กระเช้าผีมด


ชื่ออื่น: หัวร้อยรู, ปุ่มฟ้า (ตราด), ดาลูบูตาลิมา (มลายู)

ชื่อวิทยาศาสตร์: Hydnophytum formicarium Jack.

ชื่อวงศ์: RUBIACEAE

เป็นไม้ที่อาศัยเกาะอยู่ตามต้นไม้

หัว: กลมโตเท่าลูกมะพร้าว ภายในหัวมีรูพรุนเมื่อผ่าออกดู มักมีมดดำอาศัยอยู่ เนื้อนิ่ม สีน้ำตาลไหม้

ใบ: ใบเดี่ยวรูปไข่รีหนาแข็ง ผิวและขอบเรียบ มีกิ่งก้านคล้ายกาฝากทั่วไป แต่ไม่มาก

สรรพคุณทางสมุนไพร:

  • หัว รสเมา บำรุงหัวใจ ขับชีพจร ขับพยาธิ แก้พิษในข้อไขกระดูก แก้พิษประดง แก้ข้อเข่าข้อเท้าบวม รักษามะเร็ง

นิเวศวิทยา: เกิดอยู่ตามคาคบไม้ ในป่าดงดิบชื้น

กระเทียม (Garlic)


ชื่ออื่น: หอมเทียม (เหนือ), ปะเซ้วา (แม่ฮ่องสอน), ลสุนา (สันสกฤต)

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Allium sativum Linn.

ชื่อวงศ์: ALLIACEAE

เป็นพืชล้มลุกประเภทหัว

กลีบ: มีกลีบย่อยหลายกลีบติกกันแน่น เนื้อสีขาว ถ้ามีกลีบเดียวเรียก “กระเทียมโทน”

ใบ: ใบเดี่ยวแบนยาวรูปขนานเรียวแหลม

ดอก: ดอกเป็นกระจุกที่ปลายก้าน สีขาวอมเขียว

นิเวศวิทยา: ปลูกได้ดีทางภาคเหนือและอีสาน

สรรพคุณทางสมุนไพร:

  • ใบ รสร้อนฉุน กระทำให้เสมหะแห้ง กระจายโลหิต แก้ลมปวดมวนในท้อง
  • หัว รสร้อนฉุน แก้ไอ แก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน แก้แผลเน่า เนื้อร้าย บำรุงธาตุ ขับโลหิตระดู แก้ปวดหู แก้หูอื้อ ระบายพิษไข้ แก้โรคในปาก แก้คออักเสบ แก้หืด แก้อัมพาต แก้จุกเสียด แก้ขัดปัสสาวะ บำรุงปอด ปอดบวม แก้น้ำลายเหนียว แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้ฟกบวม แก้สะอึก

การขยายพันธู์: ใช้หัว

เต่าร้างแดง (Fishtail Palm, Wart Fishtail Palm)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Caryota mitis Lour.

ชื่อวงศ์ : PALMAE

เป็นปาล์มแตกกอ สูงได้ถึง 10 เมตร

ลำต้น : เห็นข้อปล้องชัดเจน

ใบ : ประกอบแบบขนนกปลายคี่ มีใบย่อยรูปหางปลา ขอบใบหยักเว้าไม่สม่ำเสมอ แผ่นใบหนา สีเขียวเข้ม

ดอก :ช่อดอกออกที่ซอกกาบใบใกล้ยอด ดอกแยกเพศอยู่ร่วมต้นกัน

ผล : กลม ขนาดประมาณ 1.2 ซม. เมื่อสุกสีดำหรือแดงคล้ำ

ประโยชน์ : แกนกลางของยอดนำมาต้มจะอ่อนนุ่ม กินกับน้ำพริก รสหวานเล็กน้อย บางท้องถิ่นนำมาแกงกะทิ หรือผัดร่วมกับผักชนิดต่าง ๆ เช่นเดียวกับยอดมะพร้าว

