อินทนิลน้ำ, ตะแบกดำ, อินทนิล (Queen’s Flower, Queen’s Crepe Myrtle)


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Legerstroemia speciosa (L.) Pers.

ไม่ต้นผลัดใบ ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 5-20 เมตร เปลือกต้นสีเทาหรือน้ำตาลอ่อน เปลือกลอกออกเป็นแผ่นบางคล้ายกระดาษ

ใบ : เดี่ยว เรียงตรงข้ามหรือเกือบตรงข้าม ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลมแผ่นใบเกลี้ยง ใบร่วงสีเหลือง ส้มหรือแดง

ดอก : ออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ดอกขนาดใหญ่กลีบดอกยับย่น สีม่วงสด ม่วงอมชมพู ปลายดอกตูมจะมีตุ่มกลมเล็ก ๆ ติดตรงกลาง ออกดอกช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน

ผล : ผลแห้งแตกกลางพู ผลแก่สีน้ำตาลแดง

คุณค่าทางภูมิสถาปัตยกรรม : เรือนยอดแผ่กว้างแบบรูปร่มและคลุมส่วนของลำต้นเกือบหมด นิยมปลูกเป็นไม้ประดับและไม่ให้ร่มตามบ้าน สวนสาธารณะ ริมสนามและริมถนน ให้ดอกสวยงาม

ชื่อวงศ์ : Lythraceae

ประโยชน์ : เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้าง

สรรพคุณทางสมุนไพร : ใบ รสจืดขมฝาดเย็น ต้มหรือชงน้ำร้อนดื่ม แก้โรคเบาหวาน ขับปัสสาวะ เป็นยาลดความดัน, เปลือก รสฝาดขม แก้ไข้ แก้ท้องเสีย, เมล็ด รสขม แก้โรคเบาหวาน แก้นอนไม่หลับ, แก่น รสขม ต้มดื่มแก้โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้โรคเบาหวาน, ราก รสขม แก้แผลในปาก ในคอ เป็นยาสมานท้อง

ต้นไม้สัญลักษณ์ : ต้นไม้ประจำจังหวัดสกลนคร

การขยายพันธุ์ : เพาเมล็ด

นิเวศวิทยา : มักขึ้นตามที่ราบลุ่มริมน้ำ ป่าผสมผลัดใบชื้น และป่าดิบชื้น ชอบขึ้นในพื้นที่แสงแดดจัด สภาพดินร่วน ระบายน้ำดี