ชงโค (Orchid Tree, Purple Bauhinia)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Bauhinia purpurea L.

ไม้ยืนต้น สูงประมาณ 10 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่มหนา เหมาะเป็นร่มเงาให้พักพิง กิ่งอ่อนมีขน

ใบ : มีลักษณะกลมมน มีหยักเว้าลึกตรงกลางใบ ดูคล้ายปีกผีเสื้อ หน้าใบมีขนนุ่ม

ดอก : ออกตามปลายกิ่งหรือส่วนยอดเป็นช่อ ชื่อหนึ่งมีดอกย่อย 6-10 ดอก กลีบดอกมี 5 กลีบ สีชมพู สีบานเย็น หรือม่วงแดง และสีขาว เรียกว่า เสี้ยวดอกขาว ดอกสวย บานทนเป้นเดือน ชงโคให้ดอกในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์

ผล : เป็นฝักแบน ฝักแก่มีสีน้ำตาลและแตกตามแนวยาว เผยให้เห็นเมล็ดแบนๆอยู่ข้างใน สามารถนำมาขยายพันธุ์ได้

วิธีปลูกและดูแลรักษา : เนื่องจากเป็นไม้ยืนต้นทรงพุ่มและดอกสวย ใบดกพุ่มหนา ใช้เป็นร่มเงาได้ดี จึงเป็นต้นไม้ชนิดนึงที่นิยมนำมาปลูกในบริเวณบ้าน และใช้จัดแต่งสวนเป็นไม้ประดับ เจริญเติบโตด้ดีในดินร่วน ระบายน้ำดี ชอบแสงแดดจัด ไม่ค่อยพบศัตรูและโรคพืช

ชื่อวงศ์ : Leguminosae Caesalpinioideae

ประโยชน์ : ชงโคที่มีดอกสีขาวหรือ เสี้ยวดอกขาว ใช้เปลือกต้นมาย้อมแห อวน ให้เหนียวคงทน

สรรพคุณทางสมุนไพร : เปลือกต้น ใช้แก้บิด ท้องเสีย ใบสด ใช้พอกฝีแผล ใบต้มน้ำรักษาอาการไอ ราก ใช้ขับลม ดอก ใช้กินเป็นยาระบาย แก้พิษร้อนและช่วยลดไข้

ต้นไม้สัญลักษณ์ : ชงโคเป็นไม้ต่างถิ่นที่เข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น คนไทยโบราณนิยมปลูกชงโคไว้ประดับบ้าน เพราะเป็นไม้ยืนต้น ทรงพุ่มสวย ให้ดอกหอม สีสดและบานติดต้น คงทนนานนับเดือน จึงมีความเชื่อสืบกันมาแต่โบราณว่า บ้านใดปลูกชงโคไว้ คนในบ้านจะมีความดีงามและอดทนดุจความงามคงทนของดอกชงโคที่บานนานเป็นเดือนนั่นเอง เสี้ยวดอกขาว เป็นพรรณไม้ประจำจังหวัด น่าน

การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดที่เกิดจากฝักหรือตอนกิ่ง

นิเวศวิทยา : มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย กระจายพันธุ์ถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บุหงาส่าหรี (Fiddlewood)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Citharexylum spinosum L.

ไม้ยืนต้นทรงพุ่มขนาดเล็กถึงกลาง สูงประมาณ 5-10 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาล แตกกิ่งก้านสาขามาก

ใบ : ใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน เป็นใบรูปหอกปลายแหลม โคนใบสอบ แผ่นใบเรียบ เส้นกลางใบหนา

ดอก : ออกเป็นช่อยาว 10-20 เซนติเมตร ห้อยลงตามซอกใบและปลายกิ่ง แต่ละช่อมีดอกเล็กสีขาวจำนวนมาก แต่ละดอกมี 5 กลีบ ทยอยบานจากโคนช่อไปยังปลายช่อ บานได้นาน 8-10 วัน กลิ่นหอมมาก

วิธีปลูกและดูแลรักษา : บุหงาส่าหรีให้ดอกตลอดปี เจริญงอกงามได้ดีในดินทุกสภาพ ขึ้นง่าย โตไว ทนต่อสภาพธรรมชาติและศัตรูพืชได้ดี ควรหมั่นตัดแต่งกิ่งอยู่เสทอ สำหรับฤดูแล้งหรือต้นที่ปลูกในพื้นที่แห้งแล้ง ใบจะเปลี่ยนเป็นสีส้มและร่วงมาก หลังจากนั้นหากได้รับน้ำมากพอจะผลิดอกทั้งต้น

ชื่อวงศ์ : Verbenaceae

ประโยชน์ : ดอก ใช้ประดับผมเจ้าสาวหรือใช้ประกอบพิธีในงานมงคล นอกจากนี้กลิ่นหอมแรงของดอกยังนำมาใช้อบผ้า สกัดทำน้ำหอมได้ด้วย