การขยายพันธุ์ : เต่าร้างแดงชอบดินร่วม ระบายน้ำดี มีอินทรียวัตถุสูง แสงแดดครึ่งวันถึงเต็มวัน นิยมขยายพันธุ์ด้วยการเพราะเมล็ด แต่ควรระวังเนื้อสุกรอบเมล็ดมีผลึกของแคลเซียมออกซาเลต ที่ทำให้คัน ควรใส่ถุงมือก่อนนำมาล้างเนื้อออกให้เหลือแต่เมล็ด แช่น้ำอุ่น 20 – 30 นาที เพื่อทำลายสารที่ทำให้คัน แล้วนำมาเพาะ ประมาณ 4 – 6 เดือน จึงเริ่มงออกเต้นใหม่ ต่อมาอีก 3 – 5 ปี ต้นจึงโตและแตกกอได้สวยงาม อาจใช้วิธีแยกกอมาปลูกใหม่ก็ได้ แต่ต้นที่ได้จะมีทรงพุ่มไม่สวยงามนัก

มะพร้าว (Coconut)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Cocos nucifera L.

เป็นปาล์มประเภทลำเดี่ยวที่ปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง ต้นสูงได้ถึง 30 เมตร

ใบ : ประกอบแบบขนนก ใบย่อยยาวเรียวแหลม แผ่นใบแข็งหนา

ดอก : ช่อดอกแยกเพศอยู่ร่วมต้นกัน ดอกสีเหลืองอ่อน ดอกเพศเมียใหญ่กว่าดอกเพศผู้

ผล : กลมหรือรูปไข่ มีกาบแข็งอยู่ภายนอก ด้านนอกผิวผลมีสีเขียว หรือสีส้มที่เรียกว่า “มะพร้าวไฟ” เนื้อในคือส่วนของเอนโดสเปิร์มที่มีไขมันสูงและใช้ประโยชน์กันมาก

ชื่อวงศ์ : Palmae

ประโยชน์ : ยอดอ่อนที่เรียกว่ายอดมะพร้าวใช้ปรุงอาหาร เช่น ผัดน้ำมัน หรือแกงกะทิ ให้ฟอสฟอรัสค่อนข้างสูง ส่วนผลอ่อนที่กะลายังไม่แข็ง ฝานเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใช้ทำแกงกะทิใส่ปลาย่าง เมื่อผลเริ่มแก่เล็กน้อย กินเป็นผลไม้ หรือดื่มน้ำในผลแก้กระหาย ผลกึ่งแก่กึ่งอ่อนที่เรียกว่า “มะพร้าวทึนทึก” ใช้โรยหน้าขนมหรือทำมะพร้าวแก้ว ส่วนผลแก่ ขูดคั้นน้ำกะทิ ใช้ทำอาหารหรือขนมได้มากมาย แต่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง 60 – 65 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ปัจจุบันมีหลายพันธุ์ ที่นิยมมากคือมะพร้าวน้ำหอมต้นเตี้ย หรือมะพร้าวหมูสี ต้นสูงเพียง 2 เมตร ก็ให้ผลได้ สะดวกในการเก็บ และมะพร้าวกะทิที่นิยมกินเป็นขนม ซึ่งกลายพันธุ์มาจากมะพร้าวปกติ แต่โอกาสที่จะเกิดเป็นไปได้ยาก แม้นำผลที่ได้จากต้นมะพร้าวกะทิมาปลูก ต้นที่ได้อาจกลายเป็นมะพร้าวปกติได้ วิธีเลือกมะพร้าวกะทิ ให้เขย่าผล ต้องไม่มีเสียงน้ำ

