ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Acalypha siamensis Oliv. ex Gage
ไม้พุ่ม สูง 0.5-3 ม. กิ่งก้านกลมเกลี้ยง หรือมีร่องตามยาว เมื่ออ่อนขนนุ่มสั้น
ใบ : หูใบ รูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว 2-2.5 มม. มีขนสั้นนุ่มและมีขนต่อม ก้านใบ ยาว 0.1-0.8 ซม. ใบเดี่ยว รูปคล้ายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด โคนสอบแคบ ปลายแหลม หรือมน ขอบหยักเป็นคลื่นแกมฟันเลื่อย เนื้อใบหนามันเกลี้ยงทั้งสองด้าน เส้นใบมี 4-5 คู่
ดอก : ช่อดอก ออกเดี่ยวๆ พบน้อยที่มี2ช่ออยู่ด้วยกัน มีทั้งสองเพศในช่อเดียวกันหรือพบแต่ช่อดอกเพศเมียอย่างเดียว ออกตามง่ามใบ ดอกเพศผู้อยู่ช่วงปลายยอด ดอกเพศเมียอยู่ที่โคนช่อ ดอกเพศผู้ มี 5-7 ดอก ใบประดับรูปสามเหลี่ยม กว้าง 1.2-1.5 มม. ยาว 1-1.2 มม. มีขนสั้นนุ่มและมีขนต่อมด้านนอก ตาดอกเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5-0.8 มม. เมื่อดอกบาน เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.8-1 มม. ก้านดอกย่อยยาว 0.1-0.5 มม. กลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ รูปไข่ กว้าง 0.3 มม. ยาว 0.5 มม. มีต่อมด้านนอก ดอกเพศเมีย มี 1 ดอก ใบประดับรูปถ้วย เมื่อดอกบานจะเป็นรูปไต กว้าง 6-10 มม. ยาว 5-7 มม. ขอบจักเป็นฟันเลื่อย มี 9-15ซี่ ผิวเป็นมันทั้งสองด้าน ด้านนอกเห้นเส้นร่างแหชัดเจน มีต่อมโปร่งแสง กลีบเลี้ยงมี 3 กลีบ รูปไข่ กว้างประมาณ 1 มม. ยาวประมาณ 2 มม. ขนสั้นนุ่มด้านนอก รังไข่ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 1-2มม. มีหนามทู่ ก้านเกสรเพศเมียยาว 2-5 มม.
ผล รูปกลมแป้น เป็น3พู กว้าง 4-7 มม. ยาว 3-5มม. มีหนามทู่
ชื่อวงศ์ : Euphorbiaceae
สรรพคุณทางสมุนไพร : ต้นตำเป็นยาพอกร่างกายใช้ลดไข้ ใบต้มน้ำหรือชงใช้แทนเป็นใบชาได้ กินเป็นยาบำรุงธาตุ ช่วยย่อย แก้น้ำเหลืองเสีย ไตพิการและขับปัสสาวะ
นิเวศวิทยา : ขึ้นในป่าดิบแล้ง บนเขาหินปูน ที่ระดับความสูง 100-600 ม. พบที่ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ภาคตะวันออกจังหวัดนครราชสีมา ภาคตะวันตกเฉียงใต้ จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภาคกลาง จังหวัดนครปฐม กรุงเทพฯ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ จังหวัดตราด ภาคใต้ จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล ปัตตานี นราธิวาส เขตการกระจายพันธุ์ พม่า อินโดจีน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเกาะสุมาตรา