นางจุม

ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Cansjera rheedii J.F. Gmel.

ชื่อวงศ์ : Opiliaceae

เป็นไม้รอเลื้อย อายุหลายปี กิ่งก้านทอดเลื้อยปะปนกับไม้อื่น และเป็นพืชในวงศ์เดียวกับผักหวานป่า

ใบ : รูปไข่หรือรูปใบหอกแกมรูปรีเรียวแหลม ยอดอ่อนมีขนปกคลุม

ดอก : ช่อดอกออกตามซอกใบ ดอกเล็ก สีเหลืองอมเขียว มีวงกลีบรวมเป็นรูประฆัง

ผล : มีเนื้อนุ่ม ภายในมีเมล็ดแข็ง เมื่อสุกมีสีส้ม

ประโยชน์ : ผักชนิดนี้พบวางขายอยู่ในตลาดทุ่งเสลี่ยม ที่อยู่ระหว่างทางไปจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมัดรวมอยู่กับ “บะแตก” แม่ค้าเรียกว่า “นางโจม” ขายกำละ 5 บาท และบอกวิธีการกินว่า นางโจมเป็นผักที่นิยมนำมาทำแกง หรือใส่ร่วมกับแกงแค รสอร่อยมากเหมือนผักหวานป่า และมีให้กินตลอดปี

การขยายพันธุ์ : นางจุมชอบดินร่วนชุ่มชื้น ระบายน้ำดี มีอินทรียวัตถุสูง แสงแดดครึ่งวัน สามารถขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด แต่ชาวบ้านไม่นิยมปลูกกัน เพราะส่วนใหญ่สามารถเก็บหาได้จากป่าธรรมชาติ จึงไม่ค่อยพบเห็นวางขายกันมากนัก

นิเวศวิทยา : มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของเอเชีย พบอยู่ตามป่าเบญจพรรณและป่าดิบชื้นที่ระดับความสูงจากน้ำทะเล 700 เมตรทั่วทุกภาคของไทย

เถาเอ็นอ่อน


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Cryptolepis buchanani Roem.&Schult.

ชื่อวงศ์ : PERIPLOCACEAE

ชื่ออื่น : กวน (ฉาน-แม่ฮ่องสอน) เครือเถาเอ็น (เชียงใหม่) ตีนเป็ดเครือ (ภาคเหนือ) เมื่อย (ภาคกลาง)
นอออหมี (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) หญ้าลิเลน (ปัตตานี) หมอนตีนเป็ด (สุราษฎร์ธานี)

เป็นไม้เลื้อย อายุหลายปี ทุกส่วน มีน้ำยางสีขาว

ใบ : รูปรีแกมขอบขนาน ปลายเรียวแหลม ออกตรงข้ามกัน

ช่อดอกออกที่ซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกเล็ก กลีบดอกสีขาวอมเหลืองอ่อน มี 5 กลีบ ปลายเมล็ดมีขนฟูช่วยในการกระจายพันธุ์

ประโยชน์ : ยอดอ่อนต้มกินกันน้ำพริก อาหารรสจัดต่าง ๆ หรือใส่ในแกงจืด แกงเลียง มีให้กินตลอดปี

สรรพคุณทางสมุนไพร : ทั้งต้นนำมานึ่งทำเป็นลูกประคบแก้ปวดเมื่อย ทำให้เส้นเอ็นหย่อน แก้กระษัย บำรุงเส้นเอ็น หรืออาการปวดบวมฟกช้ำ กระดูกแตกหัก ในต่างประเทศใช้ลำต้นเป็นส่วนผสมในน้ำมันใส่ผมเพื่อช่วยบำรุงรากผม ป้องกันรังแค เมล็ดช่วยขับลมในลำไส้ แก้ปวดท้อง แน่นจุกเสียด

การขยายพันธุ์ : เถาเอ็นอ่อนชอบดินร่วน ระบายน้ำดี มีแสงแดดตลอดวัน ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดหรือปักชำกิ่ง ควรทำค้างไม้ให้เลื้อยพันหมั่นตัดแต่งทรงพุ่มอยู่เสมอ สามารถปลูกเป็นไม้ริมรั้วหรือเป็นซุ้มไม้ประดับได้

นิเวศวิทยา : พบทั่วทุกภาคในไทย

เถาคัน


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cayratia trifolia (L.) Domin