สรรพคุณทางสมุนไพร : น้ำมะพร้าวมีโปรตีน น้ำตาล ไขมัน วิตามินบีรวม โพแทสเซียม โซเดียม ฟอสฟอรัส และเหล็ก มีประโยชน์กับสตรีมีครรภ์ ช่วยบำรุงทารกในครรภ์ให้แข็งแรง โดยเฉพาะสตรีที่มีครรภ์ตั้งแต่ 5 – 9 เดือน ควรดื่มน้ำมะพร้าวมาก ๆ จะช่วยให้คลอดง่าย เด็กตัวสะอาด และผิวพรรณเปล่งปลั่ง ส่วนกาบใบใช้ในงานประดิษฐ์ต่าง ๆ ลำต้นที่ล้มตายใช้ทำเก้าอี้ ตกแต่งสวน หรือประดิษฐ์เป็นตุ๊กตา ใบสดสานเป็นปลาตะเพียนหรือตะกร้อให้เล็กเล่น ก้านมะพร้าวจากใบแห้งใช้ทำไม้กวาด กาบมะพร้าวนำมาเผาใช้เป็นสีดำธรรมชาติในขนมเปียกปูน กะละแม นอกจากนี้ยังใช้เป็นวัสดุปลูกต้นไม้ ใบมะพร้าวใช้ทำไส้ในของที่นอน เครื่องเรือน ทำเสื่อ เชือก เป็นเชื้อเพลิงแทนถ่าน กะลามะพร้าวประดิษฐ์เป็นของใช้ต่าง ๆ เช่น ตุ๊กตา จานใส่สบู่ ส่วนเนื้อมะพร้าวแก่นำมาเคี่ยวทำน้ำมันมะพร้าวไว้ใช้เป็นเชื้อเพลิงจุดตะเกียงแทนน้ำมันก๊าด ใช้ทาผิวหรือแผลน้ำร้อนลวก หรือเป็นส่วนผสมของน้ำมันนวดกับยาสมุนไพรต่าง ๆ เพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก และรักษาบาดแผล

การขยายพันธุ์ : มะพร้าวปลูกเลี้ยงง่าย ขึ้นได้ดีในทุกสภาพพื้นที่ ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด โดยนำผลแก่มาเพาะให้มีใบขึ้นสูงประมาณ 50 ซม. จึงนำมาปลูกลงดิน หมั่นดูแลอย่าให้มีแมลงกัดกินบริเวณยอดอ่อน ใส่ปุ๋ยบ้างปีละ 2 ครั้ง

นิเวศวิทยา : กระจายพันธุ์แถบตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ปลูกมากในประเทศเขตร้อน

กระทืบยอด


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Biophytum apodiscias Edgew et Hook.

ไม้จำพวกหญ้า ขนาดเล็ก ลำต้นกลมเป็นปล้องข้อ สีแดงเรื่อ สูง 10-15 เซนติเมตร โตเท่าก้านไม้ขีดไฟ

ใบ : เล็กฝอยเหมือนกระถินแผ่แบนอยู่ที่ยอดเหมือนร่ม

ดอก : ออกเป็นกระจุกอยู่ที่ยอด มีขนาดเล็กๆสีเหลืองสด ออกเป็นช่อมีก้านยาวแผ่เป็นชั้นเหนือใบ

ชื่อวงศ์ : OXALIDACEAE

สรรพคุณทางสมุนไพร : ต้น รสเย็นขื่น ดับพิษร้อน แก้ไข้ แก้ปัสสาวะพิการ แก้สะอึก ถอนพิษยาเบื่อเมา ดับพาร้อนภายใน แก้กาฬ ขับนิ่ว แก้เด็กลิ้นกระด้างคางแข็ง แก้แผลเรื้อรัง ราก รสเย็นขื่น แก้นิ่ว แก้โรคหนองใน

การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยเมล็ด

นิเวศวิทยา : เกิดตามป่าดงดิบเขา และป่าเบญจพรรณ มีมากตามชายเขาในภาคกลาง และภาคเหนือ

กระแตไต่ไม้


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Drynaria quercifolia Linn.

พืชเกิดเกาะอยู่ตามต้นไม้หรือแผ่นหิน หัวยาวเหมือนปลิง มีขนสีน้ำตาลแก่ห่อหุ้มอยู่ เกิดอยู่ตามป่าดิบชื้นทั่วประเทศ

ใบ : ใบแข็งใหญ่ห่อหุ้มหัวไว้ 1 ใบ มีใบเล็กแข็งติดก้านคล้ายใบเฟิร์น เป็นแฉก ๆ งอกออกจากหัว

ชื่อวงศ์ : POLYPODIACEAE

สรรพคุณทางสมุนไพร : หัว รสจืดเบื่อ ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้เบาหวาน ขับพยาธิ แก้ไตพิการ แก้แผลพุพอง แผลเนื้อร้าย ขับระดูขาว คุมธาตุ

การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยสปอร์และแยกหน่อ

กกลังกา (Umbrella Plant)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Cyperus flabelliformis Rottb.