ต้นไม้สัญลักษณ์ : บุหงาส่าหรีหรือบุหงาแต่งงาน ในภาษาชวามีความหมายถึง ดอกไม้ คนไทยนิยมปลูกต้นบุหงาส่าหรีเพราะลักษณะช่อดอกสีขาว ยาวเรียว ทรงสวย และกลิ่นหอมจัด มักใช้ประดับติดผมเจ้าสาวในงานแต่งงาน สมชื่อบุหงาแต่งงาน เชื่อกันว่าบ้านใดปลูกบุหงาส่าหนีแล้วจะมีความสุข เป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและครอบครัว

การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่งหรือปักชำ

นิเวศวิทยา : มีถิ่นกำเนิดอยู่ในหมู่เกาะอินดีสตะวันตก

พุดซ้อน (Cape Gardenia)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Gardenia jasminoides Ellis

ชื่ออื่น พุดจีน, เคดถวา, พุดใหญ่, พุทธรักษา, แคถวา

ไม้พุ่มเตี้ย สูงประมาณ 1-2 เมตร ผิวลำต้นสีเทาขาว แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกลม ทรงพุ่มหนาแน่น ใบดกทึบ

ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน รูปใบหอกหรือรูปไข่กลับ ปลายใบแหลม โคนใบสอบ สีเขียวเข้มเป็นมันคล้ายพุดจีบ เพียงแต่พุดซ้อนไม่มียางสีขาวอยู่ในต้นและใบเหมือนพุดจีบ

ดอก : เดี่ยว สีขาว กลิ่นหอมออกตามดอกใบและปลายกิ่ง สีขาวสะอาด มีกลีบดอกซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ ออกดอกตลอดปี เวลาบายส่งกลิ่นหอมในช่วงเย็นจนถึงรุ่งเช้า

ผล : เป็นฝัก รูปกระบอก โค้ง ภายในมีเมล็ด 3-5 เมล็ด พุดหลายสายพันธุ์แตกต่างกันไปตามขนาด สี และชนิดของดอก เช่น พุดจีบ พุดซ้อนแคระ พุดตะแคง พุดสามสี เป็นต้น

วิธีการปลูกและดูแลรักษา : ควรปลูกพุดซ้อนในดินร่วนซุยที่มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ถ้าปลูกในที่แสงรำไรมักให้ดอกน้อย จึงควรปลูกบริเวณกลางแจ้งที่มีแสงแดดจัดจึงจะให้ดอกตลอดปี พุดซ้อนเป็นไม้ที่ปลูกง่าย ทนแดด ทนลม ปัญหาเรื่องโรคและศัตรูพืช มีไม่มากเท่าใด ปัจจุบันนิยมปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป

ชื่อวงศ์ : Rubiaceae

ประโยชน์ : นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ กลีบดอก สามารถสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย ใช้ผลิตน้ำหอม แต่งกลิ่นเครื่องสำอาง และใช้ทำสีผสมอาหารหรือใช้ย้อมผ้า นอกจากนี้เนื้อไม้ยังมีความละเอียดสวย ใช้ทำหีบบุหรี่ เครื่องกลึง งานแกะสลัก ของตกแต่งบ้าน ของเด็กเล่น และอุปกรณ์การเกษตร

สรรพคุณทางสมุนไพร : ใบ ตำพอกแก้ปวดศีรษะ เคล็ดขัดยอก และถ้านำใบมาตำกับข้าวสุกพอก ช่วยแก้เจ็บส้นเท้าได้ ดอก คั้นเอาแต่น้ำ ทาแก้โรคผิวหนัง ผลหรือฝัก ใช้ขับปัสสาวะ ขับพยาธิ เนื้อไม้ ใช้ลดไข้ ราก แก้ไข้ ขับปัสสาวะ เลือดกำเดา เลือดออกตามไรฟัน ปัสสาวะเป็นเลือด ปวดฟัน ร้อนใน เปลือกต้น ใช้แก้บิด

ต้นไม้สัญลักษณ์ : คำว่า “พุด” หรือ “พุฒ” มีความหมายคือ ความแข็งแรง สมบูรณ์ ความเจริญมั่นคงถาวร ทั้งลำต้นของพุดยังเป็นไม้รูปทรงสวย ดอกงาม ให้กลิ่นหอม กลีบดอกใหญ่สีขาว สะอาดตา เลี้ยงง่ายและให้คุณประโยชน์มากมาย พุดจึงถือเป็นไม้มงคลต้นหนึ่งที่เชื่อกันว่า หากบ้านใดปลูกไว้ทางทิศตะวันตก จะก่อให้เกิดสิริมงคล ทำให้ผู้อยู่อาศัยมีสุขภาพดี มีความเจริญรุ่งเรือง มีชีวิตที่มั่นคง ไม่แปรเปลี่ยน มีความบริสุทธิ์และตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม ในต่างประเทศยังนิยมนำดอกพุดซ้อนมาทำช่อดอกไม้แต่งงานอีกด้วย

การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่ง ถ้าปลูกในที่แสงแดดไม่เพียงพอจะไม่ค่อยออกดอก หากตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่งจะทำให้ดอกมีขนาดใหญ่ขึ้น

นิเวศวิทยา : มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ

กัลปพฤกษ์ (Horse Cassia, Pink Cassia, Pink Shower,Wishing Tree)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Cassia bakeriana Craib

ไม้ต้น สูงประมาณ 10-15 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาค่อนข้างมาก

พุ่มใบแบนกว้าง ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ใบย่อย 5-8 คู่ มีขนนุ่มปกคลุม

ดอก : ออกเป็นช่อตามกิ่ง ดอกหนึ่งมี 5 กลีบ สีชมพูดอ่อนแกมขาว มักออกดอกในระหว่างทิ้งใบหรือผลิใบใหม่ แต่บางพันธุ์ก็ออกในระหว่างที่มีใบติดอยู่มากได้เช่นกัน เมื่อดอกเริ่มบานเป้นสีชมพู พอใกล้โรยกลายเป้นสีขาว

ผล : เป็นฝักกลมยาว มีขนนุ่มปกคลุม เมื่อแก่มีสีน้ำตาลคล้ำและมีกลิ่นเหม็น ภายในมีเมล็ดกลมแบน

วิธีปลูกและดูแลรักษา : กัลปพฤกษ์เป็นไม้ที่ชอบแสงแดดจัด ควรปลูกในดินปนทรายหรือดินร่วนซุยเพราะสามารถทนแล้งได้ดี และไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรค ส่วนใหญ่มักพบต้นกัลปพฤกษ์ที่ภาคอีสานและภาคเหนือ

ชื่อวงศ์ : Leguminosae Caesalpinioideae

ประโยชน์ : เป็นไม้ยืนต้นที่แผ่กิ่งก้านสาขามาก ให้ร่มเงาในบริเวณกว้าง หรือปลูกเพื่อความสวยงามเพราะกัลปพฤกษ์มีดอกที่สวย เนื้อและเปลือกไม้ มีสารฝาดใช้ฟอกหนัง

สรรพคุณทางสมุนไพร : ฝักใช้ทำยาระบายอ่อนๆ

ต้นไม้สัญลักษณ์ : กัลปพฤกษ์เป็นต้นไม้ที่อยู่ในตำนานสมัยโบราณ ถือว่าเป็นต้นไม้ทิพย์ที่มีคุณวิเศษของเทพเจ้า เป็นหนึ่งในต้นไม้สวรรค์ที่จะบันดาลผลให้สำเร็จตามความปรารถนา และเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะ เชื่อกันว่าบ้านใดปลูกต้นกัลปพฤกษ์ไว้ประจำบ้าน โดยเฉพาะทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้จะเป็นสิริมงคล ทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิต พบแต่ความสุขสมหวังทุกประการ หากผู้ปลูกเป็นผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือและเป็นผู้ประกอบคุณงามความดี ก็จะเป็นสิริมงคลยิ่งนัก เช่นเดียวกับต้นกัลปพฤกษ์ที่มีอายุยืนนาน แผ่กิ่งก้านสาขากว้างใหญ่ กัลปพฤกษ์เป็นไม้ที่พบในประเทศไทยเป็นประเทศแรกและจดทะเบียนชื่อวิทยาศาสตร์ครั้งแรกของโลก นอกจากเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลประจำจังหวัดขอนแก่นแล้ว ยังเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร (ฝ่ายประถม)

การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยการตอนและเพาะเมล็ด ซึ่งการเพาะเมล็ดเป็นวิธีที่นิยมเพราะค่อนข้างได้ผลมากกว่า

นิเวศวิทยา : มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ดาวเรือง (Marigold)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Tagetes erecta L.

ไม้ล้มลุก ฤดูเดียว สูงประมาณ 1 เมตร ลำต้นตั้งตรง เมื่อขยี้จะมีกลิ่นฉุน

ใบ : ใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม ขอบใบเป็นรอยหยักเว้าเป็นแฉกเล็กๆดูคล้ายใบประกอบ สีเขียวเข้ม กลิ่นฉุน มีหลายพันธุ์

ดอก : มีทั้งดอกเล็กและดอกใหญ่ สีเหลืองสด เหลืองส้ม และเหลืองแกมน้ำตาล ออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่น กลีบดอกย่อยมีลักษณะบานแผ่ยาวหยักซ้อนกันหลายชั้น หยิกเป็นคลื่นละเอียดเต็มหมดทั้งดอกท

