บุนนาค (Iron Wood)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Mesua ferrea L.

ไม้ยืนต้น ขนาดกลางถึงใหญ่ สูงประมาณ 15-25 เมตร ลำต้นสีน้ำตาลเข้ามเกือบดำ เปลือกต้นขรุขระ

ใบ : เป็นใบเดี่ยว รูปไข่หรือหอกสีเขียวเข้ม ปลายใบเรียบแหลม โคนใบสอบแคบ ท้องใบมีสีอ่อนคล้ายใบมะปราง

ดอก : เดี่ยว ขนาดใหญ่ หรือออกดอกเป็นช่อ ช่อละประมาณ 2-3 ดอก สีขาว กลิ่นหอม กลีบเลี้ยงหนา มีกลีบดอก 5 กลีบ ตรงกลางดอกมีเกสรตัวผู้สีเหลืองเป็นฝอนเส้นเล็กๆจำนวนมาก

ผล : รูปไข่แข็งและมีกลีบเลี้ยงหนาแข็งติดอยู่

วิธีการปลูกและดูแลรักษา : บุนนาคเป็นต้นไม้ที่ดูแลรักษาง่าย ต้องการน้ำปานกลาง ชอบดินร่วนซุย แสงแดดจัด อยู่กลางแจ้ง ไม่ค่อยพบปัญหาเรื่องโรคและศัตรูพืช แต่โตช้าและไม่ทนน้ำท่วมขัง นิยมปลูกประดับบริเวณบ้านและในสวน

ชื่อวงศ์ : GUTTIFERAE (CLUSIACEAE)

ประโยชน์ : บุนนาคเป็นไม้เนื้อเหนียว แข็งแรง ทนทาน จนชื่อได้ว่าเป็นไม้เนื้อเหล็ก นำไปใช้ในการก่อสร้างได้ดี เช่น ต่อเรือ ทำหมอนรองรางรถไฟ ทำพานท้ายและรางปืน หรือทำด้ามร่มอีกด้วย

สรรพคุณทางสมุนไพร : รากและรากแก่ รสเฝื่อน ใช้ขับลมในลำไส้ บำรุงโลหิต แก้โลหิตกำเดา แก้ไข้ส่าประชวร ชูกำลัง แก้เหม็นสาบสางในร่างกาย กระพี้ รสเฝื่อนเล็กน้อย ใช้แก้เสมหะ ในลำคอ แก้สะอึก แก่น รสเฝื่อน แก้เลือกออกตามไรฟัน ดอก รสหอมเย็น ฝาด ใช้ขับลม บำรุงธาตุ บำรุงหัวใจ แก้ไอ แก้ไข้ แก้กระหายน้ำ บำรุงโลหิต แก้หาวเรอ หูอื้อ ตามัว อ่อนเพลีย อาเจียน คุมกำเนิด ขับเสมหะ แก้กลิ่นตัวสาบสางหรือจะใช้เป็นสรช่วยติดสี โดยผสมกับน้ำที่สกัด เกสร รสหอมเย็น บำรุงครรภ์ ทำให้ชื่นใจ แก้ไข้ เป็นส่วนผสมในเกสรทั้งห้าทางสมุนไพร ยอดอ่อน รสฝาดเปรี้ยว สีชมพู กินเป็นผักจิ้ม ผล มีฤทธิ์ขับเหงื่อ เนื้อไม้ ใช้ปรุงเป็นยาแก้โรคลักปิดลักเปิด ใบ รสฝาด ใช้พอกแผลสด แก้พิษงู คุมกำเนิด เมล็ด บีบให้น้ำมัน ใช้ทาแก้โรคผิวหนัง ปวดตามข้อต่างๆ น้ำมันที่กลั่นจากเมล็ดยังใช้ยังใช้จุดตะเกียงและทำเครื่องสำอางได้

ต้นไม้สัญลักษณ์ : บ้านคนไทยโบราณที่มีบริเวณกว้างขวาง นิยมปลูกต้นบุนนาคไว้ประจำบ้าน ไม่เพียงเพราะดอกสวยและหอมเท่านั้น แต่ยังมีความเชื่อว่านาค ในที่นี้หมายถึง พญานาค ซึ่งถือเป็นสัตว์มงคลชนิดหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในพุทธประวัติ เมื่อครั้งพระพุทธเจ้านั่งบำเพ็ญเพียรอยู่ในป่า พญานาคได้แปลงกายมาเป็นมนุษย์เพื่อขอให้พระพุทธเจ้าแสดงธรรมเทศนา จนเกิดความปีติและซาบซึ้งในรสพระธรรม เมื่อฝนตกลงมาพญานาคได้แสดงความกตัญญูโดยแผ่พังพานเสมือนเป็นร่มกำบังฝนแด่พระพุทธเจ้า จึงมีพระพุทธรูปปางนาคปรก ซึ่งกลายมาเป็นพระประจำวันของคนที่เกิดวันเสาร์ พญานาคถือเป็นสัตว์ประเสริฐและมีบุญ ทั้งยังมีความศักดิ์สิทธิ์และมีพลังอำนาจช่วยปกป้องคุ้มครองพิษภัยต่างๆได้ ใบของต้นบุนนาคก็สามารถนำไปปรุงเป็นยารักษาพิษต่างๆ เช่น พิษงู คนโบราณจึงเชื่อกันว่า บ้านใดปลูกต้นบุนนาคไว้ทางทิศตะวันตกจำทำให้คนในบ้านเป็นผู้ประเสริฐและมีบุญ และยังช่วยป้องกันพิษภัยจากสัตว์เลื้อยคลานได้อีกด้วย คำว่า “บุนนาค” เป็นนามสกุลพระราชทานในรัชกาลที่ 6 และมีผู้ใช้นามสกุลนี้สืบทอดกันมายาวนานสู่รุ่นลูกหลานจนถึงปัจจุบัน

การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่งและเพาะเมล็ด

นิเวศวิทยา : มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้