กลอย


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Dioscorea hispida Dennst He.

ไม้จำพวกหัว ต้นเป็นเถาเลื้อยไปตามดิน หรือพากพันต้นไม่อื่น

ใบ : ใบย่อย 3 ใบ คล้ายถั่ว มีหนามแหลมตลอดเถา

ดอก : ดอกเล็กๆ สีเขียวอ่อน เป็นช่อระย้า เกิดตามป่าชื้นทั่วไป

ชื่อวงศ์ : DIOSCOREACEAE

สรรพคุณทางสมุนไพร : หัว รสเมาเบื่อ กัดเถาดานในท้อง หุงเป็นน้ำมันใส่แผลกัดฝ้ากัดหนอง

การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยแยกหน่อ

ตำลึง


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Coccinia grandis (L.) Voigt

ชื่ออื่น คนเมืองเหนือเรียก ผักแคบ กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอนเรียก แคเค๊าะ บางท้องถิ่นเรียก ผักสี่บาท

ตำลึงเป็นไม้เลื้อย มีเนื้อแข็ง ใบเดี่ยว สีเขียว ลักษณะใบค่อนข้างกลม มีเหลี่ยมหักเป็น 5 มุม เรียงสลับกัน

ใบ : ใบเว้าลึกเป็นแฉกสวยงามทีเดียว ความกว้างประมาณ 5-8 เซนติเมตร มีมือเกาะเป็นเส้นยาว เพื่อพยุงตัวให้มีหลัก เพื่อจะเลี้อยไปตามต้นไม้ต่างๆ หรือสิ่งอื่นๆที่อยู่ใกล้เคียง มือเกี่ยวเหนียวๆ จะงอกออกตามข้อของลำต้น ตำลึงออกดอกเป็นสีขาวรูปคล้ายกับระฆัง

ผล : เมื่ออ่อนอยู่จะเป็นสีเขียวมีลายสีขาวนวล คล้ายกับผลแตงกวาแต่มีขนาดเล็กกว่า เมื่อผลแก่สีจะออกเป็นสีแดง มีรสออกขม ต้นตำลึงมักขึ้นตามริมรั้ว ข้างถนน ป่าละเมาะ เจริญงอกงามได้ดีในดินทั่วไป

ชื่อวงศ์ : Cucurbitaceae

ประโยชน์ : นำมาปรุงอาหารรับประทานได้ เช่น แกงจืดหมูบะช่อหรือหมูสับ

สรรพคุณทางสมุนไพร : เป็นยาช่วยลดน้ำตาลในเลือด

การขยายพันธุ์ : นำเมล็ดมาเพาะปลูกหรือนำเถาที่แก่กำลังเหมาะมาปักชำ ยาแก้แพ้ แก้คัน แก้อักเสบ จากแมลงสัตว์กัดต่อย ช่วยย่อยอาหารจำพวกแป้ง เนื่องจากมีเอนไซม์อะไมเลส

มะระ (Bitter Cucumber, Balsum Pear)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Momordica charantia L.

ชื่ออื่น ภาคเหนือ มะไห่ มะห่อย มะนอย กะเหรี่ยง, แม่ฮองสอน สุพะซู สุพะเด สงขลา ผักเหย, นครศรีธรรมราช ผักไห่, ภาคกลางบางแห่ง มะร้อยรู

ต้นมะระเป็นเถาไม้เลื้อยไปได้ มีมือเป็นเส้นยาวเกาะเกี่ยวสิ่งต่าง ๆ เพื่อความมั่งคงของลำต้น เลื้อยพันไปตามกิ่งไม้ต่าง ๆ บนค้างหรือสิ่งที่อยู่ใกล้

