลสุกติดต่อกันนาน เพราะจะเกิดการสะสมของสารแคโรทีนอยด์ ทำให้ผิวมีสีเหลืองที่เรียกว่าโรคแคโรทีนีเมีย (Carotenaemia) แก้ไขได้โดยกินให้น้อยลง และทิ้งระยะห่างไปบ้างจนกว่าจะหาย

ชื่อวงศ์ : Caricaceae

ประโยชน์ : ยอดอ่อนนำมาย่างไฟหรือต้มจิ้มน้ำพริก มีรสหวานอ่อน ๆ ผลอ่อนใช้ปรุงอาหาร เช่น แกงส้ม แกงกะทิ แกงเลียง แกงไตปลา ใช้ทำส้มตำ ต้มจิ้มน้ำพริก บ้างก็เชื่อมกินเป็นขนม หรือหมักเกลือและตากแห้งใส่ในตังฉ่ายหรือผักดอง ผลสุกกินเป็นผลไม้ ช่วยระบายท้อง และให้เบต้าแคโรทีนสูง มีให้เลือกหลายพันธุ์ รสชาติแตกต่างกัน

สรรพคุณทางสมุนไพร : ใบต้มน้ำดื่มบำรุงหัวใจ ขับพยาธิ แก้ไข้ ขับปัสสาวะ ผลสุกช่วยระบายและบำรุงน้ำนม ยางจากผลดิบช่วยกัดผิวที่แข็งด้าน เช่น หูด ไฝ แก้ส้นเท้าแตก แก้ตะขาบกัด และช่วยฆ่าพยาธิหลายชนิด นอกจากนี้ยังใช้หมักเนื้อสัตว์ได้ดี เนื่องจากมีเอนไซม์ “ปาเปน” (papain) หรือเรียกว่า “ผงเปื่อย” ที่ช่วยให้เนื้อนุ่ม จึงไม่ควรกินผลดิบสด ๆ เพราะอาจทำให้ปากเปื่อยได้ บ้างก็ว่ายางมะละกอนำมาต้มกับเสื้อทำให้เสื้อขาวสะอาด

การขยายพันธุ์ : มะละกอชอบดินร่วน ระบายน้ำดี มีอินทรียวัตถุสูง แสงแดดตลอดวัน เพียงนำเมล็ดที่ล้างเมือกออกแล้วหว่านลงในแปลงเพาะ ประมาณ 10 วัน เมล็ดเริ่มงอก เมื่อมีใบแท้ 3 – 4 ใบ จึงย้ายลงปลูกใน หลุมห่างกัน 3 – 4 เมตร เริ่มให้ดอกครั้งแรกหลังปลูก 3 – 4 เดือน

ต้นไม้สัญลักษณ์ : ถ้าปลูกมะละกอแล้วจะทำให้อยู่ไม่เป็นสุข

นิเวศวิทยา : มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้