ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Bambusa sp.
ไม้ยืนต้น ขึ้นเป็นกอหนาแน่น มีขนาดเล็กถึงใหญ่ สูง 3-10 เมตร ลำต้นแตกเป็นพุ่มกอ มีประมาณ 20-25 ต้น ลำต้นเป็นข้อปล้อง ข้างในกลวง ผิวเกลี้ยงเป้นมันแข็ง สีเขียวหรือเหลืองแถบเขียว แตกต่างกันไปตามสายพันธุ์
ใบ : เป็นใบเดี่ยวยาวแคบคล้ายรูปหอก ขอบใบเรียบสีเขียว มีขนอ่อนๆทั่วผิวใบ ออกเป็นแผงตามปลายกิ่ง
ดอก : ออกเป็นช่อที่ปลายยอดหรือข้อปล้อง
ผล : มีลักษณะคล้ายเมล็ดข้าวสาร
หน่อ : มีขนาดใหญ่ มีกาบสีเหลืองห่อหุ้ม มีขนที่หน่อเป็นสีน้ำตาล
วิธีการปลูกและดูแลรักษา : ในธรรมชาติมักพบไผ่เจริญตามป่าและเขาสูงๆ ชอบดินร่วนซุย แสงแดดจัดถึงครึ่งวัน ปัจจุบันนิยมปลูกตามแนวรั้ว ริมกำแพงบ้าน หรือปลูกในกระถางสูง ต้องการน้ำปานกลาง ทนต่อสภาพธรรมชาติได้ดี จึงไม่พบปัญหาเรื่องโรค ที่ใดมีต้นไผ่ขึ้นหนาแน่นแสดงให้เห็นว่าที่นั้นมีความอุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่าจะพากันมากินดินบริเวณป่าไผ่เพราะมีแร่ธาตุสูง
ชื่อวงศ์ : GRAMINEAE (POACEAE)
ประโยชน์ : ไผ่ที่นิยมนำมาทำอาหารได้แก่ ไผ่ตง ไผ่หวาน (หน่อไม้ไผ่หวาน) ไผ่รวก แต่หน่อไม้ทุกชนิดมีแคลเซียมออกซาเลตสูง จึงไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็ง นิ่ว โรคไต และโรคผิวหนัง นอกจากทำอาหารได้แล้ว ส่วนต่างๆของลำต้นยังใช้ประโยชน์ได้มากมาย เช่น ทำเครื่องจักสาน ลำต้นใช้ทำข้าวหลาม หรือกระบอกใส่น้ำ กระบอกบรรจุน้ำมันเป็นตะเกียง ทำก้านธูป ดอกไม้ไฟ พลุ ตะไล ไฟพะเนียง สร้างบ้านเรือน สะพาน แคร่ เครื่องมือทางการเกษตร ไม้คาน อุปกรณ์ของใช้ในครัวเรือน ของประดับตกแต่งบ้าน และเครื่องดนตรีบางชนิด เช่น ขลุ่ย อังกะลุง เป็นต้น ในสมัยโบราณไม้ไผ่เหลาเกลาให้คนยังใช้เป็นมีดตัดสายสะดือเด็กเกิดใหม่อีกด้วย
สรรพคุณทางสมุนไพร : ใบไผ่สีสุก รสขื่นเฝื่อน ใช้แก้มดลูกอักเสบ ขับปัสสาวะ ฟอกโลหิต ตาไผ่ นำมาสุมไฟให้เป็นถ่าน รับประทานแก้ฝีหนองภายใน แก้ร้อนในกระหายน้ำ พิษไข้ ราก ต้มน้ำดื่ม ใช้ขับปัสสาวะ ขับนิ่ว แก้ไตพิการ แก้ฝีหนองในร่างกาย
ต้นไม้สัญลักษณ์ : ไผ่เป็นต้นไม้ที่พบได้ทั่วโลก มีหลายสายพันธุ์ ชาวจีนนิยมปลูกและนำมาใช้ประโยชน์อย่างมากมาย จนกลายเป็นสัญลัษณ์ของประเทศ และมีชื่อเรียกขานว่า “ประเทศหลังม่านไม้ไผ่” ชาวจีนถือว่าเป็นต้นไม้ของนักปราชญ์ เพราะลำต้นไผ่เป็นข้อแข็งแกร่ง คงทน ภาษาจีนเรียก เจี๊ย หมายถึง คนมีข้อ คือ มีหลักการไม่ลู่ตามลมนั่นเอง ข้างในต้นไผ่จะกลวง คนจีนเปรียบถึงความใจกว้าง ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น และชอบหาความรู้เพิ่มเติม ใบสีเขียวของไผ่เขียวทนได้ทุกฤดู จึงเปรียบเป็นความเข้มแข็ง แข็งแรง ทนทานได้ทุกสถานการณ์ เป็นเหตุผลให้เหล่าเสนาธิการหรือกองทัพจีนนิยมกลัดเข็มกลัดรูปข้อไผ่บนหน้าอกเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความมีปัญญา จงรักภักดี กตัญญู ซื่อสัตย์ และเข้มแข็งอดทน นอกจากนี้ลำต้นไผ่บางชนิดก็มีลวดลาย