วงศ์ : VITIDACEAE

เป็นไม้เลื้อยที่มีอายุหลายปี มักพบเลื้อยพันอยู่กับต้นไม้ใหญ่ เถาสีเขียวหรือสีม่วงแดง มีมือเกาะแตกจากข้อใบและแตกแตนงออก

ใบ : มีใบประกอบสามใบย่อย รูปไข่ ก้านใบออกจากจุดเดียวกัน ขอบใบหยัก

ดอก : ช่อดอกออกจากซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกย่อยเล็กสีเขียวหรือสีม่วงแดงเรื่อ

ผล : กลมมีนี้นุ่ม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.8 ซม. เมื่อสุกมีสีดำ ภายในมีเมล็ดแข็ง 2 – 3 เมล็ด

ประโยชน์ : ชาวใต้นิยมบริโภคใบอ่อนเป็นผักสดหรือลวกกินกับน้ำพริก แจ่วหรือใส่ในแกง ส่วนผลอ่อนใส่ในแกงส้มเพื่อเพิ่มรสเปรี้ยว มีในช่วงฤดูร้อนถึงฤดูฝน

สรรพคุณทางสมุนไพร : รากแก้ไข้ แก้กระษัย เถาต้นช่วยขับเสมหะ ขับลม ฟอกเลือด และเล่นยาคุมกำเนิด ใบช่วยดูดหนองฝี แก้ไข้ และรักษาแผลในจมูก

การขยายพันธุ์ : เถาคันเป็นพืชที่แข็งแรงทนทาน เจริญเติบโตได้ในทุกสภาพแวดล้อมมีแสงแดดจัด ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดหรือปักชำกิ่งแก่ สามารถ ปลูกเป็นซุ้มไม้เลื้อยหรือไม้ริมรั้วบ้านได้อย่างดี

นิเวศวิทยา : มีการกระจายพันธุ์แถบตะวันออกของทวีปอเมริกา เป็นวัชพืชที่พบทั่วทุกภาคของไทย

ถั่วคล้า (baybean,Beach bean)


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Canavalia rosea (sw.) DC.

ชือวงศ์ : PIPERACEAE

เป็นไม้เลื้อยที่พบทั่วไปในประเทศเขตร้อนทั่วโลก ในไทยพอตามชายทะเลทางภาคใต้และตะวันออกเฉียงใต้ ในจังหวัดภูเก็ตมักเรียกว่า “ผักบุ้งเล” ส่วนจังหวัดตราดเรียก “ไก่เตี้ย”

ใบ : ประกอบมี 3 ใบย่อย สองใบด้านข้างรูปไข่เบี้ยว ใบกลางขนาดใหญ่

ดอก : ช่อดอกผลิจากซอกใบ ปลายยอดชูตั้งขึ้น ดอกรูปดอกถั่ว สีชมพู ผลิบานในช่วงฤดูฝน

ผล : เป็นฝักหนา ยาว 10 – 12 ซม. ปลายแหลมด้านหนึ่งเป็นสันนูนตามยาว ภายในมีเมล็ดแบน

ประโยชน์ : นิยมเก็บดอกอ่อนและฝักอ่อนกินเป็นผักสดกับน้ำพริก มีมากในฤดูร้อนและฤดูฝน ในต่างประเทศนำเมล็ดมาคั่วกินเป็นของว่าง

สรรพคุณทางสมุนไพร : ในต่างประเทศใช้รักษาการในช่องท้อง

การขยายพันธุ์ : ถั่วคล้าชอบดินร่วนระบายน้ำดี มีแสงแดดตลอดวัน ทนดินเค็ม และทนดินแฉะ ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด

ตานหม่อน


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Vernonia elliptica DC.

ชื่ออื่น : ตานค้อน, ตานหม่น, ซ้าหมักหลอด

วงศ์ : COMPOSITAE

เป็นไม้เลื้อย อายุหลายปี ทุกส่วนมีขนสีเงินปกคลุม

ใบ : รูปไข่กลับ ปลายแหลม ขอบใบหยักฟันเลื่อยห่าง ๆ ใต้ใบมีขนสีเงินปกคลุกหนาแน่น

ดอก : ช่อดอกออกที่ใบรูปไข่กลับ ปลายแหลม ขอบใบหยักฟันเลื่อยห่าง ๆ ใต้ใบมีขนสีเงินปกคลุมหนาแน่น ช่อดอกออกที่ซอกใบปลายยอด ช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม ช่อห้อยโค้งลง ดอกสีขาว