ใบ : ใบมะระมีสีเขียว มีแฉกหยัก เป็นพืชใบเดี่ยว

ดอก : ออกดอกเป็นสีเหลือง มีดอกตัวผู้ ดอกตัวเมีย อยู่คนละดอก

ผล : ผิวของผลมะระนั้นขรุขระ สีขาวอมเขียว มะระขี้นก ผลเล็ก ๆ ยาวประมาณ 2-3 นิ้วเศษ หากเป็นมะระจีนมีผลยาวประมาณ 5 นิ้ว ถึง 1 ฟุต อยู่ที่การบำรุงรักษาและการเพราะปลูก

ชื่อวงศ์ :Cucurbitaceae

สรรพคุณทางสมุนไพร : ช่วยเจริญอาหาร รักษาชันนะตุ รักษาอาการเบาหวาน

พลู (Betel)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Piper betle Linn.

ชื่ออื่น พลูเคี้ยว, พลูบ้าน, เปล้าอ้วน ซีเก๊าะ (มลายู – นราธิวาส ), พลูจีน (ภาคกลาง)

พลูเป็นไม้เลื้อย เป็นประเภทไม้เนื้ออ่อน มีข้อและปล้องชัดเจน มีลำต้นเป็นเถา มีรากงอกตามปล้อง ที่ข้อมีรากสั้น ๆ ออกรอบข้อ เป็นลักษณะมือเกาะ มักนิยมทำจากไม้เสา ไม้ปักหลัก หรือปลูกขึ้นตามต้นไม้อื่น มีสองสายพันธุ์คือ พลูเขียวและพลูเหลือง เถาแก่ส่วนเหง้า เป็นสีเทาผิวขรุขระเป็นปล้องมีรากตามปล้อง เถากลางอ่อนกลางแก่ เรียกว่าเถาพอเพสลาด จะเป็นสีน้ำตาลปนเทา เถาอ่อนส่วนยอดจะเป็นสีน้ำตาลปนแดง ความโตของเถาส่วนเหง้าประมาณเท่าหัวแม่มือ นิ้วมือ ปากกา แล้วแต่ความอุดมสมบูรณ์

ใบ : เป็นใบเดี่ยวติดกับลำต้นแบบสลับ ลักษณะของใบแหลมคล้ายใบโพมีผิวใบมัน โกบมาด้านหน้าใบ ใบโต ปลายใบแหลม มีก้านใบยื่นออกจากปล้องเถาใบเดี่ยวรูปใบพลู มีดอกคล้ายดอกช้าพลู ใบอ่อนสีเขียว ใบแก่สีเหลือง

รสกลิ่น : ราก ต้น ผล ใบ ดอก รสเผ็ดร้อน กลิ่นหอม-ร้อน

การปรุงยา : นำต้นชะพลูทั้งต้นล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำมาหั่นเป็นท่อนสั้นๆ ประมาณ 2 กำมือ ใส่น้ำลงประมาณ 4 แก้ว เคี่ยวจดงวดเหลือน้ำประมาณ 2 แก้ว ต้มเป็นยา นำมาดื่มเป็นยา

ชื่อวงศ์ : Piperaceae

ประโยชน์ : คนไทย คนลาว และคนพม่ามักนิยมนำมาเคี้ยวกับหมากและแก่นคูณ แต้มด้วยปูน สีฟันด้วยยาสูบ เคี้ยวปนสีเสียด จึงเป็นพืชที่คู่วัฒนธรรมท้องถิ่นโบราณ

สรรพคุณทางสมุนไพร : รสเผ็ดร้อนแก้ลมพิษ ลมในลำไส้ แต้มปูนต้มจิบแก้ไอ ตำผสมปูนพอกรอบหัวผีดูดหนอง พอกแผลสด ห้ามเลือด ตำดองสุราขาวหรือแอลกอฮอล์ ทาบริเวณที่เป็นลมพิษ ปิ้งหรือลนไฟประคบลดอาการอักเสบแผลฟกช้ำ รักษาอาการโรคเบาหวาน ลดน้ำตาลในเลือด ส่วนรากรักษาอาการผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร ช่วยย่อย

การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์ด้วยการปักกิ่งชำ ใช้ลำดับต้น 3-5 ข้อ ปักชำจนรากงอกพอสมควร ย้ายกล้าปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ ทำค้างให้เถาพลูเลื้อย คอยดูแลความชุ่มชื้นและควรอยู่ในที่แสงแดดรำไร กำจัดวัชพืชและศัตรูพืช จำต้องให้ปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอ เช่น 15 วันต่อครั้ง

นิเวศวิทยา : พลูถือว่าเป็นไม้ไทย หรือไม้เทศในเมืองไทย เพราะพบในประเทศไทย ลาว กัมพูชา

ส้มป่อย


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Acacia concinna (Willd.) D.C.

ชื่ออื่น เครือส้มป่อย

ไม้พุ่มรอเลื้อย เป็นเครือมีหนาม คล้ายผักขา ปักหละ ชะอม ส่วนยอดคล้ายยอดชะอมหรือผักขา ยอดส้มป่อยสีจะออกแดงน้ำตาล มีรสเปรี้ยว เป็นเครือมีหนามตามลำต้น กิ่ง ก้านและใบ คล้ายผักขา ปักหละ ชะอม ส่วนยอดคล้ายยอดชะอมหรือผักขา ยอดส้มป่อยสีจะออกแดงน้ำตาล มีรสเปรี้ยว หนามอยู่ตามต้นออกสีน้ำตาลดำ ถ้ามีอายุมากจะไม่มีหนาม

ใบ : ประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ ยาว 7-20 ซม. ใบย่อยรูปขอบขนาน ขนาดเล็ก เริ่มออกดอกเดือน 3-4 เมล็ดออกสีดำแก่เมื่อเข้าเดือน

ดอก : 6 ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ เป็นช่อกลม กลีบดอกเป็นหลอด สีนวล ดอกคล้ายดอกกระถิน สีขาวปุยอมน้ำตาล ทรงกลม ฝักแก่ ความยาวประมาณ 1นิ้ว แบน อ้วน เป็นปล้องสีน้ำตาลอมเหลืองเรื่อๆ

ผล : ผลเป็นฝัก สีน้ำตาลดำ ผิวย่นขรุขระ ขอบมักเป็นคลื่น

ชื่อวงศ์ : LEGUMINOSAE – MIMOSOIDEAE

ประโยชน์ : ยอดอ่อนกินเป็นผักสดกับน้ำพริก จิ้มแจ่ว หรือใช้ปรุงอาหารได้หลายอย่าง เช่น แกงส้ม ต้มยำ ต้มปลาให้รสเปรี้ยว ใช้แทนน้ำมะขามเปียกหรือใส่ร่วมกันก็ได้ มีมากในฤดูฝน

สรรพคุณทางสมุนไพร : ใบรสเปรี้ยว ขับเสมหะ เป็นยาระบาย ยอดอ่อนใส่ต้มปรุงอาหาร ทำเป็นยาอบ ยาประคบ ขับของเสียออกจากร่างกายแต่แสลงต่อโรคน้ำเหลืองเสีย เครือ เปลือกเครือ สมานแผล สมานลำไส้ แก้ถ่าย บิด ท้องเสีย ควรนำมาปิ้งไฟก่อนต้มน้ำกินรักษาอาการท้องเสีย ถ่ายจะได้ไม่หยดกะทันหัน จะไม่ชวนอาเจียน