เมล็ด : ยาว เรียวแบน สีน้ำตาลเข้มเกือบดำใช้ขยายพันธุ์

วิธีการปลูกและดูแลรักษา : ดาวเรืองมักออกดอกในฤดูหนาว ชอบดินร่วนหรือระบายน้ำได้ดี ควรปลูกไว้กลางแจ้งเพราะเป็นไม้ที่ชอบแดดจัดตลอดวัน นิยมปลูกเป็นไม้ประดับริมรั้ว หรือปลูกในกระถาง เพราะปลูกขึ้นง่าย ใช้วิธีเพาะเมล็ด เมื่อต้นอ่อนเริ่มงอกควรให้ปุ๋ยบำรุงต้นอย่างสม่ำเสมอ เพียงไม่เกินหนึ่งเดือนดาวเรืองก็จะออกดอก ปัจจุบันดาวเรืองจัดเป็นพืชเศรษฐกิจยอดนิยมต้นหนึ่ง เพราะมีการปรับปรุงพันธุ์จนได้พันธุ์ “ดาวเรืองเกษตร” ที่ให้ดอกใหญ่ กลีบหนา มีอายุการใช้งานนาน จึงมีราคาในตลาดสูงกว่าพันธุ์ดั้งเดิมที่ให้ดอกเล็กกว่า

ชื่อวงศ์ : Asteraceae

ประโยชน์ : ปลูกเป็นไม้ประดับ จัดสวน ให้ความสวยงาม ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา บูชาพระหรือเทพเจ้า กลีบดอก นำมารับประทานได้ โดยนำมาใส่ไข่เจียว ชุบแป้งทอด กลีบดอกสีเหลืองสด ใช้ย้อมผ้า ใช้ผสมอาหารให้ไก่กินเพื่อให้ได้ไข่ไก่ที่มีสีสวยและช่วยให้ผิวหนังไก่มีสีเข้มอีกด้วย

สรรพคุณทางสมุนไพร : ดอก นำมาต้มกับเนื้อไก่หรือตับไก่กินบำรุงสายตา ให้วิตามินเอค่อนข้างสูง ดอกสดหรือดอกแห้ง ต้มน้ำผสมน้ำตาลแดงดื่มแก้ไอกรน แก้เจ็บตา แก้ปวดฟัน ขับเสมหะ หลอดลมอักเสบ และแก้คางทูมได้ ในประเทศสหรัฐอเมริกานำดอกมาทำเป็นครีมรักษาสิว แก้อักเสบและใช้บำรุงผิว ใบ นำมาคั้นเป้นยาเย็นหยอดแก้ปวดหูอหรือใช้ใบตำพอกรักษาแผล ฝี หนองได้

ต้นไม้สัญลักษณ์ : ในยุโรปดาวเรืองเป็นดอกไม้บูชาหน้าแท่นพระแม่มารีย์ ชาวฝรั่งเศสนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยครั้งแรกในสมัยพระนารายณ์มหาราช เชื่อกันว่าดาวเรืองเป็นไม้มงคล เพราะศาสนาทุกศาสนานิยมใช้ดอกดาวเรืองปักแจกันหรือร้อยเป็นพวงบูชาพระหรือเทพเจ้า เพื่อให้เกิความเป็นสิริมงคล เจริญรุ่งเรืองสมชื่อ ดอกดาวเรืองมีสีเหลืองสด เรืองแสงได้ และมีคุณประโยชน์มาก ดอกดาวเรืองเป็นดอกไม้ประจำจังหวัด สมุทรปราการ

การขยายพันธุ์ : ดาวเรืองชอบดินร่วน ระบายน้ำดี แสงแดดตลอดวัน ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด หลังหว่านเมล็ด 5 – 7 วัน ต้นจึงงอก จากนั้น 2 – 3 สัปดาห์ จึงเริ่มให้ดอกได้ ถ้าต้องการให้ต้นเป็นพุ่มและมีดอกมาก ควรเด็ดยอดทิ้งหลังจากเพาะเมล็ดและมีใบจริง 6 – 8 ใบแล้วให้ปุ๋ยบำรุงต้นและดอกสม่ำเสมอ

นิเวศวิทยา : มีถิ่นกำเนิดในประเทศเม็กซิโก

ตะโกนา (Ebony)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Diospyros rhodocalyx Kurz

ไม้ยืนต้น ขนาดกลาง สูงประมาณ 15 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีดำ ผิวไม่เรียบ แตกเป็นสะเก็ดร่องหนาๆ

ใบ : เป็นใบเดี่ยว รูปไข่กลับป้อม เรียยงสลับกัน ใบบาง สีเขียวเข้ม โคนใบสอบ ปลายใบโค้งมน

ดอก : แยกเพศอยู่ต่างกัน มีทั้งเพศผู้และเพศเมีย ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อเล็กๆตามง่ามหรือซอกใบ ช่อหนึ่งมี 3 ดอก ส่วนดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยว ออกตามง่ามหรือซอกใบเช่นเดียวกัน