ผล : เป็นผลแห้ง

เมล็ด : มีขนที่ปลาย

ประโยชน์ : ยอดอ่อนกินเป็นผักกับน้ำพริกหรืออาหารรสจัดต่าง ๆ สรฝาดมันเก็บกินได้ตลอดปี

สรรพคุณทางสมุนไพร : ตามตำรายาไทยใช้ราก ดอก ใบ แก้โรคตานซางในเด็ก ช่วยรักษาลำไส้ และฆ่าพยาธิ ชาวนามักใช้ใบตำพอกตีนควายเพื่อช่วยรักษาแผล

การขยายพันธุ์ : ตาลหม่อนชอบดินร่วน ระบายน้ำดี มีแสงแดดตลอดวัน โตเร็วแข็งแรงทนทาน ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดหรือปักชำกิ่ง ควยทำซุ้มให้เลื้อยพัน ปลูกเป็นไม้ประดับในบ้านได้ดี

นิเวศวิทยา : พบทั่วไปตามป่าเบญจพรรณและที่รกร้างทั่วทุกภาค

อัญชัน (Asian pigeonwings, Blue Pea, Butterfly Pea)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Clitoria ternatea L.

เป็นไม้เลื้อย อายุหลายปี

ใบ : ประกอบแบบขนนกปลายคี่ ใบรูปรี

ดอก : ช่อดอกออกที่ซอกใบใกล้ปลายยอด มีทั้งดอกสีม่วง สีฟ้า และสีขาว ดอกรูปดอกถั่ว มีทั้งกลีบดอกชั้นเดียวและดอกซ้อน

ฝัก : แบน ขนาดประมาณ 1 ซม. ยาว 8–10 ซม. ภายในมีเมล็ดแบนสีน้ำตาล
ประโยชน์ : นิยมกินยอดและฝักอ่อนเป็นผักสดหรือลวกสุก กินกับน้ำพริก รสมัน มีให้กินมากในช่วงฤดูฝน ดอกสีม่วงใช้เป็นสีธรรมชาติใส่ขนมต่าง ๆ

วงศ์ : LEGUMINOSAE-PAPILIONOIDEAE

สรรพคุณทางสมุนไพร : รากช่วยขับเสมหะ เป็นยาระบายอ่อน ๆ หรือนำมาฝนผสมน้ำสะอาดใช้หยอดตาแก้ตาอักเสบ หรือใช้เป็นยาแก้ปวดฟัน เมล็ดเป็นยาระบายอ่อน ๆ

การขยายพันธุ์ : อัญชันปลูกเลี้ยงง่าย เพียงนำเมล็ดมาหว่านในดิน รดน้ำให้ชุ่มชื้น อีก 7–10 วัน เมล็ดจะเริ่มงอก ไม่นานก็ผลิดอกได้ ควรปลูกในที่มีแสงแดดตลอดวัน แล้วทำค้างไม้ให้เลื้อยและตัดแต่งทรงพุ่มอยู่เสมอ

เสาวรส (Passion fruit)

ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Passiflora edulis Sims

ชื่ออื่น (ภาษาอังกฤษ) : Jamaica honey-suckle, Yellow granadilla

เป็นไม้เถาเลื้อย กระจายพันธุ์ทางตะวันออกของบราซิล เปรู เวเนซุเอลา หมู่เกาะอินดีสตะวันตก และตรินิแดดและโตเบโก พบปลูกทุกภาคในไทย

ใบ : รูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายมนมีติ่งแหลม แผ่นใบหนาเป็นมันมีหูใบเป็นเส้น

ดอก : ออกที่ซอกใบใกล้ปลายยอด ขนาดประมาณ 7 ซม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกด้านในสีแดงเรื่อ ด้านนอกสีเขียว เกสรเพศผู้สีม่วง ปลายขาว

ผล : ค่อนข้างกลม ขนาดประมาณ 8 ซม. เมื่อสุกมีสีเหลืองหรือสีม่วง เปลือกแข็ง ภายในมีเมล็ด

เมล็ด : แบนสีดำจำนวนมากห่อหุ้มด้วยเยื่อเมือกสีเหลือง

วิธีบริโภค : ยอดอ่อนนำมาต้มกินกับน้ำพริก ลาบ หรืออาหารรสจัดต่าง ๆ มีให้กินตลอดปี ส่วนผลสุกกินเป็นผลไม้สด ๆ เพียงโรยน้ำตาลแล้วตักเนื้อและเมล็ดกินได้ทันที หรือคั้นน้ำทำเครื่องดื่ม แยม หรือไอศกรีม มีรสเปรี้ยวมาก ให้วิตามินเอและวิตามินซีสูง

