บวบ (Angled Gourd, Angled Loofah)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์Luffa acutangula Roxb.

เป็นไม้เลื้อย อายุสั้น ทุกส่วนของต้นมีขนยาวปกคลุม

บวบเป็นผักกินผลอ่อน และเป็นที่นิยมกันมากในเมืองไทย เนื่องด้วยรสชาติอร่อย การปลูกที่ไม่ยากและหาซื้อได้ง่ายนั่นเอง สำหรับบวบที่มีขายในตลาดมี 3 ชนิด มีลักษณะและวิธีการบริโภคดังนี้

  1. บวบเหลี่ยม [Luffa acutangula (L.) Roxb. : ชื่อสามัญ Angled Loofah] มีการกระจายพันธุ์ในประเทศเขตร้อน ดอกสีเหลืองสดใส กินได้ทั้งดอกและผลอ่อน โดยนำมาต้มจิ้มน้ำพริก หรือปรุงอาหาร เช่น แกงเลียง แกงส้ม หรือผัดร่วมกับผักชนิดอื่น ๆ รสหวาน แต่บางคนกลับไม่ประทับในรสชาติของบวบเหลี่ยม เพราะกินแล้วขม ซึ่งผู้ใหญ่บางท่านก็ว่าเป็นเพราะโดนแตนเจาะผล วิธีเลือก ควรเลือกผลไม่ใหญ่เกินไปนัก เปลือกสีเขียวอ่อน ไม่แข็งมาก มีเหลี่ยมตื้น แล้วปอกเปลือกบริเวณที่เป็นสันเหลี่ยมออก แต่ถ้าผลอ่อนมากไม่ต้องปอกสันออก บางคนเชื่อว่าผู้มีไข้ตัวร้อนไม่ควรกิน
  2. บวบหอม [Luffa cylindrical (L.) M. Roem. : ชื่อสามัญ Dish-cloth Gourd หรือ Sponge Gourd มีการกระจายพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลียตอนเหนือ และตาฮิติ ดอกสีเหลืองสดเช่นกัน นิยมนำยอดและช่อดอกอ่อนมาลวกหรือต้มจิ้มน้ำพริก ใส่ในแกงเลียงหรือแกงส้ม ผลอ่อนผัดกับหมูหรือกุ้งสด มีกลิ่นหอมชวนกิน รสหวานเล็กน้อยและมีเนื้อนุ่ม บางคนจึงเรียกว่า “บวบหวาน” มีใยอาหารมาก ให้แคลอรีต่ำ และมีชาโปนิน (sapoonin) สารเมือกที่ช่วยให้ถ่ายคล่อง วิธีเลือก ควรเลือกผลที่มีผิวสดเต่ง ปลายผลและกลีบเลี้ยงไม่หักหรือช้ำ หรือมีกลีบดอกแห้งติดอยู่ ชาวจีนเชื่อว่าบวบช่วยรักษาโรคคางทูมได้ โดยนำผลบวบมาเผาให้เป็นถ่าน แล้วบดผสมกับน้ำ ทาบริเวณที่เกิดอาการ นอกจากนี้ผลบวบแก่ที่แห้งที่เรียกว่า “รังบวบ” ยังใช้ทำความสะอาดร่างกายหรือล้างถ้วยชามได้
  3. บวบงู (Trichosanthes anguina L : ชื่อสามัญ Snake Cucumber หรือ Snake Gourd) มีการกระจายพันธุ์ในอินเดียถึงปากีสถาน ดอกสีขาว ขอบกลีบเป็นครุย นิยมกินผลอ่อนเป็นผักสด หรือต้มให้สุกกินกับน้ำพริกหรืออาหารรสจัดต่าง ๆ บ้างก็ใส่ในแกงส้ม แกงเลียง ถ้าไม่ชอบเมือกในเนื้อ ให้ทาเกลือที่ผิวผลก่อนนำมาปรุงอาหาร จะช่วยลดเมือกได้ ด้วยผลสีเขียวเป็นลายกระ เรียว บิดคล้ายงู และมีรสขมเล็กน้อย จึงไม่เป็นที่นิยมเท่าสองชนิดแรก พบปลูกบ้างตามบ้านเรือนเท่านั้น บางท้องถิ่นก็เรียกว่าบวบงูเขี้ยวหรือบวบงูลาย

ใบ : หยักเว้าเป็นพู

ดอก : มีดอกแยกเพศอยู่ร่วมต้นกัน

ผล : ยาวรูปทรงกระบอก ทั้งอ้วนป้อมและแคบเล็ก

ชื่อวงศ์ : CUCURBITACEAE

ประโยชน์ : บวบเป็นที่นิยมกันมากทั้งไทย อินเดีย และจีน ในอดีตนิยมใส่ในแกงเลียงให้หญิงหลังคลอดบุตรกิน เพราะเชื่อว่าจะช่วยเรียกน้ำนมได้ดี บางคนก็นำบวบมาปอกเปลือกหั่นเป็นชิ้น ต้มกับน้ำตาลปิ๊บ พอประมาณ เมื่อเดือดก็ยกลง ดื่มน้ำขณะอุ่น ๆ จะช่วยแก้เผ็ดได้ดี

การขยายพันธุ์ : บวบทั้งสามชนิดชอบดินร่วน ระบายน้ำดี มีอินทรียวัตถุสูง แสงแดดตลอดวัน ขยายพันธุ์โดยนำเมล็ดหว่านลงในดิน อีก 7 – 10 วัน เมล็ดจะงอก ควรเตรียมค้างไม้ให้ต้นเลื้อย อย่าให้มีแมลงมากันกินยอดหรือดูดน้ำเลี้ยง ไม่นานดอกเพศผู้จะเริ่มผลิบาน จากนั้นดอกเพศเมียจะทยอยบานเรื่อย ๆ และได้กินผลในไม่ช้า บางท่านจะผูกเชือกที่ปลายผลขณะกำลังเจริญ ห้อยด้วยหิน เพื่อถ่วงให้ผลตรงสวยงาม