ซึ่งชาวจีนเชื่อว่าลำข้อที่มีลายนี้เกิดจากน้ำตาของพระมเหสีสององค์ซึ่งร่ำไห้เสียใจที่ฮ่องเต้ซุนในสมัยโบราณสิ้นพระชนม์ แล้วน้ำตาก็กระเด็นมาติดที่ข้อไผ่จนเกิดเป็นลาย กลายเป็นนิทานปรัมปราที่เล่าสืบต่กันมา คนจีนจึงนิยมปลูกไผ่ไว้ในบ้าน เพราะเชื่อว่าช่วยเสริมมงคลให้คนในบ้านมีปัญญาเลิศ มีเหตุล มุ่งมั่น ตั้งใจจริง ซื่อตรง เอื้ออารี กตัญญูรู้คุณ ไผ่ยังถือเป็นต้นไม้มงคลและเกี่ยวข้องในพุทธศาสนาอีกด้วย เพราะคำว่า “เวฬุ” แปลว่า ไผ่ เวฬุวนารามคือพระอารามแห่งแรกของพระพุทธศาสนา ซึ่งพระเจ้าพิมพิสารเป็นผู้สร้างและน้อมถวายแด่พระพุทธเจ้า ต่อมาได้มีพระภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ 1,250 รูป มาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่อารามแห่งนี้พร้อมกันโดยมิได้นัดหมายในคืนวันเพ็ญ เดือน3 พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ในวันนั้น ซึ่งก็คือวันมาฆบูชา
คนไทยโบราณถือว่าไผ่เป็นไม้มงคลเพราะลำต้นของไผ่แตกกิ่งก้านตรงและเรียบ ทั้งมีความแข็งแรง สามารถใช้ในงานก่อสร้าง เช่น ทำพื้น เสาเรือนได้ ขณะเดียวกันก็ยังมีความโค้งอ่อนที่สามารถดัด มัด สาน ใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นได้อีกมากมาย จึงมีความเชื่อว่าหากปลูกไผ่ โดยเฉพาะไผ่สีสุก ไว้ประจำบ้านทางทิศตะวันออก จำทำให้คนในบ้านมีจิตใจดี ไม่คดโกง เข้มแข็ง อดทน และอ่อนโยนเหมือนไผ่ อีกประการหนึ่งคำว่า “สีสุก” ยังเป็นมงคล หมายถึง ความเจริญ ความสุขกายสบายใจ ฉะนั้นบ้านใดปลูกไผ่ คนในบ้านก็จะร่ำรวยมั่งมีศรีสุขดังชื่อไผ่สุกนั่นเอง ไผ่สีสุกยังเป็นหนึ่งในไม้มงคล 9 ชนิด ในการประกอบพิธีกรรมหรือวางศิลาฤกษ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลในการก่อสร้างที่ที่มีความสำคัญต่อชาติบ้านเมือง เช่น โบสถ์ วิหาร กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ อีกด้วย ในบางท้องถิ่นของไทยเชื่อว่า หากปลูกไผ่ ถ้าจะให้ดีต้องให้คนสูงอายุหรือคนแก่ปลูก ห้ามคนหนุ่มสาวปลูก เพราะเป็นลางหรือแช่งให้อายุสั้นกว่าเวลาอันสมควร
โดยธรรมชาติของต้นไผ่มักไม่ค่อยมีใครเห็นดอก เพราะไผ่จะออกดอกครั้งเดียวเมื่อต้นมีอายุราว 30 ปี และเมื่อดอกแห้งต้นก็จะตายตาม เรียกว่า “ไผ่ตายขุย” ฉะนั้นเมื่อบ้านใดไผ่ออกดอกจะถือเป็นลางร้ายยิ่งนัก ต้องรีบทำบุญสะเดาะเคราะห์โดยเร็ว
การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อหรือแยกกอที่แทงออกมาจากโคนต้น ใช้เมล็ด หรือปักชำ