ประโยชน์ :  นำมารับประทานได้

สรรพคุณทางสมุนไพร : น้ำเสาวรสช่วยให้หลับสบาย ลดไขมันในเส้นเลือด และแก้โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ มีการวิจัยพบว่า เมล็ดมี albumin homologous protein ที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราได้

การขยายพันธุ์ : เสาวรสชอบดินร่วน ระบายน้ำดี มีแสงแดดตลอดวัน ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดหรือปักชำกิ่ง ควรทำซุ้มไม้ให้เลื้อยพัน หมั่นตัดแต่งทรงพุ่มอยู่เสมอ สามารถปลูกเป็นไม้ประดับริมรั้วได้ดี

ฟัก (winter melon)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Benincasa hispida (Thunb.) Cogn.

เป็นไม้เลื้อย มีลำต้นเลื้อยพัน ทุกส่วนมีขนหยาบปกคลุม มีมือเกาะแตกแขนง 2 – 3 แขนง

ใบ : หยักเว้าเป็นแฉก เรียงสลับกัน

ดอก : แยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ดอกบานขนาด 6 – 12 ซม. สีเหลือง ดอกเพศผู้มีอับเรณูสีเหลือง ก้านดอกยาว ดอกเพศเมียมีรังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ก้านดอกสั้น

ผล : ทรงกระบอก ยาวได้ถึง 50 ซม. เมื่ออ่อนมีขนอ่อนปกคลุม พอแก่ผลแข็ง มีนวลสีขาวปกคลุม ภายในมีเมล็ดรูปไข่แบนจำนวนมาก

ชื่อวงศ์ : Cucurbitaceae

ประโยชน์ : ยอดอ่อนใช้ทำแกงเลียง แกงส้ม ผลใส่ในแกงเผ็ด มีเนื้อนุ่มเคี้ยวง่าย เหมาะกับผู้สูงอายุ ให้คุณค่าทางอาหารพอเพียง นิยมใช้ประกอบอาหารจีน ทั้งแกงจืด เป็ดตุ๋น ไก่ตุ๋น ผัดเผ็ดต่าง ๆ เพราะเชื่อว่าเป็นยาเย็น แก้ร้อนใน กระหายน้ำ และช่วยลดไข้ได้ดี

สรรพคุณทางสมุนไพร : รากต้มน้ำดื่มเป็นยาลดไข้ แก้กระหายน้ำ และถอนพิษ ใบตำพอกแก้ฟกช้ำบวมเนื่องจากแมลงกัดต่อย ผลต้มใส่น้ำตาลกรวดดื่มเป็นยาเย็น แก้ร้อนใน บำรุงร่างกาย เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ โดยเฉพาะฟักหอม (ผลกลม) จะมีกลิ่นหอมชื่นใจ เมล็ดเป็นยาระบาย ช่วยถ่ายพยาธิ ลดไข้ แก้ปวด บวมอักเสบ รักษาริดสีดวงทวาร ลำไส้อักเสบ ทางเดินปัสสาวะและไตอักเสบ บำรุงผิว

การขยายพันธุ์ : ฟักชอบดินร่วน ระบายน้ำดี มีอินทรียวัตถุสูง แสงแดดตลอดวัน ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด ปฏิบัติเช่นเดียวกับการปลูกฟักทองและแตงโม แต่ใช้พื้นที่น้อยกว่า เพราะการปลูกฟักจำเป็นต้องทำค้างให้ต้นเลื้อยพันจึงจะให้ผลมาก

นิเวศวิทยา : มีถิ่นกำเนิดในเกาะชวา ปลูกมากในเอเชีย

ฟักข้าว (Spiny Bitter Gourd, Sweet Gourd, Cochinchin Gourd)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Momordica cochinchinensis (Lour.) Spreng.

