ขี้ครอก

ชื่ออื่น: ขมงดง, หญ้าผมยุ่ง, ปะเท้า (แม่ฮ่องสอน), ปอเส็ง, เส้ง (ใต้), ปูลุ (มลายู), ขี้หมู (โคราช)

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Urena lobata Linn.

ชื่อวงศ์: MALVACEAE

เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 3-5 ฟุต ใบเดี่ยวรูปหัวใจริมจักเว้าแฉกลึก คล้ายใบมะระมีขน ต้นที่ใบแฉกลึก เรียกว่า ขี้ครอกตัวผู้ ต้นที่ใบแฉกตื้น เรียก ขี้ครอกตัวเมีย ดอกสีแดงแกมขาว ลูกกลมเป็นหนามเหนียว

นิเวศวิทยา: ขึ้นตามที่รกร้างว่างเปล่า ตามป่าละเมาะทั่วไป

สรรพคุณ

  • ใบ รสขื่น ต้มจิบแก้ไอ ขับเสมหะ
  • ราก รสเย็น ถอนพิษไข้ แก้พิษร้อน
  • ทั้งห้า รสขมเย็น ขับปัสสาวะ แก้ไตพิการ

ขี้กาแดง

ชื่ออื่น: แตงโมป่า (กาญจนบุรี), มะกาดิน (ชลบุรี), กายิงอ (มลายู)

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Gymnopetalum integrifolim Kurtz, Trichosanthes tricuspidata Lour

ชื่อวงศ์: CUCURBITACEAE

เป็นไม้เถาพาดพันตามต้นไม้อื่น

ใบและเถา: ใบและเถาคล้ายเถาฟักข้าว ใบเดี่ยวรูปไข่ เกือบกลม 5 เหลี่ยม หรือแฉกลึก 5 แฉก โคนเว้ารูปหัวใจค่อนข้างเรียบ ปลายแหลมผิวหยาบสากด้านล่างมีขน ยาวประมาณ 4 นิ้ว แถามีมือจับ

ดอก: ดอกเพศผู้เพศเมียแยกจากกัน ดอกเพศผู้ ออกเป็นช่อยาวประมาณ 10-20 ซม. ดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยว ซานดอกเป็นหลอดยาว กลีบรูปไข่กลับปลายแหลมสีขาว

ผล: ผลกลมรี เมื่อสุกสีแดง เมื่อแห้งเนื้อโปร่งเหมือนฟองน้ำ

นอเวศวิทยา: เกิดตามป่าทั่วไป

การขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

สรรพคุณ

  • ใบ รสขม ตำพอกฝี ทาแก้โรคผิวหนังอักเสบ ตำคั้นเอาน้ำให้เด็กกิน แก้ท้องเสีย
  • หัว รสขม บำรุงหัวใจ แก้ม้ามย้อย ตับโต หรืออวัยวะในช่องท้องบวมโต
  • ราก รสขม บำรุงน้ำดี แก้ไข้ ดับพิษไข้ แก้ปวดศีรษะ แก้จุกเสียด บดทา ฝีฝักบัว แก้ตับโต ม้ามย้อย อวัยวะในช่องท้องบวมโต
  • ลูก รสขม บำรุงน้ำดี แก้พิษเสมหะและโลหิต ถ่ายพิษเสมหะให้ตก แก้พิษตานซาง แก้ตานขโมย ขับพยาธิ เป็นยาถ่ายอย่างแรง ไข้ควันรม แก้หืด
  • ทั้งเถา รสขม ต้มอาบ แก้เม็ดผดผื่นคัน แก้ไข้หัว ไข้พิษไข้กาฬ ต้มดื่มบำรุงน้ำดี ขับเสมหะ ดับพิษ แก้ไอเป็นเลือด

ขี้กาขาว

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Bryonia lasiniosa Linn.

ชื่อวงศ์: CUCURBITACEAE

เป็นไม้เถาขนาดเล็ก เลื้อยตามผิวดิน

เถาและใบ: เถาและใบมีขนดกหนาตลอด

ดอก: ดอกเดี่ยวสีขาว

เมล็ด: เมล็ดสีดำ เนื้อหุ้มเมล็ดสีแดง

นิเวศวิทยา: เกิดตามที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป

การขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

สรรพคุณ

  • ใบ รสขม ตำสุมกระหม่อมเด็ก แก้หวัดคัดจมูก
  • เถา รสขม บำรุงน้ำดี ดับพิษเสมหะและโลหิต ชำระเสมหะให้ตก ฆ่าเรือดไรหิดเหา
  • ดอก รสขม บำรุงกำลัง
  • ลูก รสขม ถ่ายพิษตานซาง ขับพยาธิ ถ่ายเสมหะ แก้ตับปอดพิการ
  • ราก รสขม ต้มดื่ม บำรุงร่างกาย บดเป็นผงรับประทาน แก้ตับหรือม้ามโต รากสด ตำผสมน้ำมันทาแก้โรคเรื้อน