ผล : ผลอ่อน รูปทรงกลมเล็กๆ มีขนสีน้ำตาล แดงคลุม เมื่อผลแก่ขนจะค่อยๆหลุดร่วงไป

วิธีการปลูกและดูแลรักษา : ตะโกนาขึ้นได้ดีในดินทุกสภาพและทุกสภาวะอากาศ โดยเฉพาะพื้นที่ที่แห้งแล้ง จึงแข็งแรงทนทานกว่าต้นไม่ชนิดอื่น ปลูกเลี้ยงง่าย ไม่มีปัญหาเรื่องโรคหรือศัตรูพืช

ชื่อวงศ์ : Ebanaceae

ประโยชน์ : ผลดิบมียาง นำมาย้อมแหอวนได้ ต้นตะโกนา ทำไม้ดัดและบอนไซ ใช้ประดับสถานที่ต่างๆให้สวยงาม

สรรพคุณทางสมุนไพร : เปลือกต้นและเนื้อไม้ นำมาต้มเอาแต่น้ำผสมเกลือ ใช้อมแก้ปวดฟันรำมะนาด นอกจากนี้ยังนำไปเผาเป็นถ่าน มีคุณสมบัติเป็นด่าง นำไปแช่น้ำรับประทาน รสเฝื่อน ฝาดขม ช่วยบำรุงธาตุ ย่อยอาหาร ทำให้เกิดกำลัง บำรุงความกำหนัด และหากนำเปลือกต้นผสมหัวหญ้า แห้วหมู เมล็ดข่อย เม็ดพริกไทยแห้ง เถาบอระเพ็ด อย่างละเท่าๆกัน นำมาดองเหล้าหรือต้มกินเป็นยาอายุวัฒนะได้ เปลือกผล เผาเป็นถ่านจะให้รสเย็น ใช้ขับระดู ขับปัสสาวะ ผลหรือลูก รสฝาดหวาน รับประทานได้ แก้ท้องร่วง แก้ตกเลือด มวนท้อง ขับพยาธิและแก้กษัย

ต้นไม้สัญลักษณ์ : ตะโกนาเป็นต้นไม้ที่มีอายุยืนยาว ทนทานทุกสภาพดินฟ้าอากาศและความแห้งแล้ง คนไทยโบราณจึงนิยมปลูกและตัดแต่งเป็นพุ่มไว้ประดับบ้านหรือสวนในทางทิศใต้ เพราะเชื่อว่าบ้านใดปลูกไว้จะทำให้คนในบ้านมีความอดทน เข้มแข็ง และอายุยืนเหมือนต้นตะโกนา นอกจากนี้เปลือกลำต้นของตะโกนามีสำดำมาก คนไทยโบราณจึงมีคำพูดเปรียบเปรยถึงความดำว่า “ดำเหมือนตอตะโก” หรือ “ดำเป็นตอตะโก”

การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

นิเวศวิทยา : มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เข็มขาว (Siamese White lxora)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Ixora finlaysoniana wall. ex. g. don

ไม้พุ่ม ยืนต้นขนาดเล็กถึงกลาง ลำต้นสูงประมาณ 2-5 เมตร มีกิ่งก้านแผ่เป้นพุ่ม โดยแตกกิ่งขึ้นด้านบน ลำต้นเรียบสีน้ำตาล

ใบ : ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่สลับรอบกิ่งสีเขียวสด โคนใบมน ส่วนปลายแหลม มีหลายสายพันธุ์

ดอก : ดอกและใบแตกต่างกันในแต่ละสายพันธุ์ ดอกเข็มออกดอกเป็นช่อที่ส่วนยอดของกิ่ง แต่ละดอกมีกลีบดอกเล็กๆปลายแหลมอยู่ 4-5 กลีบ ตรงกลางดอกมีเกสรเป้นเส้นยาว แหลมเล็กเหมือนเข็มหรือเส้นด้าย มักมีน้ำหวานใสๆติดอยู่ตรงปลายเวลาดึงเกสรออกมา

วิธีการปลูกและดูแลรักษา : เข็มเป็นไม้พุ่มชนิดหนึ่งที่ปลูกง่าย ทนต่อความแห้งแล้งได้ดี ไม่มีปัญหาเรื่องโรคต่างๆ ควรปลูกในดินร่วนซุยหรือดินปนทรายที่มีความชุ่มชื้น เป็นไม้ที่ชอบแสงแดดจัด ต้องการน้ำปานกลาง ควรปลูกในบริเวณที่โล่งแจ้ง

ชื่อวงศ์ : Rubiaceae

ประโยชน์ : นิยมนำเข็มแดง เช่น เข็มเชียงใหม่ เข็มเศรษฐี มาชุบแป้งทอด เป็นเครื่องเคียงน้ำพริก ใช้ยำ หรือรับประทานเป็นผักสลัดได้

สรรพคุณทางสมุนไพร : ราก นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาโรคตา และปรุงเป้นยาช่วยให้เจริญอาหาร ดอก มีรสหวาน เป็นยาระบายอ่อนๆ

ต้นไม้สัญลักษณ์ : เข็ม โดยทั่วไปเป็นคำนามที่หมายถึง เหล็กแหลม ใช้เย็บหรือกลัดสิ่งของ แต่สำหรับชื่อต้นไม้ ต้นเข็มเป็นไม้พุ่มที่มีดอกตูมคล้ายเข็ม ดอกมีสี่กลีบ สีสันสวยงาม แตกต่างไปตามสายพันธุ์ คนไทยโบราณเปรียบดอกเข็มเป็นมงคลนามที่มีความหมายถึง ความหลักแหลม ความคนคายของสติปัญญา และนิยมใช้เป็นดอกไม้บูชาครูในพิธีไหว้ครู เพื่อลูกศิษย์จะได้มีความเฉลียวฉลาด ปัญญาเฉียบแหลมประดุจเข็ม นอกจากนี้ดอกเข็มยังถือเป็นเครื่องบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาอีกด้วย โดยเปรียบเสมือนเป็นเครื่องเตือนใจในทางพระพุทธศาสนาให้ตั้งมั่น คิดทำการใดให้รอบคอบ ละเอียดถี่ถ้วน ด้วยการใช้สติและปัญญาที่เฉียบแหลมเหมือนเข็ม คนไทยโบราณปลูกเข็มไว้ประจำบ้าน เพราะเชื่อว่าจำทำให้คนในบ้านมีความเฉลียวฉลาด และเพื่อความเป็นสิริมงคล นิยมปลูกเข็มทางทิศตะวันออก โดยปลูกเป็นไม้พุ่มประดับหรือปลูกตามแนวรั้วบ้านเพื่อความสวยงาม

การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โยการเพาะเมล็ด ตอน หรือปักชำ

นิเวศวิทยา : มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อน

กุหลาบ (Rose)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Rosa spp. & hybrid

ไม้พุ่ม ยืนต้นขนาดเล็ก บางสายพันธุ์ก็เป็นไม้เลื้อยเถา ลำต้นสีเขียว เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาล ตามลำต้นและกิ่งมีหนามแหลมรอบต้น บางสายพันธุ์ก็ไม่มีหนามเลย

ใบ : ประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3-5 ใบ รูปไข่กว้าง โคนใบสอบ ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบหยัก

ดอก : ออกดอกเป็นดอกเดี่ยวชูโดดเด่น บางสายพันธุ์ก็ออกดอกเป็นช่ออยู่ที่ปลายยอด กลีบดอก มีทั้งชนิดเดียวและหลายชั้น ดอกหนึ่งมีกลีบประมาณ 5-15 กลีบ เกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย เป็นอิสระรวมกันอยู่ตรงกลางดอก มีกลีบเลี้ยงปลายแหลม 4-5 แฉกอยู่ใต้ฐานรองดอกสีเขียว ก้านดอกยาวแตกจากปลายกิ่ง มีลำต้น ดอก และใบ แตกต่างกันตามสายพันธุ์ แต่ไม่ว่าสายพันธุ์ใดเมื่อขึ้นชื่อว่าดอกกุหลาบแล้วย่อมมีกลิ่นหอมทั้งนั้น

วิธีการปลูกและดูแลรักษา : กุหลาบชอบดินร่วนซุย ควรปลูกในบริเวณที่เป็นที่โล่งแจ้ง เพราะชอบแสงแดดจัด ชอบน้ำปานกลาง แต่ไม่ค่อยทนต่อศัตรูพืช ผู้พูดจึงต้องคอยฉีดสารป้องกันกำจัดโรคใบจุดในช่วงก่อนฤดูฝน และฉีดสารป้องกันหนอนเจาะดอก คอยตัดเล็มใบเสีย สังเกตศัตรูพืช เมื่อดอกโรยจากต้นแล้วให้หมั่นตัดแต่งกิ่งบ่อยๆ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย เพียงเท่านี้กุหลาบก็จะออกดอกสวย โดดเด่น และอายุยืนหลายปี

ชื่อวงศ์ : Rosaceae

ประโยชน์ : นิยมนำกลีบดอกกุหลาบมากลั่นเป็นน้ำมันกุหลาบ โดยใช้น้ำมันกุหลาบ 1-2 หยด ผสมกับน้ำอุ่นแช่น้ำอาบ ช่วยให้นอนหลับสบาย บ้างก็นำกลีบดอกกุหลาบกับดอกมะลิลอยน้ำสะอาด เก็บในภาชนะมีฝาปิดมิดชิด 1 คืน เป็นน้ำลอยดอกมะลิ-กุหลาบ ใช้ปรุงแต่งอาหารและผสมแป้งทำขนมไทย เช่น ลอดช่องน้ำกะทิ ซ่าหริ่ม เป็นต้น บ้างก็ใช้กลีบดอกกุหลาบมาปรุงอาหาร เช่น ยำดอกกุหลาบ หรือนำมาชุปแป้งทอด รับประทานเล่นเป็นเครื่องเคยงจิ้มกับน้ำพริกก็ได้เช่นกัน