ต้นไม้สัญลักษณ์ : เกร็ด ส้มป่อยเป็นไม้มงคลของไทย ควรปลูกในทิศเหนือ จะช่วยป้องกันสิ่งเลวร้ายหรือภูตผีให้กับบ้านเรือนได้ นอกจากนี้ชาวเหนือยังนำฝักส้มป่อยมาปิ้งไฟพอเหลือง แช่ในน้ำ แล้วนำน้ำที่ได้ไปทำน้ำมนต์ หรือในงานเผาศพ เจ้าภาพจะเตรียมน้ำส้มป่อยให้ผู้ร่วมงานใช้ล้างหน้าหลังเผาศพ เพื่อปัดเป่าความเศร้าโศกให้หายไป บ้างก็นิยมพกฝักส้มป่อยไปในงานศพ เพื่อป้องกันภูตผีปีศาจหรือสิ่งเลวร้ายต่าง ๆ ในวันสงกรานต์ ชาวเหนือจะนำฝักส้มป่อย ดอกคำฝอย และดอกสารภี แช่น้ำจนมีสีเหลืองของดอกคำฝอย เรียกว่าน้ำขมิ้นส้มป่อย ใช้สรงน้ำพระและรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่

การขยายพันธุ์ : ส้มป่อยชอบดินร่วน ระบายน้ำดี แสงแดดตลอดวัน ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด ปักชำหรือตอนกิ่ง ชาวเหนือนิยมปลูกเป็นไม้ริมรั้วในสวนหลังบ้าน โดยทำเป็นซุ้มไม้ให้ต้นพาดเลื้อย เพื่อสะดวกในการเก็บไปใช้ประโยชน์

นิเวศวิทยา : เป็นไม้ป่า ชอบอยู่กับต้นไม้อื่นแบบพึ่งพาพาดพันไม้ที่ใหญ่ดิน จอมปลวก ดินร่วนปนทรายแบบดินดง ไม้อยู่เดี่ยวไม่มีต้นไม้อื่นจะอยู่เป็นพุ่มแข็งแรงพาดกันเอง อยู่ในภูมิประเทศและอาณานิคมเดียวกันกับเครืออีเลี่ยน หรืออ้อยสามสวนเครือ ชะเอมป่าหน้าคล้ายกัน ต่างกันที่รสและไม่มีหนาม

รสสุคนธ์ขาว


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Tetracera loureiri (Finet&Gagnep.) Pierre

ไม้เถาเลื้อย เนื้อไม้แข็ง กิ่งก้านเหนียว มีขุยบางๆสีน้ำตาลแก่รอบกิ่งอ่อน เปลือกต้นผิวเรียบ สีน้ำตาลปนเทา

ใบ : เป็นใบเดี่ยว ออกสลับ รูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายแหลม โคนใบสอบ ขอบใบหยักฟันเลื่อย เนื้อใบสากคายมือ

ดอก : ออกเป็นช่อตามซอกใบปลายกิ่ง มี 5 กลีบ รูปกลมงุ้มงอ สีขาวนวลบาง ร่วงหลุดง่าย มีเกสรเพศผู้สีขาวเหมือนเส้นด้ายกระจายเป็นพุ่มฝอนกลมๆอยู่เป้นจำนวนมาก รอบๆดอกเมื่อดอกร่วงหมดจึงติดผลกลมรีเนื้อในสีแดง ภายในมีเมล็ดรูปไข่ 1-2 เมล็ด ออกดอกดกช่วงเดือนเมษายนถึงสิงหาคม

วิธีการปลูกและดูแลรักษา : รสสุคนธ์ขึ้นได้ดีในดินทุกชนิดและทุกสภาะอากาศ เป็นไม้ดอกที่ออกตลอดปี โดยจะเบ่งบานมากเป็นพิเศษในฤดูฝน นิยมปลูกเป็นไม้เถาเลื้อยประดับรั้วแนวซุ้มกำแพง

ชื่อวงศ์ : DILLENIACEAE

ประโยชน์ : ให้ความหอม ความสวยงาม เป็นไม้ประดับอาคารบ้านเรือน ใบ นำมาใช้แทนกระดาษทรายได้