ข่า

Galangal, Greater Galangal, False Galangal

ชื่ออื่น: กฏุกโรหินี, ข่าใหญ่, ข่าหลวง, ข่าหยวก (เหนือ), เสะเออเคย, สะเอเชย (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ข่าตาแดง (กลาง)

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Alpinia siamensis K.Schum. (ข่าใหญ่), A.galanga Swartz. (ข่า), Languas galanga (Linn.) Stuntz. (ข่าตาแดง)

ชื่อวงศ์: ZINGIBERACEAE

เป็นพืชล้มลุกจำพวกเหง้า เหง้าใหญ่ขาวอวบ ต้นสูงประมาณ 2 เมตร

ใบ: ใบรูปใบพายปลายแหลม ยาว 20-50 ซม. ขอบเรียบ มีขนเล็กน้อย ก้านใบสั้น มีกาบใบหุ้มลำต้นบนดิน

ดอก: ดอกช่อออกที่ยอด ยาว 15-30 ซม. ดอกขนาดเล็ก สีขวอมเขียว อยู่กันอย่างหลวมๆ

ผล: ผลกลมรีขนาด 1 ซม. สีแดงส้ม แก่จัดสีดำ มีเมล็ด 2-3 เมล็ด

*ข่าตาแดง เหมือนกับข่าทั่วไป แต่ต้นเล็กกว่าเล็กน้อย โคดต้นสีแดง หน่อออกใหม่และตาสีแดง รสและสรรพคุณมีฤทธิ์แรงกว่าข่าธรรมดา

นิเวศวิทยา: เกิดตามป่าดงดิบเขาทั่วไป

สรรพคุณ

  • ใบ รสเผ็ดร้อน ฆ่าพยาธิ กลากเกลื้อน ต้มอาบ แก้ปวดเมื่อยตามข้อ
  • ดอก รสเผ็ดร้อน แก้กลากเกลื้อน
  • ผล รสเผ็ดร้อนฉุน ช่วยย่อยอาหาร แก้ปวดท้อง แก้คลื่นเหียนอาเจียน ท้องอืดเฟ้อ แก้บิดมีตัวและไม่มีตัว
  • หน่อ รสเผ็ดร้อนหวาน แก้ปวดท้อง จุกเสียดแน่น ขับลมให้กระจาย แก้ฟกบวม แก้พิษ แก้บิด แก้ตกโลหิต แก้ลมป่วง แก้กลากเกลื้อน ขับน้ำคาวปลา แก้สันนิบาตหน้าเพลิง ตำกับมะขามเปียกและเกลือให้สตรีรับประทานหลังคลอด ขับเลือดน้ำคาวปลา ขับรก
  • ต้นแก่ รสเผ็ดร้อนซ่า ตำผสมน้ำมันมะพร้าว ทาแก้ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อตามข้อ แก้ตะคริว
  • ราก รสเผ็ดร้อนปร่า ขับเลือดลม ให้เดินสะดวก แก้เหน็บชา แก้เสมหะและโลหิต

 

 

ขัดมอน

ชื่ออื่น: คัดมอน

ชื่อวงศ์: MALVACEAE

มีหลายสายพันธุ์อยู่ในวงศ์เดียวกัน คือ

1. ขัดมอน, หญ้าขัด (เหนือ), ขัดมอนตัวผู้, อีกิมแดง (ตะวันออก), หญ้าขัดใบมน, บ้วยเน็กเช้า (จีน)

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Sida rhombifolia Linn.

 

2. หญ้าขัด, ยุงปัด (เหนือ), ยุงกวาด, หญ้าขัดใบยาว, เน่าะเค๊ะ, นาคุ้ยหมี (แม่ฮ่องสอน), ลำมะเท็ง (ศรีราชา), ต้นข้าวต้ม, อีกิม, อีกิมขาว, ตังเป็งกิวจู (จีน)

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Sida acuta Burm.f., S. carpinifolia Linn.f.

 

3. หญ้าขัดใบป้อม, ตาลทราย(ประจวบคีรีขันธ์)

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: S. cordifolia Linn.

