ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Amorphophallus spp.
ชื่อวงศ์ : ARACEAE
เป็นไม้ล้มลุก อายุหลายปี มีลำต้นใต้ดินขนาดใหญ่ทำหน้าที่สะสมอาหาร ลำต้นส่วนเหนือดินอวบน้ำ อีกชนิดหนึ่งเรียกว่า บุกเนื้อทราย หรือบุกไข่ (A. sp.)
ใบ : ชูขึ้น หยักเว้าเป็นแฉกลึก ก้านใบมีลายด่างสีเขียวคล้ำหรือสีขาว
ดอก : ช่อดอกผลิก่อนออกใบในฤดูร้อน เมื่อดอกโรยจึงผลิใบ พอถึงฤดูหนาวใบจะเริ่มเหี่ยวและพักตัว
ประโยชน์ : หลายคนรู้จักบุกในนามของอาหารเพื่อสุขภาพที่อุดมไปด้วยกลูโคแมนแนน (glucomannan) ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกาย ชาวอีสานก็รู้จักนำมากินด้วยวิธีพื้นบ้านเช่นกัน บุกที่นิยมนำมากินกันมี 2 ชนิด คือ บุกหูช้าง หรือบุกโคราช (A. koratensis Gagnep.) นิยมกินก้านใบอ่อนที่มีลายและเริ่มโผล่จากดินในฤดูฝน โดยลอกเปลือกออกนำมาต้มจิ้มน้ำพริกหรือใส่ในแกงต่าง ๆ ส่วนหัวใต้ดินต้องกินในฤดูหนาว โดยนำมาหั่นเป็นชิ้นพอคำ ล้างให้สะอาดเพื่อไม่ให้คัน แล้วใส่ในแกงที่มีรสเปรี้ยวเพื่อทำลายแคลเซียมออกชาเลตในหัว หรือนำมาทำขนมแกงบวดก็อร่อย
วิธีขยายพันธุ์ : บุกชอบดินร่วน ระบายน้ำได้ มีแสงแดดรำไร ขยายพันธุ์ด้วยการแยกหัวมาปลูกในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝน ส่วนในฤดูหนาวมักพักตัว ก็ขุดหัวมาประกอบอาหารได้
นิเวศวิทยา : เป็นบุกที่พบเฉพาะในป่าเบญจพรรณแถบตะวันตกของไทยเท่านั้น ซึ่งแปลกกว่าชนิดอื่นคือ บนแผ่นใบจะมีหัวเล็ก ๆ ที่สามารถนำมาขยายพันธุ์ต่อได้ และยังมีกลูโคแมนแนนมากกว่าชนิดอื่น ๆ