เป็นไม้เลื้อย อายุหลายปี เถาขนาดใหญ่และมีเนื้อไม้

ใบ : รูปหัวใจ ขอบใบหยักเว้าลึกเป็นสามพู ปลายหยักแหลม โคนใบติดกับก้านใบมีต่อมสีเขียว 2 ต่อม มีมือจับออกจากซอกก้านใบ

ช่อ : ดอกออกที่ซอกใบปลายยอด เป็นดอกแยกเพศอยู่ต่างต้นกัน ดอกสีเหลือง โคนกลีบมีแต้มสีน้ำตาลคล้ำ ดอกบานขนาด 8 – 10 ซม. ใบประดับรูปไข่มีขนยาวปกคลุมหนาแน่น ดอกเพศเมียมีรังไข่รูปรีและปกคลุมด้วยหนาม

ผล : รูปไข่ ขนาด 7 – 10 ซม. มีหนามแข็งปกคลุมรอบ เมื่อสุกมีเนื้อนุ่ม สีส้มถึงแดงสด เนื้อในสีแดงอมส้ม เมล็ดรูปไข่แบน

ชื่อวงศ์ : Cucurbitaceae

ประโยชน์ : นำยอดและผลอ่อนมาลวก ต้ม นึ่งจิ้มน้ำพริก หรือใส่ในแกงแค แกงส้ม แกงเลียง หรือนำผลมาฝานเป็นชิ้น ต้มกับกะทิ กินกับน้ำพริก รสขม มีให้กินตลอดปี ให้ฟอสฟอรัส วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินซี และโปรตีนสูง ชาวลาวเรียกว่า “เก๊ก” นิยมนำเนื้อสีแดงในผลสุกมาผสมคลุกเคล้ากับข้าวเหนียว ใส่เกลือเล็กน้อย แล้วนำไปหุง ข้าวเหนียวจะมีสีแดงอมส้มสวยสด กินกับขนมต่าง ๆ ได้อย่างเพลิดเพลิน

สรรพคุณทางสมุนไพร : รากและใบใช้ถอนพิษไข้ หรือนำรากมาแช่น้ำ ใช้สระผม แก้ผมร่วงและฆ่าเหา ใบใช้เป็นส่วนผสมในยาเขียว หรือนำมาตำพอกแก้ปวดหลัง ปวดกระดูก เมล็ดช่วยบำรุงปอด แก้ไอ ขับปัสสาวะ แก้หูด วัณโรค และริดสีดวงทวาร

การขยายพันธุ์ : ฟักข้าวชอบดินร่วน ระบายน้ำดี มีแสงแดดจัด ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดหรือปักชำกิ่งแก่ ต่อมาจึงแตกรากและเจริญเติบโตต่อไปได้ ระยะแรกควรปลูกในที่ร่ม เมื่อต้นตั้งตัวได้จึงย้ายปลูกลงดิน ควรทำค้างที่แข็งแรงให้เลื้อยพัน เนื่องจากเถามีขนาดใหญ่ และควรปลูกมากกว่าหนึ่งต้น เพื่อให้ได้ทั้งต้นเพศผู้และเพศเมีย หมั่นเก็บยอดกินอยู่เสมอ จะได้ทั้งยอดและผลกินอย่างแน่นอน

นิเวศวิทยา : กระจายพันธุ์ในประเทศเขตร้อน พบตามป่าเบญจพรรณทั่วทุกภาคของไทย

บวบ (Angled Gourd, Angled Loofah)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์Luffa acutangula Roxb.

เป็นไม้เลื้อย อายุสั้น ทุกส่วนของต้นมีขนยาวปกคลุม

บวบเป็นผักกินผลอ่อน และเป็นที่นิยมกันมากในเมืองไทย เนื่องด้วยรสชาติอร่อย การปลูกที่ไม่ยากและหาซื้อได้ง่ายนั่นเอง สำหรับบวบที่มีขายในตลาดมี 3 ชนิด มีลักษณะและวิธีการบริโภคดังนี้

