ข่า

Galangal, Greater Galangal, False Galangal

ชื่ออื่น: กฏุกโรหินี, ข่าใหญ่, ข่าหลวง, ข่าหยวก (เหนือ), เสะเออเคย, สะเอเชย (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ข่าตาแดง (กลาง)

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Alpinia siamensis K.Schum. (ข่าใหญ่), A.galanga Swartz. (ข่า), Languas galanga (Linn.) Stuntz. (ข่าตาแดง)

ชื่อวงศ์: ZINGIBERACEAE

เป็นพืชล้มลุกจำพวกเหง้า เหง้าใหญ่ขาวอวบ ต้นสูงประมาณ 2 เมตร

ใบ: ใบรูปใบพายปลายแหลม ยาว 20-50 ซม. ขอบเรียบ มีขนเล็กน้อย ก้านใบสั้น มีกาบใบหุ้มลำต้นบนดิน

ดอก: ดอกช่อออกที่ยอด ยาว 15-30 ซม. ดอกขนาดเล็ก สีขวอมเขียว อยู่กันอย่างหลวมๆ

ผล: ผลกลมรีขนาด 1 ซม. สีแดงส้ม แก่จัดสีดำ มีเมล็ด 2-3 เมล็ด

*ข่าตาแดง เหมือนกับข่าทั่วไป แต่ต้นเล็กกว่าเล็กน้อย โคดต้นสีแดง หน่อออกใหม่และตาสีแดง รสและสรรพคุณมีฤทธิ์แรงกว่าข่าธรรมดา

นิเวศวิทยา: เกิดตามป่าดงดิบเขาทั่วไป

สรรพคุณ

  • ใบ รสเผ็ดร้อน ฆ่าพยาธิ กลากเกลื้อน ต้มอาบ แก้ปวดเมื่อยตามข้อ
  • ดอก รสเผ็ดร้อน แก้กลากเกลื้อน
  • ผล รสเผ็ดร้อนฉุน ช่วยย่อยอาหาร แก้ปวดท้อง แก้คลื่นเหียนอาเจียน ท้องอืดเฟ้อ แก้บิดมีตัวและไม่มีตัว
  • หน่อ รสเผ็ดร้อนหวาน แก้ปวดท้อง จุกเสียดแน่น ขับลมให้กระจาย แก้ฟกบวม แก้พิษ แก้บิด แก้ตกโลหิต แก้ลมป่วง แก้กลากเกลื้อน ขับน้ำคาวปลา แก้สันนิบาตหน้าเพลิง ตำกับมะขามเปียกและเกลือให้สตรีรับประทานหลังคลอด ขับเลือดน้ำคาวปลา ขับรก
  • ต้นแก่ รสเผ็ดร้อนซ่า ตำผสมน้ำมันมะพร้าว ทาแก้ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อตามข้อ แก้ตะคริว
  • ราก รสเผ็ดร้อนปร่า ขับเลือดลม ให้เดินสะดวก แก้เหน็บชา แก้เสมหะและโลหิต

 

 

โกฐหัวบัว

Selinum

ชื่ออื่น: ซวงเกียง (จีน)

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Conioselinum univitatum Turczaninow UMBELLIFERAE

เป็นไม้จำพวกเหง้าใต้ดิน มีผิวขรุขระ แต่ทรงรวมค่อนข้างกลม สีออกน้ำตาลไหม้ถึงดำ มาจากประเทศจีน

สรรพคุณ

  • รสมัน สุขัมหอม แก้ลมในกองริดสีดวง กระจายลมทั้งปวง ขับลมในลำไส้