พืชจำพวกหญ้า มีเหง้าใต้ดิน สั้นและแข็ง ลำต้นเหนือดินรูปสามเหลี่ยมมน ออกเป็นกอตั้งตรง สูงประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร

ใบ : ใบเป็นแผ่นบางๆเป็นกระจุกที่โคน ปลายลำต้นมีใบประดับรูปดาบ สีขียวสด ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร เรียงซ้อนเป็นวงประมาณ 20 ใบ

ดอก : ดอกเล็กๆ สีขาวอมเขียว ก้านช่อเรียวยาว สีเขียวอ่อน มีใบประดับมาก ออกตามซอกใบแผ่ซ้อนกันสองชั้นที่ปลายต้น เมื่อแก่เป็นสีน้ำตาลอ่อน ผลรูปไข่ มีท่อรังไข่ติดอยู่

ชื่อวงศ์ : CYPERACEAE

สรรพคุณทางสมุนไพร : ต้น รสจืดเย็น ต้มเอาน้ำดื่ม รักษาโรคท่อน้ำดีอักเสบ ขับน้ำดี ใบ รสเย็น ตำพอกฆ่าพยาธิบาดแผล ต้มเอาน้ำดื่ม ฆ่าเชื้อโรคภายใน ดอก รสฝาดเย็น ต้มเอาน้ำอมแก้แผลเปื่อยพุพองในปาก เหง้า รสขม ต้มเอาน้ำดื่ม หรือบดเป็นผง ละลายน้ำร้อนรับประทาน บำรุงธาตุ เจริญอาหาร แก้เสมหะ ขับน้ำลาย ราก รสขมเอียน ต้มดื่ม หรือตำกับเหล้าคั้นเอารับประทาน แก้ช้ำใน ขับโลหิตเน่าเสีย แก้ตกเลือดจากอวัยวะภายใน

การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยเมล็ดและการแยกหน่อ

นิเวศวิทยา : อยู่ในทวีปแอฟริกา ขึ้นได้ตามที่ลุ่มที่น้ำท่วมถึง ห้วยหนองคลองบึงทั่วไป

กกดอกขาว (Green Kyllinga)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Cyreus brevifolius (Rottb.) Hassk.

ใบและช่อดอก อยู่เหนือดิน สูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร กาบหุ่มลำต้นมีสีน้ำตาลอมแดง

ใบ : ใบเดี่ยว เรียว ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร มีร่องกลางใบปลายแหลม โคนแผ่เป็นกาบหุ้มต้น ฐานใบสีแดง

ดอก : ดอกเล็กๆ อัดกันแน่น เป็นทรงหัวแหวน ที่ปลายก้านทรงสามเหลี่ยมชูเหนือลำต้น มีใบรองดอก 3 ใบยาวไม่เท่ากัน เกิดตามที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป

ชื่อวงศ์ : CYPERACEAE

สรรพคุณทางสมุนไพร : หัวรสหอม ร้อนแรง ต้มเอาน้ำดื่ม แก้บิดมูกเลือด แก้ไข้ แก้ไอ แก้เจ็บคอ แก้หลอดลมอักเสบ แก้ปวดกระดูก ขับลมในกระเพาะอาหาร

การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์ด้วยเหง้าและไหลที่งอกออกจากลำต้นได้ดิน

หอมหัวใหญ่ (Onion)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Allium cepa L.