 

4. หญ้าขัดหลวง, ขัดมอนหลวง

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Sida corylifolia wall.

 

5. หญ้ายุงปัดแม่หม้าย

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Sida rhombifolia Linn var. refusa Linn.

 

เป็นต้นไม้ขนาดเล็กจำพวกหญ้า ต้นสูงประมาณ 3 ฟุต บางชนิดสูงไม่ถึงฟุต ลำต้นขนาดเท่านิ้วมือ เปลือกบางคล้ายปอ ผิวสีขาว แดง และแดงคล้ำ ตามแต่สายพันธุ์

ที่นิยมใช้ทำยา เป็นชนิดต้นเตี้ย ใบรูปไข่กลม ขอบใบจัก โตราว 1 ซม. และชนิดใบมนขอบใบจัก ปลายแหลม โตประมาณ 2 ซม. ลำต้นและก้านสีแดงหรือม่วง ดอกเล็กสีเหลือง

นิเวศวิทยา: เกิดตามที่รกร้างริมทางทั่วไป

การขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

สรรพคุณ

  • ราก รสเผ็ดฝาด แก้ตัวร้อน ขับพิษร้อนภายใน ขับพิษไข้หัวให้เม็ดซ่านออกมาจากภายใน เช่น เหือดหัด สุกใส ดำแดง ไข้รากสาด แก้พิษหลบใน แก้น้ำดีพิการ แก้อาเจียน บำรุงกำลัง ขับเสมหะ บำรุงปอด แก้เยื่อสมองอักเสบ แก้ปวดมดลูก แก้ปวดหน้าท้อง ขับเลือด และ รกหลังคลอด แก้กามตายด้าน ตำพอก แก้พิษปวดบาดแผล แก้แผลสด แก้โรคผิวหนังผื่นคัน
  • ชนิดใบเล็กยาว ต้นสีเขียว ใบรูปหอกเรียวแหลม สีเขียวอมเหลือง สูง 2-3 ฟุต ราก ช่วยดับพิษไข้ พิษกาฬ แก้พิษร้อนภายใน แก้พิษงู แก้กามจายด้าน

ขอบชะนาง

ชื่ออื่น: ขอบชะนางแดง, ขอบชะนางขาว, หนอนตายขาว, หนอนตายแดง, หญ้าหนอนตาย, หญ้ามูกมาย, ตาสียาเก้อ, ตาสีเพาะเกล (แม่ฮ่องสอน)

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Pouzolzia pentandra Benn.

ชื่อวงศ์: URTICACEAE

เป็นพืชจำพวกหญ้าเลื้อยแผ่ไปตามดิน ยอดตั้งขึ้นสูงประมาณ 1-2 ฟุต ลำต้นเท่าธูป มี 2 ชนิด คือ ขอบชะนางแดง และขอบชะนางขาว ใบเดี่ยวออกสลับกันคนละข้าง

  • ขอบชะนางแดง ใบรูปหอกปลายแหลม หน้าใบสีเขียวอมแดง ท้องใบสีแดงคล้ำ ลำต้นสีแดงคล้ำแซมเขียว
  • ขอบชะนางขาว ใบรูปไข่ปลายแหลม สีเขียวอ่อน ลำต้นสีเขียว มีขนตามต้นและใบ

ทั้งสองชนิด ดอกช่อออกเป็นกระจุกอยู่ตามซอกใบ ขอบชะนางแดง ดอกสีแดง ขอบชะนางขาว ดอกสีเขียวอมเหลือง

นิเวศวิทยา: เกิดตามที่ลุ่มชื้นและริมลำธารในป่าดงดิบ และป่าเบญจพรรณทั่วไป

การขายพันธุ์: ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

สรรพคุณ

  • เมื่อนำต้นสดมาตำใส่ไว้บนปากไหปลาร้าหนอนจะตายหมด
  • ต้น รสเมาเบื่อร้อน ขับโลหิตระดู ขับระดูขาว ขับปัสสาวะ แก้โรคหนองใน ขับเลือดลม กระจายโลหิต แก้ริดสีดวงผอมแห้ง ฆ่าหนอน ฆ่าแมลง แก้โรคผิวหนัง
  • ใบ รสเมาเบื่อร้อน ตำทาแก้กลาก ต้มน้ำอาบหลังคลอด แก้ปวดเมื่อย
  • เปลือกต้น รสเมาเบื่อร้อน ดับพิษในกระดูก ดับพิษในเส้นเอ็น ฆ่าพยาธิผิวหนัง แก้รำมะนาด แก้ปวดฟัน

ข่อย

Siamese Rough Bush, Tooth Brush Tree

ชื่ออื่น: ส้มผ่อ (อีสาน), กักไม้ฝอย (เหนือ), ส้มพอ (เลย), ขรอย, ขันตา (ใต้), สะนาย (เขมร), ตองขะแน่ (กาญจนบุรี)

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Streblus asper Lour.