สรรพคุณทางสมุนไพร : ดอก ช่วยบำรุงหัวใจโดยปรุงเป็นยาหอม ใบ ใช้รักษาโรคหิด

ต้นไม้สัญลักษณ์ : รสสุคนธ์หรือเสาวคนธ์แปลว่า เครื่องหอม กลิ่นหอม และเป็นชื่อดอกไม้ชนิดหนึ่งที่คนไทยโบราณตั้งขึ้น ดอกรสสุคนธ์เป็นดอกที่สวยงามทั้งยังมีกลิ่นหอมมาก หอมนานตลอดทั้งวัน คนสมัยก่อนจึงนิยมนำมาตั้งชื่อลูกสาว และกลายเป้นไม้มงคนที่นิยมปลูกตามบ้านเรือน โดยเชื่อกันว่า ผู้ใดที่ปลูกรสสุคนธ์จะเป็นผู้ดี มีความงามบริสุทธิ์ทั้งกายใจ มีชื่อเสียงดีเหมือนเถารสสุคนธ์ที่เลื้อยไปได้ไกล

การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดและตอนกิ่ง

นิเวศวิทยา : รสสุคนธ์ขาวมักพบตามป่าละเมาะ ป่าผลัดใบและชายทะเล

ชวนชม (Impala Lily)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Adenium obesum (Forssk.) Roem.

พรรณไม้ลำต้นอวบน้ำขนาดเล็ก ลำต้นมียาง สีขาวคล้ายน้ำนม สูง 1.20-2 เมตร ผิวเปลือกเรียบมัน สีเขียวอมขาว แตกกิ่งก้านสาขาเป็นทรงพุ่มโปร่ง

ใบ : เป็นใบเดี่ยว รูปไข่กลับ ปลายมนโคนใบสอบ มีลักษณะแข็งเป็นมันสีเขียว มีเส้นกลางใยสีขาว ออกเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง

ดอก : ออกที่ปลายยอดเป็นรูปแตร ปลายแยกเป็น 5 กลีบ เดิมชวนชมมีสีชมพูสีเดียว แต่ปัจจุบันมีการนำสายพันธุ์ต่างประเทศมาปลูกเพื่อพัมนาสายพันธุ์ ทำให้มีชวนชมสีใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย เช่น สีแดง บานเย็น สีขาวขอบชมพู สีแดงขอบขาว เป็นต้น ทั้งขนาดลำต้นก็มีตั้งแต่ต้นขนาดเล็กประมาณ 30 เซนติเมตร เรียกว่า “ชวนชมแคระ” ความสูงแตกต่างกันไป

วิธีปลูกและดูแลรักษา : ชวนชมชอบดินร่วนซุยหรือดินปนทราย ระบายน้ำได้ดี ต้องการน้ำน้อยและแสงแดดจัด ไม่ค่อยพบปัญหาเรื่องโรคและศัตรูพืช สามารถทนต่อความแห้งแล้งเพราะลำต้นอุ้มน้ำได้ดี จึงได้รับสมญานามว่า “Desert Rose” หรือ “กุหลาบทะเลทราย”

ชื่อวงศ์ : Apocynaceae

ประโยชน์ : นิยมปลูกลงกระถางเป็นไม้ประธานในสวนหย่อม เนื่องจากเป็นไม้รูปทรงสวย ปลูกริมถนน ริมสระว่ายน้ำ หรือสวนกรวด ได้อย่างสวยงาม เพราะออกดอกตลอดปีและมีสีสันสวยงาม