ลักษณะของหอมหัวใหญ่นั้นคล้าย ๆ กับหอมหัวแดง หากแต่ว่าหอมหัวใหญ่นั้นจะมีหัวอยู่ที่ใต้ดินเช่นเดียวกับหอมหัวแดง แต่ใหญ่กว่าหอมหัวแดงมาก เปลือกจะบาง สีน้ำตาลอ่อน ๆ หอมหัวใหญ่จะมีลักษณะกลมแป้น สวยงามดี ส่วนลำต้นก็เป็นสีเขียวเช่นเดียวกับต้นหอมหัวแดงนั่นเอง

ชื่อวงศ์  Allioideae

ประโยชน์ : นำมารับประทาน โดยการปรุงอาหารต่างๆ ได้หลายชนิด

สรรพคุณทางสมุนไพร : ลำน้ำตาลในเลือดได้ดี ซึ่งควรกินกันต่อเนื่องทุกๆ วัน เพื่อให้น้ำตาลในเลือดลดลงเรื่อยๆ นั้นเอง อาการเบาหวานจะทุเลาลงเรื่อยๆ แล้วก็จะต้องควบคุมอาการให้ดีด้วยจึงจะได้ผล มีการทดลองเอาสารสกัดจากหอมหัวใหญ่ฉีดเข้าไปในกระต่ายและหนูทดลอง ปรากฏว่ากระต่ายและหนูที่เป็นเบาหวานน้ำตาลจะลดลงค่อนข้างดี สามารถลดน้ำตาลในเลือดได้ เมื่อเอามาทดลองกับคนเรา ผลปรากฏว่าได้ผลดีเช่นกัน อีกประการหนึ่งหัวหอมใหญ่สามารถออกฤทธิ์ช่วยลดคอเลสเตอรอลได้ดีด้วย จึงนับเป็นสมุนไพรที่น่าสนใจมาก

สับปะรด (Pineapple)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Ananas comosus (L.) Merr.

ชื่ออื่น หมากนัด

ใบ : เป็นใบเลี้ยงเดี่ยว เป็นกาบออกจากลำต้นปลายแหลม ไม่มีก้านใบ ทรงใบโกบห่อหุ้มลำต้น ก้านใบยาว แล้วแต่ขนาดของความสมบูรณ์และแต่ละสายพันธุ์ ขอบใบมีหนาม บางพันธุ์ใบสีเทาอมเขียว บางพันธุ์สีเขียวอมน้ำตาล

ดอก : ออกปลายยอดเป็นช่อ เรียงตัวแน่รอบแกนช่อดอก ก้านช่อใหญ่แข็งแรง มีกลีบดอก 3 กลีบ ด้านดอกบนเป็นสีชมพูอมม่วง ด้านล่างสีขาว เกสรตัวผู้มี 6 อัน ผลมีหนามและมีตารอบตัว

ผล : ผลสุกสีเหลืองสด ส่วนยอดที่ติดอยู่กับลูก สามารถนำเอาไปขยายพันธุ์ได้ ลักษณะรูปทรงอวบ เพราะมีหนามอยู่รอบตัว

ชื่อวงศ์ : Bromeliaceae

ประโยชน์ : ผลนำมารับประทานได้ มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว

สรรพคุณทางสมุนไพร : ขับนิ่ว ขัดเบาทางเดินปัสสาวะ โรคเกี่ยวกับอวัยวะเพศ ช่วยบรรเทาอาการแผลเป็นหนองช่วยขับปัสสาวะแก้ร้อนกระสับกระส่าย กระหายน้ำแก้อาการบวมน้ำ ปัสสาวะไม่ออก บรรเทาอาการโรคบิด ช่วยย่อยอาหารพวกโปรตีน แก้ท้องผูก เป็นยาแก้โรคนิ่ว แก้ส้นเท้าแตก

นิเวศวิทยา : ทั่วไปมีสองสายพันธุ์ สายพันธุ์เทศและสายพันธุ์ไทย มีความเป็นอยู่คล้ายกัน สายพันธุ์ไทยเรียกว่าหมากนัดหม้อ ใบ รูปทรงและลำต้นสีน้ำตาลอมดำจึงเรียก สับปะรดหม้อ ชอบแดดรำไร ชอบดินร่วยซุ่ย ไม่ชอบน้ำขัง ทนความแห้งแล้งได้ดี