ชื่อวงศ์: MORACEAE

เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เปลืองบางเกลี้ยง สีออกเทาอมเขียว แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มทึบ

ใบ: ใบเดี่ยวรูปไข่ ขนาดเท่าใบพุทรา หนาสากเหมือนกระดาษทราย

ดอก: ดอกตัวผู้ดอกเป็นช่อมีก้านสั้น สีเหลืองอมเขียวออกขาว ดอกตัวเมียออกเป็นคู่ๆ ก้านยาวสีเขียว

ผล: ผลเล็กสีเขียว เมื่อสุกมีสีเหลือง เหมือนก้นกบ ผิวนั่มใส

เนื้อ: เนื้อรสหวานเมา

เมล็ด: เมล็ดแข็งกลม เท่าเมล็ดพริกไทยล่อน

นิเวศวิทยา: เกิดตามป่าเบญจพรรณทั่วไป

การขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

สรรพคุณ

  • ใบ รสเมาเฝื่อน ตำผสมข้าวสารคั้นเอาน้ำดื่มครึ่งถ้วยชา ทำให้อาเจียนถอนพิษยาเบื่อยาเมา หรืออาหารแสลง ชงกับน้ำร้านดื่มระบายท้อง แก้ปวดท้องขณะมีประจำเดือน แก้ปวดเมื่อย บำรุงธาตุ ขับผายลม แก้ท้องอืดเฟ้อ
  • เปลือกต้น รสเมาฝาดขม ดับพิษในกระดูกในเส้น แก้พยาธิผิวหนัง เรื้อน มะเร็ง ดับพิษทั้งปวง แก้โรคฟัน รักษาฟันให้แข็งแรง แก้ปวดฟัน แก้รำมะนาด หุงเป็นน้ำมันทาหัวริดสีดวง
  • กระพี้ รสเมาฝาดขม แก้พยาธิ แก้มะเร็ง ฝนกับน้ำปูนใสทาแก้ผื่นคัน
  • เยื่อหุ้มกระพี้ รสเมาฝาดเย็น ขูดเอามาใช้ทำยาสูบแก้ริดสีดวงจมูก
  • ราก รสเมาฝาดขม รักษายาดแผล
  • เปลือกราก รสเมาขม บำรุงหัวใจ พบว่ามีสารที่มีฤทธิ์บำรุงหัวใจกว่า 30 ชนิด
  • ลูก รสเมาหวานร้อน บำรุงธาตุ แก้ลม แก้กระษัย ขับลมจุกเสียด เป็นยาอายุวัฒนะ
  • เมล็ด รสเมามันร้อน เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงธาตุเจริญอาหาร ขับผายลม แก้ท้องอืดเฟ้อ แก้โลหิตและลม ขับลมในลำไส้

ขอนดอก

ขอนดอก

เป็นพืชวัตถุ เกิดจากเนื้อไม้ที่มีโรคภายในผุเป็นโพรงเล็กๆสีขาว กระจายไปทั่วเนื้อไม้ เรียกว่า เกิดสารลง เรานำส่วนที่สารลงมาใช้ปรุงเป็นยา

มีอยู่ 2 ชนิด คือ 1.ขอนดอกไม้พิกุล 2.ขอนดอกไม้ตะแบก

สรรพคุณ

  • รสจืดหอม แก้ลม บำรุงหัวใจ บำรุงตับปอด บำรุงทารกในครรภ์ ทำหัวใจให้ชุ่มชื้น

ขลู่

Indian Marsh Fleabane

ชื่ออื่น: หนาดวัว, หนวดงิ้ว, คลู (ใต้)

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Pluchea indica (Linn.) Less.,P.foliolosa DC., Coryza corymbose Roxb., C. indica Mig., Baccharis indica Linn.

