ชื่อทางวิทยาศาสตร์ :
Annona squamosa Linn.
ชื่ออื่น ลาหนัง (ปัตตานี) , หน่อเกล๊ะแซ (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) , มะออจ้า, มะโอจ่า (เงี้ยว-เหนือ) , เตียบ (เขมร),น้อแน้ (ภาคเหนือ), บักเขียบ (อีสาน)
เป็นไม้ยืนต้นทรงพุ่ม มีอายุหลายปี ประเภทไม้เนื้ออ่อน ลำต้นสีเทาอมดำ เปลือกต้นเป็นสมุนไพรรสร้อน
ใบ : โตกว้าง 3-6 ซม. ยาว 7-13 ซม.ผู้ใหญ่หรือโตกว่า แล้วแต่ขนาดและความสมบูรณ์ ใบสีเขียว กลิ่นฉุน ใบรสร้อน เป็นพิษต่อดวงตาของคนและสัตว์
ดอก : สีเหลืองแกมเขียว 6 กลีบ เรียง 2 ชั้น ๆ ละ 3 กลีบ กลีบดอกหนา อวบ สีเขียวอ่อน
ผล : กลมเปลือกมีลักษณะคล้ายรูปทรง 5 เหลี่ยมขรุขระสีเขียว ข้างในมีเนื้อสีขาว เมล็ดสีดำเงาอยู่รวมกันหลายเมล็ด ลักษณะคล้ายหยดน้ำ มีรสร้อนเป็นพิษต่อดวงตา หิด และเหา
ชื่อวงศ์ : Annonaceae
ประโยชน์ : ยอดน้อยหน่าอ่อน สามารถนำไปประกอบอาหารประเภทแกงอ่อม แกงใบน้อยหน่าทำเหมือนแกงใบยอ ผลสุกรับประทานเป็นผลไม้ได้ มีรสหวาน ใบสดและเมล็ดน้อยหน่าใช้ฆ่าเหา และ โรคกลากเกลื้อน รากใช้เป็นยาระบาย ทำให้อาเจียน และแก้พิษงู ถอนพิษเบื่อเมา
สรรพคุณทางสมุนไพร : ใบตำให้แหลกทาแก้กลากเกลื้อน ทั้งใบและเมล็ดมีสารสควาโมซิน (squamocin) และสารแอลคาลอยด์ (alkaloid) ที่มีฤทธิ์ฆ่าแมลง จึงใช้กำจัดเหาได้ โดยนำใบสดและเมล็ดมาบดให้ละเอียด คั้นน้ำ แล้วผสมกับน้ำมันมะพร้าว ใช้ชโลมผม ทิ้งไว้ 1 – 2 ชั่วโมง ระวังอย่าให้เข้าตา เพราะจะทำให้ตาอักเสบ ให้หวีถี่ ๆ (หวีเสนียด) สางออก แล้วสระผมให้สะอาด นอกจากนี้เนื้อในเมล็ดยังใช้ขับพยาธิตัวจี๊ดได้ ในต่างประเทศใช้แก้ไขมาลาเรีย
การขยายพันธุ์ : น้อยหน่าชอบดินร่วน แสงแดดตลอดวัน ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด ติดตา หรือเสียบยอด เมื่อเริ่มติดผลต้องระวังเพลี้ยแป้งเข้าทำลาย เพราะอาจทำให้ผลแกร็น และโรคมัมมี่ที่ทำให้ผลมีสีดำแห้งคาต้น
นิเวศวิทยา : อยู่ในแถบอเมริกากลาง และใต้ แต่จะพบอยู่ทั่วไปในเขตร้อน ในประเทศไทยปลูกมากทางภาคกลางและตะวันออกเฉียงเหนือ