ต้นไม้สัญลักษณ์ : ชวนชมเป็นไม้ต่างถิ่นที่นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยกว่า 70 ปีแล้ว กล่าวกันว่า ชวนชมเป็นไม้ดอกที่ปลูกอยู่ในเขตพระราชวังมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่6 โดยพระนางเธอลักษมีลาวัณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเจ้านายพระองค์แรกที่นำชวนชมมาปลูกไว้ในตำหนักลักษมีวิลาส และประทานชื่อดอกไม้ชนิดนี้ว่า “ชวนชม” คนจีนเรียกชวนชมว่า “ปู้กุ้ยฮัว” แปลว่า ดอกไม้แห่งความร่ำรวย สำหรับคนไทยเชื่อว่าชวนชมเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง เพราะมีชื่อที่ไพเราะเป็นสิริมงคล และเคยปลูกในเขตวังหลวงมาก่อน จึงนิยมปลูกชวนชมไว้ประจำบ้าน เพื่อให้คนในบ้านได้รับความนิยมชมชอบและเกิดเสนห์ดึงดูดใจให้คนชวนมองชวนชมนั่นเอง

การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยการปักชำ เพาะเมล็ดและเสียบยอด

นิเวศวิทยา : มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบแอฟริกา

ขจร (Cowslip creeper)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Telosma minor Craib

พรรณไม้เถาเลื้อย ล้มลุก เนื้อแข็ง อยู่ในวงศ์เดียวกับต้นรักและนมตำเลีย เถากลมเล็ก มียางสีขาวคล้ายน้ำนม ผิวไม่เรียบ สีขาวอมเทา

ใบ : ออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน ปลายแหลมเรียวคล้ายรูปหัวใจ และสามารถเลื้อยไปได้ไกลบนต้นไม้สูง

ดอก : ออกเป็นช่อห้อยลง โคนกลีบเป็นหลอด ปลายกลีบดอกกางออกเป็นห้าแฉก ทยอยบานในช่อ เวลาบานใหม่ๆดอกเป็นสีเขียวอมเหลืองหรือเหลืองส้มในบางพันธุ์เมื่อเริ่มแก่ ขจรออกดอกดกในฤดูฝน ส่งกลิ่นหอม ขจรขจายไปไกลสมชื่อ บางตำราว่ากลิ่นหอมเหมือนใบเตย

ฝัก : คล้ายกระสวย ภายในมีเมล็ดมาก เมื่อฝักแก่แตกออกจะมีเมล็ดเกาะติดกับพู่ใยสีขาวละเอียด ปลิวว่อนไปตามแรงลม

วิธีการปลูกและดูแลรักษา : ขจรเป็นไม้ที่ปลูกง่าย ขึ้นเองตามธรรมชาติในป่าดิบและป่าละเมาะ ชอบความชุ่มชื้นพอสมควร และเจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด

ชื่อวงศ์ : Asclepiadaceae

ประโยชน์ : บางท้องถิ่นนิยมใช้ดอกขจรเข้าเครื่องหอม รับประทานได้และมีคุณค่าทางอาหาร นิยมใช้ยอดอ่อน ดอกตูมและบานในต้นฤดูฝนมารับประทานเป็นผัก ให้รสจืดหวาน สามารถรับประทานสดๆหรือลวกจิ้มน้ำพริก ใส่ในไข่เจียวหรือปรุงเป็นแกงจืด แกงส้มดอกขจร ฝัก นำมาต้มรับประทานเป็นผักได้ เถา มีความเหนียว แข็งแรง ทนทาน นำมามัดยึดเสาหรือใช้แทนเชือกได้

สรรพคุณทางสมุนไพร : ช่วยบำรุงตับ ปอด แก้เสมหะ และฟอกโลหิต ราก นำมาผสมยาหยอดตา ใช้รักษาตาแฉะ ตาแดง ตาบวม ถอนพิษเบื่อเมา ช่วยให้อาเจียน ดับพิษ และแก้โรคโลหิตเป็นพิษ

