ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Butea monosperma (Lam.) Taub.
ไม้ยืนต้น ผลัดใบ ขนาดกลาง สูงประมาณ 8-15 เมตร ผิวเปลือกต้นเป็นตุ่ม สีเทาคล้ำหรือน้ำตาล แตกกิ่งก้านไม่มากทพุ่มใบโปร่ง
ใบ : เป็นใบประกอบสามใบย่อย ออกสลับ ปลายใบมน โคนใบมนกลม แผ่นใบมีขนปกคลุม
ดอก : ออกเป็นช่อมีขนาดใหญ่รูปดอกถั่ว สีเหลืองเข้มสดถึงสีแสด มีกลีบดอก 5 กลีบ ออกเป็นช่อเรียงติดกันแน่นตามกิ่งก้านและปลายกิ่ง ออกดอกปีละครั้งในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เมื่อออกดอกจะผลัดใบทิ้งหมดทั้งต้น เห็นแต่ดอกสีส้มแสดสว่างเต็มต้น
ผล : เป็นฝัก รูปขอบขนาน แบนๆโค้งงอเล็กน้อย เปลือกสีน้ำตาลอ่อน ข้างในฝักมีเมล็ดเล็กๆ
วิธีปลูกและดูแลรักษา : ในธรรมชาติมักพบทองกวาวขึ้นตามที่ราบลุ่ม ในป่าผลัดใบ ป่าหญ้า หรือป่าละเมาะ และแม่แต่ในที่แห้งแล้งจัดก็ยังสามารถเจริญเติมโตได้ แม้ลำต้นจะไม่โต แต่ก็ยังออกดอกเบ่งบาน การปลูกโดยทั่วไปไม่ควรปลูกในดินร่วนซุย ชอบแสงแดดจัดและน้ำปานกลาง เป็นไม้ที่ทน ไม่ค่อยพบปัญหาเรื่องโรคและศัตรูพืช
ชื่อวงศ์ : Leguminosae-Papilionoideae
ประโยชน์ : เปลือกของต้น ใช้ทำเชือก กระดาษ ดอก ใช้ย้อมผ้า
สรรพคุณทางสมุนไพร : ยาง ใช้แก้ท้องร่วง ใบ ใช้ตำพอกสิวและฝี ช่วยถอนพิษ แก้ปวดและริดสีดวง เมล็ดจากฝัก ใช้ขับพยาธิตัวกลม เมล็ดบดละเอียดผสมกับน้ำมะนาว ทาแก้คันและแสบร้อน
ต้นไม้สัญลักษณ์ : ทองกวาวเป็นภาษาถิ่นพายัพ เป็นชื่อต้นไม่มงคล เนื่องจากความสวยงามของดอกเวลาเบ่งบานจะเป็นสีแดงอมส้มสว่างไสว ยิ่งเมื่อถูกแสงแดด สีของดอกทองกวาวจะเปล่งปลั่งเรืองรองและสุกใสราวกับทอง คนโบราณนิยมปลูกทองกวาวไว้ทางทิศใต้ของบ้าน เพราะเชื่อว่าจะทำให้สะสมทองคำได้มากมาย เสมือนต้นทองกวาวที่ออกดอกหนาแน่นเต็มต้น นอกจากนี้ทองกวาวยังเป็นต้นไม้ที่มีความอดทนสูงมากแม้จะอยู่ในที่แห้งแล้ง ลำต้นแคระแกร็น ก็ยังสามารถออกดอกสีสดสวยได้ เปรียบเสมือนคนมีพฤติกรรมที่มีความอดทน อยู่ที่ใดก็เจริญรุ่งเรือง สามารถประสบความสำเร็จได้
การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยการตอนและเพาะเมล็ด หากปลูกในที่ชุ่มชื้นมักให้ดอกน้อย
นิเวศวิทยา : มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ส่วนในประเทศไทยพบมากในภาคเหนือและภาคอีสาน