สรรพคุณทางสมุนไพร : คนไทยโบราณนิยมนำมาปรุงยาหรือประกอบอาหาร คือ กุหลาบมอญ นิยมนำกลีบดอกกุหลาบมอญผสมกับดอกมะลิและกระดังงาลอยในน้ำดื่มให้กลิ่นหอมชื่นใจ ลดความกระวนกระวาย แก่อ่อนเพลีย ตำราไทยใช้บำรุงหัวใจ ทำให้ใจเบิกบาน ขับน้ำดี ใช้เป็นยาสมานแผล ทำให้แผลหายเร็ว รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก รับประทานแก้หลอดลมอักเสบ เจ็บคอ กระเพาะอาหารอักเสบ ท้องเสียเรื้อรัง ช่วยย่อย และทำให้เจริญอาหาร ดอกแห้งใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ แก้อ่อนเพลีย กลีบดอกแห้งใช้ผสมกับใบชา บรรจุถุงแบบชา ชงดื่มเป็นสมุนไพร มีสรรพคุณบำรุงหัวใจ ถ้าชอบหวานให้ผสมน้ำผึ้ง

ต้นไม้สัญลักษณ์ : กุหลาบเป็นดอกไม้ที่ได้รับการยกย่อง ให้เป็นราชินีแห่งอุทยาน เพราะให้ดอกหลายสี หลายพันธุ์ กลิ่นหอม หนุ่มสาวต่างประเทศในแถบยุโรปถือว่าดอกกุหลาบเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักและความหมายแทนใจที่มอบให้แก่กัน ในประเทศจีนดอกกุหลาบเป็นดอกไม้ที่บานทุกเดือนตลอดทั้งสี่ฤดู ชาวจีนจึงเรียกดอกกุหลาบว่า “ฉังชุนฮัว” แปลว่าดอกไม้ที่มีความสดชื่นตลอดกาล การปักดอกกุหลาบจึงนิยมปักในแจกันจีน ซึ่งภาษาจีนเรียกแจกันว่า “ผิง” พ้องกับคำว่า ผิงอัน ที่มีความหมายว่าร่มเย็นและสันติสุข คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกกุหลาบไว้ประจำบ้าน โดยเฉพาะทางทิศตะวันออก จำทำให้คนในบ้านเกิดความสง่างามและมีความภาคภูมิ เพราะดอกกุหลาบเวลาชูช่อเบ่งบานนั้นสวยงาม โดดเด่น

การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์ได้โดยการตอน ปักชำ ทาบกิ่ง และนิยมติดตา

นิเวศวิทยา : กุหลาบเป็นพรรณไม้เก่าแก่เมื่อประมาณสามสิบล้านปีหรืออาจมากกว่านั้น มีถิ่นกำเนิดอยู่ในบริเวณเทือกเขาคอเคซัส ดินแดนเปอร์เซียร์ หรือประเทศอิหร่านปัจจุบัน ภาษาเปอร์เซียเรียกกุหลายว่า กุล (gul) แปลว่า ดอกไม้ และในประเทศอินเดีย ภาษาฮินดีก็มีคำว่า กุล ที่มีความหมายว่า ดอกไม้ เช่นกัน และเรียกกุหลาบว่า “กุลาพ” จึงสันนิษฐานว่า กุหลาบจากเปอร์เซียคงแพร่หลายไปอินเดีย และไทยก็ได้กุหลาบมากจากอินเดียอีกมอดหนึ่ง โดยเรียกแบบไทยว่า “กุหลาบ” กุหลาบพันธุ์ดั้งเดิมที่อยู่ในไทยนั้นเป็นกุหลาบป่า มีทั้งชนิดดอกเดียวและดอกซ้อน เป็นดอกไม้ที่นิยมกันทั่วโลก จึงมีการผสมและพัฒนาสายพันธุ์มานานนับร้อยปี ปัจจุบันที่พบส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ลูกผสม ซึ่งมีอยู่มากกว่า 200 สายพันธุ์

กระบองเพชร (Cactus)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Cereus hexagonus (L.) Mill.