  1. บวบเหลี่ยม [Luffa acutangula (L.) Roxb. : ชื่อสามัญ Angled Loofah] มีการกระจายพันธุ์ในประเทศเขตร้อน ดอกสีเหลืองสดใส กินได้ทั้งดอกและผลอ่อน โดยนำมาต้มจิ้มน้ำพริก หรือปรุงอาหาร เช่น แกงเลียง แกงส้ม หรือผัดร่วมกับผักชนิดอื่น ๆ รสหวาน แต่บางคนกลับไม่ประทับในรสชาติของบวบเหลี่ยม เพราะกินแล้วขม ซึ่งผู้ใหญ่บางท่านก็ว่าเป็นเพราะโดนแตนเจาะผล วิธีเลือก ควรเลือกผลไม่ใหญ่เกินไปนัก เปลือกสีเขียวอ่อน ไม่แข็งมาก มีเหลี่ยมตื้น แล้วปอกเปลือกบริเวณที่เป็นสันเหลี่ยมออก แต่ถ้าผลอ่อนมากไม่ต้องปอกสันออก บางคนเชื่อว่าผู้มีไข้ตัวร้อนไม่ควรกิน
  2. บวบหอม [Luffa cylindrical (L.) M. Roem. : ชื่อสามัญ Dish-cloth Gourd หรือ Sponge Gourd มีการกระจายพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลียตอนเหนือ และตาฮิติ ดอกสีเหลืองสดเช่นกัน นิยมนำยอดและช่อดอกอ่อนมาลวกหรือต้มจิ้มน้ำพริก ใส่ในแกงเลียงหรือแกงส้ม ผลอ่อนผัดกับหมูหรือกุ้งสด มีกลิ่นหอมชวนกิน รสหวานเล็กน้อยและมีเนื้อนุ่ม บางคนจึงเรียกว่า “บวบหวาน” มีใยอาหารมาก ให้แคลอรีต่ำ และมีชาโปนิน (sapoonin) สารเมือกที่ช่วยให้ถ่ายคล่อง วิธีเลือก ควรเลือกผลที่มีผิวสดเต่ง ปลายผลและกลีบเลี้ยงไม่หักหรือช้ำ หรือมีกลีบดอกแห้งติดอยู่ ชาวจีนเชื่อว่าบวบช่วยรักษาโรคคางทูมได้ โดยนำผลบวบมาเผาให้เป็นถ่าน แล้วบดผสมกับน้ำ ทาบริเวณที่เกิดอาการ นอกจากนี้ผลบวบแก่ที่แห้งที่เรียกว่า “รังบวบ” ยังใช้ทำความสะอาดร่างกายหรือล้างถ้วยชามได้
  3. บวบงู (Trichosanthes anguina L : ชื่อสามัญ Snake Cucumber หรือ Snake Gourd) มีการกระจายพันธุ์ในอินเดียถึงปากีสถาน ดอกสีขาว ขอบกลีบเป็นครุย นิยมกินผลอ่อนเป็นผักสด หรือต้มให้สุกกินกับน้ำพริกหรืออาหารรสจัดต่าง ๆ บ้างก็ใส่ในแกงส้ม แกงเลียง ถ้าไม่ชอบเมือกในเนื้อ ให้ทาเกลือที่ผิวผลก่อนนำมาปรุงอาหาร จะช่วยลดเมือกได้ ด้วยผลสีเขียวเป็นลายกระ เรียว บิดคล้ายงู และมีรสขมเล็กน้อย จึงไม่เป็นที่นิยมเท่าสองชนิดแรก พบปลูกบ้างตามบ้านเรือนเท่านั้น บางท้องถิ่นก็เรียกว่าบวบงูเขี้ยวหรือบวบงูลาย

ใบ : หยักเว้าเป็นพู

ดอก : มีดอกแยกเพศอยู่ร่วมต้นกัน

ผล : ยาวรูปทรงกระบอก ทั้งอ้วนป้อมและแคบเล็ก

ชื่อวงศ์ : CUCURBITACEAE

ประโยชน์ : บวบเป็นที่นิยมกันมากทั้งไทย อินเดีย และจีน ในอดีตนิยมใส่ในแกงเลียงให้หญิงหลังคลอดบุตรกิน เพราะเชื่อว่าจะช่วยเรียกน้ำนมได้ดี บางคนก็นำบวบมาปอกเปลือกหั่นเป็นชิ้น ต้มกับน้ำตาลปิ๊บ พอประมาณ เมื่อเดือดก็ยกลง ดื่มน้ำขณะอุ่น ๆ จะช่วยแก้เผ็ดได้ดี

การขยายพันธุ์ : บวบทั้งสามชนิดชอบดินร่วน ระบายน้ำดี มีอินทรียวัตถุสูง แสงแดดตลอดวัน ขยายพันธุ์โดยนำเมล็ดหว่านลงในดิน อีก 7 – 10 วัน เมล็ดจะงอก ควรเตรียมค้างไม้ให้ต้นเลื้อย อย่าให้มีแมลงมากันกินยอดหรือดูดน้ำเลี้ยง ไม่นานดอกเพศผู้จะเริ่มผลิบาน จากนั้นดอกเพศเมียจะทยอยบานเรื่อย ๆ และได้กินผลในไม่ช้า บางท่านจะผูกเชือกที่ปลายผลขณะกำลังเจริญ ห้อยด้วยหิน เพื่อถ่วงให้ผลตรงสวยงาม