ชื่อวงศ์: COMPOSITAW

เป็นไม้พุ่ม สูง 1-2 เมตร

ใบ: ใบรูปไข่กลับ ปลายแหลม ขอบหยัก โดยรอบมีขนขาวๆปกคลุม ก้านสั้น

ดอก: ดอกเล็กๆเป็นกระจุกรวมกันเป็นช่อ สีขาวอมม่วง ออกตามง่ามใบ

นิเวศวิทยา: เกิดตามที่รกร้างว่างเปล่า ที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเล ชอบดินเค็มหรือกร่อย

การขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

สรรพคุณ

  • ใบ เมื่อนำมาผึ่งให้แห้งจะมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นน้ำผึ้ง ใช้ชงดื่มแทนชา
  • ใบ รสฝาดหอมเมาเค็ม แก้ริดสีดวงทวาร แก้กระษัย ขับนิ่ว ขับปัสสาวะ เป็นยาอายุวัฒนะ สมานกายนอกและภายใน แก้ไข้ ขับเหงื่อ
  • ดอก รสฝาดหอมเมาเค็ม แก้นิ่ว
  • ราก รสฝาดเมาเค็ม แก้นิ่วในไต ขับปัสสาวะ
  • ทั้งต้น รสหอมฝาดเมาเค็ม แก้นิ่วในไต ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้ริดสีดวงทวาร แก้มุตกิดระดูขาว แก้ตานขโมย
  • เปลือกต้น รสเมาขื่นหอม แก้ริดสีดวงจมูก ริดสีดวงทวาร แก้กระษัย ขูดเอาขนออกให้สะอาด ลอกเอาแต่เปลือก หั่นเป็นเส้นมวนสูบ แก้ริดสีดวงจมูก

 

ขมิ้นชัน

Turmeric, Curcuma, Yellow Root

ชื่ออื่น: พญาว่าน, ขมิ้นดี, ขมิ้นป่า, ขมิ้นหัว, ขมิ้นไข, ขมิ้นหยวก, ขมิ้นแดง, ตายอ, สะยอ (กะเหรี่ยง), ขี้มิ้น (ใต้, อีสาน), ขมิ้นแกง

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Curcuma longa Linn., C. domestica valeton

ชื่อวงศ์: ZINGIBERACEAE

เป็นพืชจำพวกเหง้า สูง 50-70 เซนติเมตร

ใบ: ใบรูปหอกปลายแหลม กาบใบแคบมีร่องเล็กๆ สีเขียวอมน้ำตาล เมื่อถึงฤดูฝนใบจะงอกงาม แล้วแห้งไปในหน้าแล้ง

ดอก: ดอกช่อใหญ่ พุ่งมาจากเหง้าใต้ดิน สีเขียวแกมขาว ปลายช่อสีชมพูอ่อน ยอดเกสรตัวเมียสีเหลือง เนื้อในเหง้ามีสีส้ม กลิ่นฉุน

นิเวศวิทยา: เกิดในภูมิภาคเขตร้อนทั่วไป

สรรพคุณ

  • ใช้แต่งสีในแกงกะหรี่ เนย เนยแข็ง ผักดอง มัสตาร์ด เป็นต้น ทำสีย้อมผ้า เครื่องสำอาง
  • ใช้เป็นยากันบูดได้เพราะมี curcumin
  • เหง้า รสฝาดหวานเอียน แก้ไข้เพื่อดี คลั่งเพ้อ แก้ไข้เรื้อรัง ผอมเหลือง แก้โรคผิวหนัง แก้เสมหะและโลหิต แก้ท้องว่าง สมานแผล แก้ธาตุพิการ ขับผายลม แก้ผื่นคัน ขับกลิ่น และสิ่งสกปรกในร่างกาย คุมธาตุ หยอดตาแก้ตาบวม ตาแดง น้ำคั้นจากเหง้าสด ทาแก้แผลถลอก แก้โรคผิวหนังผื่นคัน ลดการอักเสบ ทำให้ผิวพรรณผุดผ่อง นำมาอัดเม็ดทำเป็นยารักษาท้องอืดท้องเฟ้อ ธาตุพิการ อาหารไม่ย่อย กระเพาะอาหารอ่อนแอ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร แก้ท้องร่วง แก้บิด
  • ผงขมิ้น (นำเหง้าแห้งมาบดเป็นผง) นำมาเคี่ยวกับน้ำมันพืช ทำน้ำมันใส่แผลสด
  • ขมิ้นสด (ใช้เหง้าสดล้างให้สะอาด) ตำกับดินประสิวเล็กน้อย ผสมน้ำปูนใส พอกบาดแผล และแก้เคล็ดขัดยอก เผาไฟ ตำกับน้ำปูนใส รับประทานแก้ท้องร่วง แก้บิด