ไม้ยืนต้น ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีทั้งทรงเหลี่ยม ทรงกระบอง ทรงแหลมยาว และทรงกลมป้อมตามแต่สายพันธุ์

ลำต้น : มีลักษณะเป็นสีเขียวและมีหนามแหลมหรือมีขนรอบต้น สูงประมาณ 1-3 ฟูต ลำต้นของกระบองเพชรจำทำหน้าที่แทนใบ เป็นต้นไม้ที่มีสี ขนาดและลักษณะของดอกแตกต่างกันตามสายพันธุ์ เช่น สีเหลือง ชมพู แดง ส้ม ขาว

วีธีการปลูกและดูแลรักษา : กระบองเพชรเป็นไม้ที่ชอบแสงแดดจัดและทนต่อความแห้งแล้งได้ดี ชอบอยู่กลางแจ้งในดินร่วนปนทราย ต้องการน้ำน้อย หากให้น้ำมากไปจะทำให้เฉา รากเน่าและตายได้ เป็นไม้ที่ปลูกง่าย ดอกสีสวยสด รูปทรงต้นสวยแปลกตาทนทานต่อสภาพธรรมชาติและศัตรูพืชได้ดี จนได้รับฉายาว่า “กุหลาบทะเลทราย”

ชื่อวงศ์ : Cactaceae

ประโยชน์ : ปลูกเป็นไม้ประดับ ปัจจุบันคนทำงานที่นั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆเป็นประจำมักมีต้นกระบองเพชรตั้งประดับอยู่ใกล้ๆ เพราะเชื่อว่ากระบองเพชรจะช่วยดูดรังสีจากเครื่องคอมพิวเตอร์ได้

ต้นไม้สัญลักษณ์ : กระบองเพชรเป็นต้นไม้ที่มีหนามแหลมคม แข็งแรง ทนทาน คนไทยโบราณมีความเชื่อว่าหากปลูกกระบองเพชรไว้ตามแนวรั้วบ้านจะช่วยป้องกันอันตรายต่างๆ และเป็นที่น่ากลัวน่าเกรงขามของศัตรู หากปลูกกระบองเพชรแล้วออกดอกเมื่อใด จะทำให้เกิดโชคลาภแก่ผู้ปลูกและคนที่อยู่อาศัยในบ้าน กระบองเพชรจึงถือเป็นไม้เสี่ยงทายอีกต้นหนึ่งที่นิยมปลูกเพื่อความเป็นมงคล โดยปลูกทางทิศตะวันตกของบ้าน

การขยายพันธุ์ :โดยการปักชำ ใช้เมล็ด และแยกกอ

นิเวศวิทยา : มีถิ่นกำเนิดในทะเลทราย

กระดังงาสงขลา


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Cananga odorata (Lam.) Hook.f.&Thomson var. fruticosa (Craib) corner

ไม้พุ่ม ขนาดเล็ก สูง 1-2 เมตร ลำต้นมีเปลือกสีน้ำตาลและเทา

ใบ : เป็นใบเดี่ยว สีเขียวปลายแหลม ออกสลับกันตามกิ่งก้าน กลีบดอกเรียวยาวบิดเป็นเกลียว เรียงหลายชั้น ชั้นละ 3 กลีบ ปลายกลีบโค้งงอ มีกลีบดอก 6-18 กลีบ

ดอก : หอมสีเหลืองอ่อนอมเขียว ออกดอกตลอดปี

วิธีการปลูกและดูแลรักษา นิยมปลูกกระดังงาสงขลาเป็นไม้ประดับ ชอบแสงแดด จึงควรปลูกกลางแจ้ง น้ำปานกลาง ดูแลรักษาง่าย ไม่ค่อยเป็นโรค เจริญเติบโตได้ดีในดินทั่วไป ควรตัดแต่งกิ่งบ้างเพื่อให้เป็นพุ่มสวยงาม

ชื่อวงศ์ : Annonaceae

ประโยชน์ : ใช้เป็นไม้ประดับ

สรรพคุณทางสมุนไพร : ตำราไทยใช้กระดังงาสงขลาเข้ายาหอมบำรุงหัวใจ ส่วนที่ใช้เป็นยาจะใช้ดอกแก่จัดสีเหลือง รสสุขัม แก้ลม วิงเวียน บำรุงเลือด บำรุงหัวใจ บำรุงธาตุ ลดความดันโลหิต แก้อาการหัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบ ลดไข้ เนื้อไม้รสขมเฝื่อน ใช้ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ เปลือกมีรสฝากเฝื่อน คนอินโดนีเซียใช้เปลือกแก้คัน

ต้นไม้สัญลักษณ์ : คำว่า “กระดัง” คือ การทำให้เกิดเสียงดังไปไกล พ้องกับกระดังงาที่เป็นต้นไม้ที่มีกลิ่นหอมแรงไปไกลและมีคุณประโยชน์มากมาย คนโบราณจึงเชื่อว่า การปลูกกระดังงาไว้ประจำบ้านนอกจากได้ประโยชน์แล้ว ยังทำให้เจ้าของบ้านมีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่ยกย่องของคนทั่วไป

การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดหรือตอนกิ่ง

นิเวศวิทยา : มีถิ่นกำเนิดในจังหวัดสงขลา และพบมากทางภาคใต้ของประเทศไทย