ต้นไม้สัญลักษณ์ : คนไทยโบราณนิยมปลูกดอกขจรไว้ริมรั้วบ้าน เพราะเป็นไม้เถาเลื้อยที่มีรูปใบสวย คล้ายหัวใจ ดอกก็ส่งกลิ่นหอม และรับประทานเป็นผักได้อร่อย ปรุงอาหารได้หลายหลายชนิด ประกอบกับชื่อ “ขจร” และความหอมของดอก คนไทยโบราณจึงเชื่อกันว่ะ บ้านใดปลูกดอกขจรไว้จะส่งเสริมให้คนในบ้านมีชื่อเสียงคุณงามความดีหอมขจรขจายไปทั่วเหมือนดอกขจรนั่นเอง

การขยายพันธุ์ : นำกิ่งแก่มาปักชำหรือนำเมล็ดจากฝักแก่มาเพาะไว้ริมรั้วบ้าน

นิเวศวิทยา : มีถิ่นกำเนิดในจีน อินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โคคลาน


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Croton caudatus Geiseler

ไม้เลื้อย กึ่งไม้พุ่ม ตามกิ่ง ใบและดอกมีขนรูปดาว เมื่อสัมผัสจะรู้สึกคายมือ

ใบ : ก้านใบ ยาว 1-4 ซม. ใบเดี่ยว เรียงสลับ มีรูปร่างและขนาดต่างๆกัน ตั้งแต่รูปใบหอก รูปไข่ ถึงรูปกลมแกมรูปหัวใจ กว้าง 2.5-10 ซม. โคนมนหรือเว้าเล็กน้อย เป็นรูปหัวใจ มีต่อมสองต่อมที่โคนติดกับก้านใบ ต่อมมีลักษณะคล้ายรูปกรวย ก้านยาว 0.5-1 มม. ขอบหยักไม่สม่ำเสมอ ปลายแหลมถึงเรียวแหลม มีเส้นใบออกจากโคน 1 คู่ และออกจากเส้นกลางใบ 2-3 คู่ ด้านบนเกลี้ยงหรือสาก ด้านล่างสากหรือมีขนหนา

ดอก : ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ยาว 7-25 ซม. ใบประดับรูปเรียว ปลายแหลม หรืออาจไม่มี มีขนรูปดาว ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่บนต้นเดียวกันดอกเพศผู้ ดอกตูมมีลักษณะกลม กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ รูปไข่แกมสามเหลี่ยม ยาว 2.5 มม. มีขน กลีบดอกรูปไข่กลับ เกสรเพศผู้มี 18-40 อัน ก้านเกสรมีขนที่โคน อับเรณูรูปรี ดอกเพศเมีย มีกลีบเกลี้ยง 5กลีบ รูปไข่กลับ ยาวประมาณ 4 มม. ด้านนอกมีขนรูปดาวว ด้านในเกลี้ยง กลีบดอกมีขนาดเล็กมาก รูปยาวปลายแหลม ขอบมีขน ก้านเกสรเพศเมียมี 3 แฉก

ผล : กลม เรียบ หรือเป็นสัน 6 สัน กว้าง 10-15 มม.

เมล็ด : รูปรี ยาวประมาณ 8 มม. มีขนรูปดาว

ชื่อวงศ์ : Euphorbiaceae

สรรพคุณทางสมุนไพร : น้ำต้มรากกินเป้นยาระบายและลดไข้ ใบตำเป็นยาพอกภายนอก ลดไข้ แก้ปวดข้อ และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ยอดอ่อนบดรวมกับใบฝาง กินแก้โรคตับอักเสบ

นิเวศวิทยา : พบกระจัดกระจายในป่าผลัดใบ ถึงระดับความสูง 100 ม. พบที่ภาคเหนือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย สกลนคร มหาสารคาม ภาคตะวันตกเฉียงใต้ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ภาคกลาง จังหวัดอ่างทอง นนทบุรี ภาคตะวันออกเฉียงใต้ จังหวัดฉะเชิงเทรา จันทบุรี ตราด ภาคใต้ นราธิวาส ยะลา สตูล สงขลา เขตการกระจายพันธุ์ ประเทศศรีลังกา อินเดีย บังกลาเทศ พม่า อินโดจีน