ขจร (Cowslip creeper)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Telosma minor Craib

พรรณไม้เถาเลื้อย ล้มลุก เนื้อแข็ง อยู่ในวงศ์เดียวกับต้นรักและนมตำเลีย เถากลมเล็ก มียางสีขาวคล้ายน้ำนม ผิวไม่เรียบ สีขาวอมเทา

ใบ : ออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน ปลายแหลมเรียวคล้ายรูปหัวใจ และสามารถเลื้อยไปได้ไกลบนต้นไม้สูง

ดอก : ออกเป็นช่อห้อยลง โคนกลีบเป็นหลอด ปลายกลีบดอกกางออกเป็นห้าแฉก ทยอยบานในช่อ เวลาบานใหม่ๆดอกเป็นสีเขียวอมเหลืองหรือเหลืองส้มในบางพันธุ์เมื่อเริ่มแก่ ขจรออกดอกดกในฤดูฝน ส่งกลิ่นหอม ขจรขจายไปไกลสมชื่อ บางตำราว่ากลิ่นหอมเหมือนใบเตย

ฝัก : คล้ายกระสวย ภายในมีเมล็ดมาก เมื่อฝักแก่แตกออกจะมีเมล็ดเกาะติดกับพู่ใยสีขาวละเอียด ปลิวว่อนไปตามแรงลม

วิธีการปลูกและดูแลรักษา : ขจรเป็นไม้ที่ปลูกง่าย ขึ้นเองตามธรรมชาติในป่าดิบและป่าละเมาะ ชอบความชุ่มชื้นพอสมควร และเจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด

ชื่อวงศ์ : Asclepiadaceae

ประโยชน์ : บางท้องถิ่นนิยมใช้ดอกขจรเข้าเครื่องหอม รับประทานได้และมีคุณค่าทางอาหาร นิยมใช้ยอดอ่อน ดอกตูมและบานในต้นฤดูฝนมารับประทานเป็นผัก ให้รสจืดหวาน สามารถรับประทานสดๆหรือลวกจิ้มน้ำพริก ใส่ในไข่เจียวหรือปรุงเป็นแกงจืด แกงส้มดอกขจร ฝัก นำมาต้มรับประทานเป็นผักได้ เถา มีความเหนียว แข็งแรง ทนทาน นำมามัดยึดเสาหรือใช้แทนเชือกได้

สรรพคุณทางสมุนไพร : ช่วยบำรุงตับ ปอด แก้เสมหะ และฟอกโลหิต ราก นำมาผสมยาหยอดตา ใช้รักษาตาแฉะ ตาแดง ตาบวม ถอนพิษเบื่อเมา ช่วยให้อาเจียน ดับพิษ และแก้โรคโลหิตเป็นพิษ

ต้นไม้สัญลักษณ์ : คนไทยโบราณนิยมปลูกดอกขจรไว้ริมรั้วบ้าน เพราะเป็นไม้เถาเลื้อยที่มีรูปใบสวย คล้ายหัวใจ ดอกก็ส่งกลิ่นหอม และรับประทานเป็นผักได้อร่อย ปรุงอาหารได้หลายหลายชนิด ประกอบกับชื่อ “ขจร” และความหอมของดอก คนไทยโบราณจึงเชื่อกันว่ะ บ้านใดปลูกดอกขจรไว้จะส่งเสริมให้คนในบ้านมีชื่อเสียงคุณงามความดีหอมขจรขจายไปทั่วเหมือนดอกขจรนั่นเอง

การขยายพันธุ์ : นำกิ่งแก่มาปักชำหรือนำเมล็ดจากฝักแก่มาเพาะไว้ริมรั้วบ้าน

นิเวศวิทยา : มีถิ่นกำเนิดในจีน อินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้